เกษตรกระบี่ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง “หนอนปลอกเล็ก” ระบาดในสวนปาล์มน้ำมัน

นายชำนาญ นุ่นดำ เกษตรจังหวัดกระบี่ เตือนเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันให้เฝ้าระวังหนอนปลอกเล็กทำลายปาล์มน้ำมันในช่วงนี้ เนื่องจากสภาพอากาศมีความเหมาะสม ลักษณะการทำลายของหนอนปลอกเล็กจะแทะผิว ทำให้ใบแห้งเป็นสีน้ำตาล และกัดทะลุใบเป็นรูและขาดแหว่ง ถ้ารุนแรงจะเห็นทางใบทั้งต้นเป็นสีน้ำตาลแห้ง ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตและผลผลิตลดลง

ไข่ สีครีมรูปทรงกลมอยู่เป็นกลุ่ม วางไข่ในซากดักแด้ของตัวเมีย และอยู่ภายในปลอกหุ้มอีกชั้นหนึ่ง หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ มีลำตัวสีน้ำตาลไหม้ หัวสีดำ ขนาดความยาวประมาณ 0.8-1.0 มิลลิเมตร เวลาหนอนเคลื่อนไหวจะยกส่วนท้องขึ้นและแทะผิวใบผสมกับใยที่ออกมาจากปาก สร้างปลอกห่อหุ้มตัวเอง โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

ขนาดปลอกมีความยาวตั้งแต่ 1.1-1.2 มิลลิเมตร ลักษณะปลอกมีรูเปิด 2 ทาง ส่วนหัวของตัวหนอนจะโผล่ออกมาทางช่องเปิดส่วนฐานปลอก ปลายปลอกเรียวแหลมมีรูเปิดไว้เพื่อให้หนอนขับถ่ายมูลออกมา หนอนวัยที่ 3 ส่วนหัวและลำตัวมีสีน้ำตาล หนอนจะสร้างปลอกหุ้มใหญ่ขึ้น และเริ่มนำเศษชิ้นส่วนของใบพืชแห้งชิ้นเล็กๆ ปะติดกับปลอกหุ้มด้วย ทำให้ผิวปลอกเริ่มขรุขระ หนอนวัย 1-4 กินอาหารแบบแทะผิวใบ หนอนวัยที่ 5- 6 จะกัดกินทั้งใบ เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่จะสร้างปลอกหุ้มตัวเอง มีขนาดยาวตั้งแต่ 6.8-10.0 มิลลิเมตร ช่องเปิดฐานปลอกมักพบคราบกะโหลกขนาดต่างๆ ติดอยู่

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด การแพร่กระจายของหนอนปลอกอาศัยแรงลมพัดพาหนอนปลอกขนาดเล็กซึ่งชอบสาวใยปล่อยตัว ห้อยลงมาแกว่งไกวไปตามลม จากต้นหนึ่งไปสู่ต้นอื่นๆ หนอนปลอกมักจะระบาดในปีที่มีฤดูร้อนยาวนาน

การป้องกันกำจัด 

หากพบมีการระบาดไม่มากให้ตัดทางใบปาล์มน้ำมันที่หนอนกินมาเผาทำลาย หรือใช้ไฟสุมเพื่อรมควันทำลายตัวหนอน ใช้กับดักแสงไฟล่อเพศผู้มาทำลายพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรีย ใช้แตนเบียนดักแด้ ใช้สารเคมีไซเพอร์เมทริน (Cypermethin) หรือคาร์บาริล (carbaryl) เพื่อฉีดพ่น อัตราตามคำแนะนำในฉลาก เพื่อควบคุมหนอนปลอกเล็กไม่ให้ระบาดต่อไป

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ โทร. 075-611-649