กรมการข้าว ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการพัฒนาศูนย์บริการ และการบริหารการปลูกข้าวความแม่นยำสูงของนาแปลงใหญ่ต้นแบบ จ.ปทุมธานี

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาศูนย์บริการและการบริหารการปลูกข้าวความแม่นยำสูงของนาแปลงใหญ่ต้นแบบ ณ แปลงนากลุ่มวิสาหกิจเพาะรักกสิกรรม อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายชาตรี ระดมเล็ก ประธานกลุ่มแปลงใหญ่เพาะรักกสิกรรม​ให้การต้อนรับ

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรไทยประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน ภาครัฐจึงมีการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันทำเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อสร้างประสิทธิภาพการผลิต ด้วยระบบบริหารจัดการแบบครบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมข้าว โดยใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) เป็นการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกรสามารถปรับใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ย่อยๆ รวมไปถึงการดูแลให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการไถพรวนดิน การหว่านเมล็ดพืช การให้ปุ๋ย การใช้ยาปราบศัตรูพืช การให้น้ำพืช การเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น การใช้โดรนเพื่อการเกษตร ติดตั้งกล้องมัลติสเปกตรัม (Multispectral Cameras เพื่อหาค่าดัชนีพืชพรรณ (NDVI : Normalized difference vegetation index) การตรวจวัดพื้นที่เพื่อสร้างแผนที่ด้านการเกษตรแบบแม่นยำสูง (High Precision Agriculture Mapping) การใช้อุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจวัดค่าปุ๋ยในดิน การตรวจวัดสภาพอากาศและน้ำแบบ IOT ในการวิเคราะห์และให้ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น

รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า ในการนี้รวมไปถึงการใช้สารอินทรีย์หรือการลดการใช้สารเคมี เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการจัดการด้านเครื่องมือและเครื่องจักรกลสำหรับแปลงนาของเกษตรกร พร้อมใช้ระบบโปรแกรมในการบริหารจัดการงานและข้อมูลภาคการเกษตรขนาดใหญ่ (Big Data) โดยมีการเตรียมและประยุกต์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการดูแลอารักขาพืช การวางแผนบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งระบบและนวัตกรรมเหล่านี้จะถูกใช้ในกลุ่มเกษตรกร ซึ่งอยู่ในส่วนผู้ผลิต หรือต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทาน และการใช้ระบบโปรแกรมในการบริหารจัดการด้านการแปรรูปของกลุ่มผู้แปรรูปคือ กลุ่มโรงสีข้าวหรือกลุ่มกลางน้ำ ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจัดการกับกลุ่มผู้รับซื้อผลผลิต หรือกลุ่มปลายน้ำ รวมเข้าด้วยกันทั้งหมดอย่างครบวงจร เพื่อให้การบริหารจัดการแบบองค์รวมในอุตสาหกรรมข้าวนั้น มีข้อมูลและบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด