“โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ” มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท หนุนเด็กดี สร้างพลเมืองดี ลดความเหลื่อมล้ำ

ตลอดระยะเวลา 33 ปีของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนงาน 4 ด้านหลัก คือ พัฒนาเด็กและเยาวชน ชุมชนและขจัดความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมาย “สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี ชุมชนสิ่งแวดล้อมดี

“โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ” เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน สนองแนวพระราชดําริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาสในถิ่นทุรกันดารให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสนับสนุนการศึกษาแก่นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับหรือเท่าที่มีการเปิดการเรียนการสอน ในโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน (โรงเรียน ตชด.) ให้เยาวชนมีโอกาสศึกษาต่อ พัฒนาตนเองให้เป็นคนดี พึ่งตนเองและกลับไปช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในปี 2546 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของโครงการ มูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการ ร่วมกับ สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนศิษย์เก่าโรงเรียน ตชด. นำความรู้ไปประกอบสัมมาชีพ เป็นคนดี พลเมืองดีชายแดน ซึ่งปัจจุบันการดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 19 แล้ว

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า เป้าหมายของมูลนิธิฯ คือ สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี และชุมชนสิ่งแวดล้อมดี ซึ่งที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษา ดำเนินโครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนศิษย์เก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาทัดเทียมเยาวชนในเมือง เพื่อกลับไปพัฒนาชุมชนในฐานะเป็นพลเมืองดีชายแดน นักเรียนทุนสามารถกลับไปสร้างงานสร้างอาชีพในครัวเรือน ที่ต่อยอดเป็นระบบเศรษฐกิจในชุมชน สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง เกิดการรวมกลุ่มเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนโรบัสต้าป่าช้างขาว บ้านป่าหมาก ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

นับจากปี 2546 การจัดรับนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าโครงการ จะมี 2 ลักษณะ คือ เยาวชนศิษย์เก่าโรงเรียน ตชด. (ภาคกลาง) และเป็นนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ กับเยาวชนศิษย์เก่าโรงเรียน ตชด. (ภาคกลาง) ที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นเยาวชนที่มีความประพฤติดี ผลการเรียนดี มีความเป็นผู้นำ ที่ต้องการศึกษาต่อ แต่ขาดทุนทรัพย์ ให้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือศึกษาต่อสายอาชีพในสถาบันการอาชีวศึกษา จนถึงปัจจุบัน มีเด็กเข้าร่วมโครงการรวม 203 คน สำเร็จการศึกษาแล้ว 97 คน อยู่ระหว่างการศึกษา 81 คน และกลับไปศึกษาหรือประกอบอาชีพภูมิลำเนา 25 คน และพบว่าร้อยละ 24 ของนักเรียนทุนได้กลับไปสร้างงาน สร้างอาชีพในครัวเรือน ขณะที่ร้อยละ 54 สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ขยายผลในการสร้างงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชน

นอกจากนี้ เด็กๆ ในโครงการที่ต้องเข้าพักค้างประจำ ได้เรียนรู้การใช้ชีวิต ที่ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมูลนิธิฯ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยก่อสร้างอาคารพักค้างให้กับเยาวชนและเจ้าหน้าที่ มีตำรวจ ตชด. จากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นผู้ฝึกด้านระเบียบวินัยให้กับเยาวชน มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ทำหน้าที่เป็นเสมือนพ่อแม่ ฝึกอบรมสั่งสอน พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของเยาวชน เป็นการช่วยสร้างทักษะชีวิต ควบคู่กับการฝึกทักษะอาชีพด้านธุรกิจเกษตร อาทิ การเลี้ยงแพะ เลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่พื้นเมือง ปลูกไม้ผลผสมผสานและพืชผักสวนครัว ที่ไม่เพียงใช้ประกอบอาหารสำหรับทุกๆ คนเท่านั้น ยังเรียนรู้วิธีการจัดการรายรับ-รายจ่าย การพัฒนาตนเองจากสิ่งใกล้ตัวเป็นกระบวนการเรียนรู้นำไปต่อยอดได้ในอนาคต

 

ตลอดระยะเวลาที่เยาวชนอยู่ในโครงการ มูลนิธิฯ จะสนับสนุนทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยเด็กเยาวชนจะได้ศึกษาสายสามัญ ณ โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งโรงเรียนมีโควต้าให้กับมูลนิธิฯ ปีละ 10 คน ส่วนเยาวชนที่เลือกศึกษาสายอาชีพ ก็สามารถเลือกเรียนตามความสนใจและความถนัด ทั้งที่วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดเพชรบุรี หรือโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ และหากเยาวชนมีศักยภาพ ผลการเรียนดี และมีความสามารถต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา มูลนิธิฯ ยังสนับสนุนให้การศึกษาต่อไป