กรมการข้าว เร่งผลักดันการผลิตข้าวสาลี พร้อมส่งเสริมเกษตรกรแปลงใหญ่ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมการข้าวได้จัดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยี ปอยข้าวสาลี” เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานของโครงการวิจัย “การพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนาเพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือตอนบน” และเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปธัญพืชเมืองหนาว สู่การนำไปใช้ประโยชน์ทั้งการค้าและเพื่อเพิ่มมูลค่า นำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ตาม BCG model

ซึ่ง BCG model จะเป็นกลไกที่มีศักยภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศได้อย่างทั่วถึง โดยสามารถกระจายในเรื่องของโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดขึ้นที่ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ข้าวสาลีเป็นที่นิยมมาก ตลาดมีความต้องการสูงถึง 382 ตัน ต่อปี และในอนาคตตลาดข้าวสาลีในไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น งานนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือกันของหลายหน่วยงานอย่าง กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสำนักงานการพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก. ที่ต้องการพัฒนาการผลิตข้าวสาลีในประเทศไทยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการของตลาด และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น เพราะเป็นพืชที่ปลูกหลังการทำนาได้ และสามารถแปรรูปได้อย่างหลากหลาย ใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วน จึงมีการเร่งพัฒนาและผลักดันการผลิตข้าวสาลีในประเทศไทย

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว

ด้าน นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ข้าวสาลี ธัญพืชเมืองหนาว มีบทบาทต่อคนในสังคมไทยในปัจจุบันมาก เพราะใช้เวลาในการปรุงน้อย แต่ให้คุณค่าทางอาหารสูง อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้นของข้าวสาลีไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปเป็นน้ำคั้นจากต้นอ่อน แปรรูปเป็นขนมปัง หรือแม้กระทั่งนำช่อข้าวสาลีมาทำช่อดอกไม้ รวมไปถึงการใช้ฟางมาทำหลอดดูดน้ำ หรืออาหารสัตว์

ต้นอ่อนข้าวสาลี

จึงทำให้ข้าวสาลีเป็นที่นิยมทางด้านการตลาดของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาข้าวสาลีและธัญพืชเมืองหนาวเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น นิทรรศการด้านเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นิทรรศการด้านการแปรรูปและผลิตภัณฑ์ นิทรรศการด้านเมล็ดพันธุ์และวิทยาการเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น

การยอมสีเพิ่มมูลค่า

การจัดกิจกรรม “กาดมั่ว คัวฮอม” สาธิต/แสดง/ชิม/จำหน่ายข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธัญพืชเมืองหนาว การจัดทำคู่มือการผลิตธัญพืชเมืองหนาวที่เหมาะสมสำหรับภาคเหนือตอนบน และการจัดทำคู่มือการผลิตและแปรรูปน้ำคั้นต้นอ่อนข้าวสาลี (wheat grass)

นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและเกษตรกรนาแปลงใหญ่ให้เห็นถึงความพร้อมในการรองรับของตลาดข้าวสาลีไทยที่ในอนาคตที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น โดยมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาให้ความร่วมมือ ไม่ใช่เพียงหวังแต่ให้ผลผลิตมีคุณภาพดี แต่เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจอีกด้วย

หากต้องการติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ Facebook “ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง” และ Facebook “Rice News Channel” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 093-312-1881