บราซิล-จีน เปิดศึกทุบส่งออกน้ำตาลดิ่ง

วิกฤตส่งออกน้ำตาลเจอศึก 2 บราซิลจ่อฟ้อง WTO ไทยลุ้นผลหารือรอบ 4-จีนตลาดส่งออกเบอร์ 6 รีดภาษีเซฟการ์ดน้ำตาลนำเข้า 3 ปี บวกภาษีคุมโควตา ดันต้นทุนภาษีพุ่ง 95% จับตาเทรดเดอร์ชะลอซื้อกระทบราคาอ้อยฤดูกาลหน้า

แหล่งข่าวจากวงการอ้อยน้ำตาลเปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 9-16 มิถุนายนนี้ นายสมชาญ หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะนำคณะทำงานเจรจาเดินทางไปพบรัฐบาลบราซิล ที่ประเทศบราซิล เพื่อเข้าร่วมกระบวนการหารือ (Consultation) กรณีข้อพิพาทการอุดหนุนน้ำตาลระหว่างไทยกับบราซิล ครั้งที่ 4

“ประเด็นที่จะหารือครั้งนี้ จะชี้แจงถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงระบบอ้อยน้ำตาล เพื่อยกโควตา ก. โควตา ข. และโควตา ค. รวมถึงการทำงานของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้ระบบน้ำตาลเป็นไปอย่างเสรี และการปรับปรุงกฎหมายภายในของไทยเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หากการหารือครั้งนี้ได้ข้อสรุปที่น่าพอใจอาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณา (Panel) แต่หากยังไม่ได้ข้อสรุปอาจมีการขยายระยะเวลาในการหารือรอบต่อไปก็เป็นได้”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกน้ำตาลในอนาคตยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย หากบราซิลตั้งคณะ Panel และฟ้องไทยจะใช้ระยะเวลาพิจารณาประมาณ 3-4 ปี และหลังจากมีผลการพิจารณาตัดสินจะใช้เวลาอีก 4-5 ปี ในการปฏิบัติตามผลการตัดสิน รวมระยะเวลาเกือบ 10 ปี อีกทั้งล่าสุดไทยถูกรัฐบาลจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออก อันดับ 6 ประกาศใช้มาตรการเรียกเก็บอากรปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศเป็นระยะเวลา 3 ปี

นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 กระทรวงพาณิชย์สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุดให้เรียกเก็บอากรปกป้อง จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) สินค้าน้ำตาลจากทั่วโลกภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรขาเข้าของจีน 7 พิกัด ได้แก่ 1701.1200 1701.1300 1701.1400 1701.9100 1701.9910 1701.9920 และ 1701.9990 ซึ่งได้เริ่มเปิดไต่สวนมาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2559 โดยเรียกเก็บอากรเซฟการ์ดเป็นเวลา 3 ปี ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2560-21 พฤษภาคม 2563 กำหนดอัตราปีแรก 45% จากนั้นผ่อนคลายลงปีละ 5% ทำให้ปีสุดท้ายอากรปกป้องอยู่ที่ 35% ทั้งนี้ เป็นการเรียกเก็บเพิ่มจากที่มีการกำหนดอากรขาเข้าอยู่แล้ว โดยแบ่งเป็นภาษีในโควตา 15% อัตรานอกโควตา 50%

ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าน้ำตาลของจีนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2559) ไทยเป็นผู้ส่งออก อันดับ 2 โดยในปี 2557 มีปริมาณการนำเข้า 535,650 ตัน ปี 2558 มีปริมาณ 602,926 ตัน และล่าสุดปี 2560 มีปริมาณ 179,554 ตัน รองจากบราซิล ซึ่งในปี 2557 มีปริมาณการนำเข้า 2,101,227 ตัน ปี 2558 ปริมาณ 2,741,442 ตัน และปี 2560 ปริมาณ 1,995,934 ตัน

“ไทยได้เปรียบด้านการขนส่ง หากเทียบกับบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม กรมจะประสานงานกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อติดตามการใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป”

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการนี้เป็นการปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลในจีน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับกับทุกประเทศที่ส่งออกน้ำตาลไปตลาดจีนรวมถึงไทย

เมื่อรวมอัตราภาษีเซฟการ์ดปีแรก 45% กับภาษีส่งออกน้ำตาลนอกโควตา 50% จะทำให้ไทยต้นทุนราคาน้ำตาลนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 95% จากปกติซึ่งก็ถือว่าเป็นอัตราที่สูง และหากเทียบกับน้ำตาลในโควตาที่มีภาษี 15% ด้วยก็ยิ่งกระทบ แม้ว่าไทยจะมีความได้เปรียบคู่แข่งอื่น เช่น บราซิล ในเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง แต่ด้วยความที่จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญท็อป 5 (อินโดนีเซีย เป็นตลาดเบอร์ 1) ก็น่าจะกระเทือนเราโดยตรง แต่ยังรอดูอีกระยะว่าผู้บริโภคจีนจะรับผลกระทบจากราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นได้เพียงใด และต้องรอจนว่าสต๊อกที่ผู้นำเข้าได้สั่งออเดอร์ก่อนที่มาตรการเซฟการ์ดจะออกหมดไป จึงจะประเมินผลกระทบต่อการส่งออกได้

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าแต่ละปีโรงงานน้ำตาลในจีนผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค ยังจำเป็นต้องนำเข้าปีละกว่า 2 ล้านตัน ขึ้นอยู่กับว่าเทรดเดอร์จะชะลอสั่งซื้อจากไทยหรือไม่ หากชะลอมีโอกาสจะกระทบส่งออกและราคาอ้อยในประเทศในฤดูกาลต่อไป หรืออาจจะยังสั่งแต่ปรับเปลี่ยนส่งออกส่งออกไปยังตลาดอื่นแทนก็อาจไม่กระทบ ผู้ส่งออกไทยในระบบโควตาซึ่งมีประมาณ 6-7 ราย แต่บางราย เช่น มิตรผล เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในจีนก็อาจจะไม่กระทบ ส่วนทางบริษัทมีโรงงาน 51-52 โรงผลิต และส่งผ่านบริษัท

รายงานข่าวระบุว่า บริษัทผู้ส่งออกน้ำตาล 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด, บริษัท แปซิฟิก ซูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ที.ไอ.เอส.เอส. จำกัด และ บริษัท ส่งออกน้ำตาลสยาม จำกัด ส่วนเทรดเดอร์น้ำตาลรายใหญ่ เช่น บังกี้ มารุเบนนี มิซูบิชิ เป็นต้น

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ