จับตาลงทุนรับออเดอร์ไก่พุ่ง หวั่นวัฏจักรราคาตกทำธุรกิจสะเทือน

แม้โปรตีนจากเนื้อไก่ราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ อย่าง สุกร โค แพะ แกะ แต่อุตสาหกรรมไก่ก็ยังมีจุดอ่อนที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ได้แก่ 1. ปัจจัยต้นทุนการผลิตเนื้อไก่สดของไทยสูงกว่าคู่แข่งระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา บราซิล เนื่องจากวัตถุดิบประเภทข้าวโพด ถั่วเหลือง และกากถั่วเหลืองที่ผลิตได้จำนวนมากของทั้ง 2 ประเทศมีราคาต่ำ ในขณะที่ไทยต้องสั่งซื้อวัตถุดิบเหล่านี้มาผลิตเป็นอาหารสัตว์จาก 2 ประเทศคู่แข่ง ซึ่งต้นทุนการเลี้ยงไก่ของไทยเป็นต้นทุนอาหารสัตว์ถึง 70% เพียงแต่ไทยได้เปรียบเรื่องแรงงานฝีมือในการตัดแต่งเพื่อผลิตไก่สำเร็จรูปเท่านั้น 2. การผลิตไก่ของไทยสูงถึง 2.5 ล้านตัน ต่อปี ส่งออกปีละ 7.5-7.6 แสนตัน ไทยต้องพึ่งพิงตลาดส่งออกสูงถึง 30-40% 3. การพึ่งพาตลาดส่งออกอยู่ไม่กี่ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่นสูงถึง 45% สหภาพยุโรป (อียู) ที่มีการจำกัดโควตานำเข้าประมาณ 38% และกลุ่มอาเซียน 12%

หันมาดูสถานการณ์ล่าสุด ราคาส่งออกไก่ไทยเริ่มขยับตัวขึ้นสูงในช่วงกลางปี 2559 เป็นต้นมา เนื้อขาสดจากราคา 2,400 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน ราคาล่าสุดขยับขึ้นมาเป็น 3,000 เหรียญสหรัฐ และราคาเริ่มนิ่ง เนื้อปีกสดจากตันละ 2,300-2,500 เหรียญสหรัฐ ล่าสุดตันละ 3,100-3,700 เหรียญสหรัฐ ถ้าเป็นเนื้อปีกกลางบนอยู่ที่ระดับตันละ 3,600-3,700 เหรียญสหรัฐ เนื้อหน้าอกสดที่ส่งไปอียูและมาเลเซีย จากระดับตันละ 2,300-2,500 เหรียญสหรัฐ เป็นตันละ 2,900 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ราคารับซื้อไก่มีชีวิตหน้าโรงเชือดอยู่ที่ระดับ กิโลกรัมละ 38 บาท ถึงเกือบ 40 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างดี

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตไก่รายใหญ่ทั้งในสหรัฐอเมริกา เอเชียเหนือ มีปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก จึงมีการสั่งซื้อเนื้อไก่จากไทยมากขึ้น บวกกับผู้ผลิตเนื้อไก่หลายรายของบราซิลมีปัญหาเรื่องคุณภาพของเนื้อที่ไม่สด ทำให้หลายประเทศหันมานำเข้าไก่จากไทยที่สด สะอาด และปลอดจากเชื้อไข้หวัดนกกันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีหลายบริษัทแห่ขยายการเลี้ยง การลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเชือดไก่ตามมา ล่าสุดกลุ่มไทยฟู้ดส์น้องใหม่มาแรง ได้เพิ่มการลงทุนเฉพาะโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ส่งออกสูงถึง 1,600 ล้านบาท ซึ่งโรงงานจะเสร็จต้นปีหน้า และอีกหลายบริษัทที่ไม่ประกาศอย่างเปิดเผย

แหล่งข่าวจาก บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) เปิดผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทส่งออกไก่สด ไก่ปรุงสุก และผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ประเภทต่างๆ ในลักษณะรับจ้างผลิต (OEM) ผลิตเต็มกำลังการผลิตแล้ว และมีออเดอร์ยาวไปจนถึงไตรมาสแรกปี 2561 แล้ว ส่วนใหญ่จะผลิตไก่สดป้อนบริษัทร่วมทุนกับจีเอฟพีที 2 รายใหญ่ คือ กลุ่มนิชิเรของญี่ปุ่น กับบริษัท คีย์สโตน เอเชีย สิงคโปร์ ของกลุ่มแมคโดนัลด์ ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังระดับโลกที่จะกระจายสินค้าป้อนแมคโดนัลด์ทั่วเอเชีย

“ตอนนี้โรงเชือดของจีเอฟพีที มีกำลังการผลิตเชือดไก่ วันละ 1.35 แสนตัน ช่วงนี้อยู่ระหว่างขยายฟาร์มเพื่อเพิ่มการผลิต และกำลังจัดทำแผนการขึ้นโรงเชือดและโรงงานผลิตไก่ปรุงสุกเพิ่มที่ชลบุรี แต่อาจใช้เวลาพิจารณานานหลายเดือน เพราะราคาไก่พุ่งครั้งนี้ หากสถานการณ์เข้าสู่ปกติเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อแผนการเงินได้ โดยเฉพาะหากลงทุนมากเกินไป”

ข้อกังวลจากผู้บริหารของจีเอฟพีทีที่บริหารงานและการเงินในธุรกิจนี้อยู่แล้วด้วยความระมัดระวังสูง จึงเป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะมิเช่นนั้นอาจซ้ำรอยเหมือนเช่นยักษ์ใหญ่ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ก็ได้ ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตธุรกิจรอบ 2 จากการโหมลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเชือดไก่ จากวันละ 7 แสนตัน เป็น 1 ล้านตัว ต่อวัน ภายใน 3 ปี เพื่อหนีกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) รวมถึงการจัดซื้อที่ดินนับหมื่นไร่ที่ลพบุรี เชียงราย และอื่นๆ

แม้ว่าขณะนี้สหฟาร์มจะผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ มีการเชือกไก่วันละ 4 แสนตัว และอีก 2 เดือน จะเพิ่มเป็น 5 แสนตัว ต่อวัน แต่การที่จะกลับมาผลิตให้ได้เท่าเดิม คงต้องถามใจแบงก์เจ้าหนี้รายใหญ่อย่างธนาคารกรุงไทยจะกล้าเดินไปที่จุดเดิมหรือไม่ เพราะคู่แข่งเดิมหลายรายล้วนมีกำลังเข้มแข็งขึ้นในขณะที่วัฏจักรไก่ราคาตกต่ำอาจกลับมาเยือนอีก หากปัญหาไข้หวัดนกที่ระบาดทั่วโลกเบาบางลง

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ