โควิด-ในวิกฤตมีโอกาส

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงยิ่ง หนึ่งเดือนเรามาพบกันหนึ่งครั้ง มีเรื่องราวมากมายอยากเล่าอยากบอก แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะไม่ตอบสนองให้เราทำอะไรได้มากก็ตาม ผู้คนหลากหลายอาชีพที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามความจำเป็น บ้างเปลี่ยนอาชีพ บ้างทำอะไรไม่ถูก บ้างก็รอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดมิใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะโลกเรากำลังประสบกับวิกฤตของโรคอุบัติใหม่ ต้องหาทางแก้ไขและป้องกันต่อไป เรียกว่าเราต้องทำอย่างไรเพื่อให้อยู่ร่วมกับโรคร้ายนี้ไปให้ได้นั่นเอง มาถึงวันนี้ มีการเอ่ยถึงการกลายพันธุ์ไปเป็นอีกหลายชื่อ แต่ที่มาแรงกว่าใครก็คือ โอมิครอน ทำเอาโลกต้องหยุดกิจกรรมกันอีกครั้ง

น้องป้อย วราภรณ์ กำลังสัมภาษณ์

แต่มีอาชีพหนึ่งที่เติบโตสวนกระแส นั่นคือเกษตร ใครจะอย่างไรก็ตาม เกษตรกรคือผู้สร้างอาหารป้อนคนทุกสาขาอาชีพ เมื่อคนยังกินก็ต้องพึ่งอาชีพนี้อย่างช่วยไม่ได้ แต่มิใช่เพียงเรื่องอาหารเพื่อให้กินอิ่มเท่านั้น อาหารตา อาหารใจ ก็เป็นส่วนหนึ่งในอาชีพเกษตรเช่นกัน เราจะเห็นได้ว่าการซื้อขายในตลาดออนไลน์มีมากขึ้น ส่วนมากหรือเกินครึ่งล้วนเป็นสินค้ามาจากอาชีพเกษตร ไม่ว่าจะเป็นอาหารแปรรูป พืชผัก ผลไม้ กระทั่งต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ สร้างให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตตามไปด้วยอย่างก้าวกระโดด เราจึงเห็นข่าวส่งของไม่ทัน ส่งของล่าช้าอยู่เป็นประจำ ขนาดมีผู้ให้บริการทั้งรายใหญ่-รายย่อยตั้งมากมายนะ

แปลงที่ขึ้นใหม่
ฝรั่งหงเป่าสือ

วันนี้ผมและพี่น้องนักข่าวอีกหลายท่าน เดินทางไปพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ โดยจุดแรกที่เราไปก็คือ สวนฝรั่งวราภรณ์ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยนำมาบอกเล่ากันแล้ว แต่วันนี้จะไปดูว่าโควิดทำอะไรสวนนี้ได้หรือไม่

น้องนิก-ธนัทธร กาญจนพิศาล เจ้าของฟาร์ม

จากสาวน้อยลูกหลานเกษตรกรสวนฝรั่ง เมื่อเรียนจบเธอก็ไปทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ถามตอบใจตัวเองและได้คำตอบ งานออฟฟิศมิใช่วิถีของเธอ สวนฝรั่งที่เธอเติบโตคู่กันมาต่างหากคือคำตอบ จึงลาออกจากการเป็นสาวแบงก์ เดินหน้าอาชีพเกษตรทำสวนฝรั่งเต็มตัว สวนที่ 1 พักไป มาเดินหน้าสวนที่ 2 ในพื้นที่รวม 30 ไร่ ด้วยฝรั่งกิมจูเป็นหลัก

“ราคาต่ำสุดที่เคยได้โลละเท่าไหร่ครับ”

“15 บาทจ้ะ”

“สูงสุดล่ะ”

“30-35 บาท ช่วงนี้แหละจ้ะ”

“นี่ช่วงโควิดนะ”

“นี่แหละจ้ะ ก่อนหน้านี้ก็เครียดไม่น้อย โควิดมา คนไม่มี ร้านรวงปิดหมด เราจะขายผลผลิตอย่างไร”

“แล้วตอนนี้”

“เครียดกว่าเดิมจ้ะ ทั้งส่งห้าง ทั้งขายออนไลน์ จะเอาที่ไหนมาขายให้เขาได้ล่ะหนอ”

“โควิดไม่กระทบเลยหรือ”

“ไม่จ้ะ ตอนนี้เก็บจากสวนวันหนึ่งๆ ก็ 1-2 ตัน ทั้งเบอร์สวยเบอร์รอง ทั้งส่งห้าง ขายออนไลน์ และมีลูกค้าประจำมารับไปตัดแต่งขายในร้านสะดวกซื้ออีก”

“นอกจากกิมจูแล้ว ปลูกพันธุ์อื่นอีกไหม”

“พันธุ์หงเป่าสือจ้ะ วางแผนจะลงอีก 5 ไร่ ตอนนี้ได้ราคาดี ลูกค้าถามมาทุกวัน มีไม่พอขายเลยพี่”

“ราคาขายยังไงครับ”

“หน้าสวนเปิดให้อยู่ที่ 70-80 จ้ะ”

พูดคุยอยู่ด้วยไม่นานครับ ผมเริ่มสำลักตัวเลขรายได้ ยังแอบคิดเล่นๆ หันมาปลูกฝรั่งดีไหมหนอเรา ราคาดีปานนี้ หากท่านสนใจ อยากรู้เรื่องราว หรืออยากหาซื้อก็ติดต่อกันเองนะครับ โทร.ไปที่ 097-043-8939 รับรอง น้องป้อย รับทุกสายครับ

กระบวนการดองเกลือ+น้ำแข็ง

ออกจากจากสวนวราภรณ์ 2 เรามุ่งหน้าไปที่ บางแพ จังหวัดราชบุรี ที่นั่นเรานัดหนุ่มหน้าใสวัยละอ่อน (โสด) ไว้ เป็นเจ้าของกิจการต่างๆ มากมาย แต่วันนี้ขอเน้นการเกษตร โดยเดินหน้าผลิตปลาสลิดจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออก ใครจะเชื่อว่าปลาสลิดที่เรากินกันนั้น มีเรื่องราวกระบวนการผลิต ดูแล แปรรูป กระทั่งจำหน่ายออกไปในวงกว้างได้อย่างน่าทึ่ง

ปลาสลิดทอด พร้อมส่ง

น้องนิก – ธนัทธร กาญจนพิศาล โทร. 084-074-9499 เจ้าของ ฟาร์มธนัทธร ที่ทำฟาร์มปลาสลิดในพื้นที่ 70 ไร่ แบบครบวงจร ขยายพันธุ์ เลี้ยงขุน แปรรูป จัดจำหน่าย บอกเลยว่าน่าสนใจมาก ตั้งแต่การคัดเอาพ่อแม่พันธุ์ของฟาร์มเอง จนเพาะขยายเอาลูกปลาเองเลี้ยงขุนแบบผสมคือในเบื้องต้นตัดหญ้าให้ และเสริมด้วยอาหารเม็ดลอยน้ำที่มีโปรตีน 30% เลี้ยงนาน 1 ปีได้ขนาดจึงค่อยจับ ต้นทุนต่อปลาสด 1 กิโลกรัม คือ 60 บาท หากขายเป็นปลาสดจะได้ไม่คุ้ม จึงตั้งโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐาน แน่นอนเราย่อมเข้าไปเยี่ยมชมกันมาแล้ว

น้ำพริกขิงปลาสลิด

เมื่อจับปลาได้ มาทำความสะอาดในเบื้องต้น ก็จัดส่งเข้าสู่เครื่องขอดเกล็ด ส่งต่อไปตรวจสอบและขอดเกล็ดในส่วนที่ยังเหลือติดอยู่ติดตัว ล้างทำความสะอาดอีกครั้ง ก่อนจะนำไปดองเกลือและน้ำแข็ง โดยมีการคำนวณปริมาณเกลือและน้ำแข็ง/ปริมาณปลาสดในแต่ละรอบ ตรงนี้เป็นสูตรลับของฟาร์มครับ เมื่อได้กำหนดก็เข้าโรงอบด้วยพลังงานแดดจนหนังตึงได้ที่ นำมาสู่การคัดขนาด ตัดแต่ง แพ็กสุญญากาศกรณีปลาสดและนำไปแช่ฟรีซไว้ ส่วนปลาทอดก็จะส่งไปห้องทอดต่อไป ในส่วนของปลาตกไซซ์ ก็จะนำมาแปรรูปเป็นน้ำพริกต่างๆ มีลูกค้ารับไปทำกุนเชียงปลาสลิดอีกด้วย

ซุ้มที่จัดแต่งไว้

“ช่วงโควิด ได้รับผลกระทบไหมครับ”

“ตอนแรกโดนเต็มๆ เลยครับ เพราะลูกค้าหลักของเราคือร้านอาหาร เขาจะซื้อวัตถุดิบจากเราไปทำอาหารขายต่อ โควิดมาร้านก็ปิด ลูกค้าก็หายไปหมด”

“แล้วทำอย่างไรครับ”

“ลองตลาดออนไลน์ครับ ผมเปิดเพจ สลิดกัน เริ่มขายออนไลน์”

“ผลตอบรับดีไหมครับ”

“ดีมากครับ เรามีลูกค้าใหม่ทั้งคนไทยและต่างประเทศครับ”

“แสดงว่าได้มาตรฐาน”

“ครับ เรามีมาตรฐานในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน สด สะอาด ปลอดภัย และอร่อยแน่นอน”

“หากมีผู้อ่านสนใจต้องทำอย่างไรครับ”

“ยินดีต้อนรับครับ สั่งที่เพจ ปลาสลิด สลิดกัน ได้เลยครับ มีจัดโปรราคาพิเศษให้ครับ ขอบคุณครับ”

ทุ่งดอกไม้หลากสี

นี่เป็นเพียงตัวอย่างน้อยๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ได้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ครับ ก่อนจากกัน ขอฝากพิจารณาอีกหนึ่งตัวอย่าง ในช่วงโควิดเช่นนี้ แต่ก็ยังมีรายได้เข้าสวนอย่างสม่ำเสมอ เราได้ไปที่ เมเปิ้ลการ์เด้นท์ อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี สภาพเป็นสวนลำไยที่ดัดแปลงมาปลูกไม้ดอกสวยงามเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว มีการเก็บค่าเข้าสวนคนละ 99 บาท มีซุ้มน้ำเต้าแปลกและสวยงาม เดินทอดยาวไปสู่แปลงดอกไม้ ข้างทางก็มีลำไยให้ได้ชิมกันฟรีๆ ตลอดทาง มีร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ รวมถึงหน้าร้านขายผลผลิตทางการเกษตร ผัก ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ สร้างงานและรายได้ให้คนในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

ซุ้มน้ำเต้าสวยงาม

ที่แปลงดอกไม้ โอ้โห! ละลานตา สวยงาม สารพัดสายพันธุ์ หลากหลายสีสัน ผู้คนแต่งตัวสวยงามมาถ่ายรูปกันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย คะเนว่ารายได้ในช่วงวันหยุดน่าจะไม่น้อยเลย เพราะดูจำนวนรถที่จอดในลานจอดรถเต็มไปหมด ทะเบียนมาจากต่างจังหวัดเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นบอกเราว่า นี่คือการใช้ตลาดออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ลองพิจารณานะครับว่าเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในสภาพวิกฤตเช่นนี้ ตัวอย่างทั้ง 3 สวน น่าจะพอบอกอะไรได้บ้างนะครับ สวัสดี