อ.ส.ค. ผลักดันสหกรณ์ต้นแบบคุณภาพน้ำนมดิบ เตรียมความพร้อมรับการค้าเสรีนมและผลิตภัณฑ์นม

อ.ส.ค. เสริมแกร่งศักยภาพเตรียมพร้อมนโยบายเปิดการค้าเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์นม ชู “สหกรณ์โคนมสีคิ้ว” ขึ้นแท่นสหกรณ์โคนมต้นแบบด้านคุณภาพหวังขยายผลสู่สหกรณ์โคนมพื้นที่ภาคกลางอีก 13 แห่งในอนาคต เชื่อมั่นเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพน้ำนมดิบของสหกรณ์โคนมฯและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในแหล่งผลิตโคนมที่สำคัญของประเทศ

นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  เพื่อเตรียมรับมือนโยบายเปิดการค้าเสรีที่ประเทศไทยจะเปิด “สินค้านมและผลิตภัณฑ์นม ในปี พ.ศ. 2568” โดยจะมีการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ารวมถึงยกเลิกมาตรการจัดสรรโควตานำเข้านมผงขาดมันเนย โดย รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ดูแลและกำกับ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้มีนโยบายสั่งการให้ อ.ส.ค. เร่งหามาตรการเสริมเขี้ยวเล็บอุตสาหกรรมนมไทยเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปิดการค้าแบบเสรี โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานไปพร้อมๆ กัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ ดังนั้น หนึ่งในมาตรการสำคัญการเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตน้ำนมดิบให้มีคุณภาพและมาตรฐานแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนมฯ มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมนมของประเทศในการจัดสรรน้ำนมดิบที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อ

แต่ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอุปสรรคที่สำคัญต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม คือ โรคเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการ (Clinical mastitis) และไม่แสดงอาการ (Subclinical mastitis) ที่เกิดจากการจัดการฟาร์มไม่ดี ส่งผลให้ จำนวนเม็ดเลือดขาว (Somatic cell count; SCC) จำนวนจุลินทรีย์ในน้ำนมโค (Standard plate count; SPC) เพิ่มสูงขึ้น และปริมาณเนื้อนมไม่รวมมันเนย (Solids Not Fat; SNF) ต่ำลง โดยเฉพาะโรคเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการ เป็นปัญหาแอบแฝงภายในฟาร์ม ก่อให้เกิดการสูญเสียด้านผลผลิตและองค์ประกอบน้ำนมดิบคุณภาพต่ำ ดังนั้น การค้นหาโรคเต้านมอักเสบ สามารถทำได้โดยการคัดกรองน้ำนมดิบหน้าศูนย์สหกรณ์ โคนมฯ โดยการตรวจน้ำยาซีเอ็มที (California Mastitis Test; CMT) และความสะอาดในน้ำนมดิบ โดยการตรวจ (Methylene blue reduce test; MB หรือ Resazurin reduce test) สำหรับ SNF เน้นการจัดการด้านอาหารข้น อาหารหยาบรายฟาร์ม ในเบื้องต้น ถือว่า เป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันช่วยลดความสูญเสียให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพื่อให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ อ.ส.ค. กำหนด

ดังนั้น อ.ส.ค. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาสหกรณ์โคนมในเขตภาคกลางให้เป็นสหกรณ์โคนมต้นแบบ ด้านคุณภาพขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา SCC, SPC และ SNF ในน้ำนมดิบ ณ สหกรณ์โคนมสีคิ้ว จำกัด อย่างต่อเนื่อง โดยการคัดกรองน้ำนมดิบหน้าศูนย์สหกรณ์โคนมฯ โดยวิธีการตรวจ CMT, MB, Resazurin และลงพื้นที่จัดการฟาร์ม (SNF) ประจำปี 2565 โดยมีผู้รับผิดชอบโครงการฯ คือ แผนกส่งเสริมการเลี้ยงโคนมภาคกลาง เขต 1 และ เขต 2 มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมที่เชี่ยวชาญด้านวิชาการ อบรม ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำนมดิบ สุขศาสตร์การรีดนม บำรุงรักษาระบบเครื่องรีดนมและการจัดการด้านอาหารโคนม รวมถึงเป็นผู้ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในการคัดกรองน้ำนมดิบรายฟาร์มและหน้าศูนย์สหกรณ์โคนมฯ เพื่อให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพเข้าสู่โรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทส่งเสริมการเลี้ยงโคนม อ.ส.ค. 4.0 พ.ศ. 2560-2565 ที่มีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความมั่นคงและเติบโตในอาชีพและประสิทธิภาพการผลิตคุณภาพน้ำนมดิบของเกษตรกรได้มาตรฐานเข้าสู่ขบวนการผลิต โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการระหว่างเดือน ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 นี้

ทั้งนี้ นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า “เป้าหมายของโครงการคือ อ.ส.ค. ต้องการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้สหกรณ์โคนมฯ ที่ส่งน้ำนมดิบให้ อ.ส.ค. ในเขตภาคกลาง มีขีดความสามารถในด้านต่างๆ ตามเกณฑ์ชี้วัดที่กำหนดและสามารถนำไปเป็นสหกรณ์โคนมต้นแบบ และเพิ่มประสิทธิภาพด้านคุณภาพน้ำนมดิบของสหกรณ์โคนมฯ และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ในเขตส่งเสริมการเลี้ยงโคนมภาคกลาง เขต 1 และ เขต 2 และเพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองของสหกรณ์โคนมฯ ให้มีขีดความสามารถเทียบเท่าสหกรณ์โคนมอื่นๆ ให้มีความมั่นคงและเติบโตในอาชีพอย่างยั่งยืน” นายสมพร กล่าว

โดยกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยว่า มีเป้าหมายหลักกลุ่มสหกรณ์โคนมฯ ที่ส่งน้ำนมดิบให้ อ.ส.ค. ในเขตส่งเสริมภาคกลาง โดย ในปี 2564 ทาง อ.ส.ค. ได้มีการคัดเลือกให้ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ซับกระดาน จำกัด เป็นสหกรณ์ต้นแบบ และในปี 2565 ได้คัดเลือกให้ สหกรณ์โคนมสีคิ้ว จำกัด เป็นสหกรณ์ต้นแบบ และจะทำการขยายผลการดำเนินงานไปยังสหกรณ์โคนมฯ อื่นๆ ในเขตภาคกลาง จำนวน 13 สหกรณ์ ได้แก่ 1. สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค มิตรภาพ จำกัด 2. สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ลำพญากลาง จำกัด 3. สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค พระพุทธบาท จำกัด 4. สหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดิน ซับสนุ่น จำกัด 5. สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ชอนม่วง จำกัด 6. สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ก.น.ช. หนองรี จำกัด 7. สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก สวนมะเดื่อ จำกัด 8. สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ปากช่อง จำกัด 9. สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค สูงเนิน จำกัด 10. สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ขามทะเลสอ จำกัด 11. สหกรณ์การเกษตรสีคิ้ว จำกัด 12. สหกรณ์การเกษตรปักธงชัย จำกัด และ 13. สหกรณ์โคนมเสิงสาง จำกัด