โคคา ใบไม้พลังดี มีน้ำชื่อโคล่า น้าชื่อกัญชา เรียกหาน้องกระท่อม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythroxylum coca Lam.

ชื่อวงศ์ ERYTHROXYLACEAE

ชื่อสามัญ Coco, Huance Coca, Truxillo Coca

ชื่ออื่นๆ ทับทิมสยาม โกโก้ โคโค่ โคค่า

หากเอ่ยชื่อ “ทับทิมสยาม” ฉันไม่ได้คิดว่าใครจะเอ่ยถึงฉัน เพราะรู้ว่าที่เมืองไทยมีผลไม้สุดยอด จะเป็นทับทิมจริงๆ ส้มโอ หรือผลไม้อื่นๆ ฉันไม่แน่ใจ แต่ยอมรับว่าผลไม้เมืองไทยเป็นหนึ่งในเขตร้อนตะวันออก ฉันเองก็อยากจะเสนอหน้าโชว์พราวบ้าง แม้ว่าฉันไม่ใช่ผลไม้ แต่ดีใจมากที่มีชื่อในการประกวดพืชสมุนไพรงานพฤกษชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ 11-15 สิงหาคม 2542 ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 2 ประเภทไม้หายาก แล้วยังมีการบรรยายเรื่องฉันในการประชุมสัมมนา การพัฒนาศักยภาพสถานตรวจพิสูจน์ยาเสพติด วันที่ 28-30 มีนาคม 2544 จังหวัดเพชรบุรี โดยกองวัตถุเสพติด ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เชียงใหม่ เพื่อการดำเนินการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้ครอบคลุมต้นโคคา สายพันธุ์ที่พบและประกาศยาเสพติดให้โทษ ลงพิมพ์ใน ราชกิจจานุเบกษา 2544

ฉันย้อนเรื่องตัวฉัน กว่า 20 ปีมาแล้ว เพราะฉันเองก็มีสถานภาพเหมือน “น้ากัญชา และน้องกระท่อม” ที่เมืองไทยปัจจุบัน และก็อยากจะคุยด้วยว่า ฉันเองโด่งดังระดับ กว่า 1,000 ปีมาแล้ว รวมทั้ง “น้ำอัดลม” ที่ดื่มๆ กันทุกวันนี้ นั่นก็มาจากฉันเอง คืออะไรๆ ที่ลงท้ายด้วย “โคล่า” รู้จักไหม อย่าให้ฉันคุยเลย เรื่องน้ากัญชา น้องกระท่อม มันเด็กๆ สำหรับฉัน โชคดีนะที่เด็กๆ สมัยนี้ไม่คุ้นกับเรื่อง “โคเคน” แล้ว ไม่งั้นถ้าฉันยังดังอยู่ น้ากัญชา น้องกระท่อม ไม่ได้เกิดหรอก แม้ว่าเราเป็นประเภท “ใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือใบไม้แห่งพลัง” ด้วยกัน

ฉันโด่งดังอยู่แถบเทือกเขาแอนดีสโน่น ประวัติศาสตร์ฉันมีมายาวนาน วนเวียนอยู่กับประเทศเปรู บราซิล ชิลี เอกวาดอร์ โคลอมเบีย โบลิเวีย หรืออเมริกาใต้ ต่อมาเข้าไปในยุโรปและอเมริกา เขาใช้เป็นยารักษาโรคจิต ซึมเศร้า ยาชา รวมทั้งผลิตเครื่องดื่มที่ทำจากใบโคคา caffeine ชื่อ “coca cola” คิดดูนะเขารู้จักฉัน ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 สมัย Sigmund Freud ปรมาจารย์ทางจิตเวช มาถึงต้นศตวรรษที่ 20 สมัยประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ที่จับผู้นำประเทศอื่น ข้อหา “ค้าโคเคน” เนื่องจากมีการพัฒนาเป็นสารออกฤทธิ์เร็ว มี alkaloid cocaine รูปผง หรือเกล็ดสีขาว ใช้สูบเหมือนบุหรี่ ออกฤทธิ์ยิ่งกว่า “ยาม้ายาบ้า” และสูดดมได้เหมือนยานัตถุ์ ผสมน้ำฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ฤทธิ์เดชกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติได้เร็ว จินตนาการภาพหลอนระดับน้ากัญชาผสมเห็ดขี้ควายของไทยยังสู้ไม่ได้หรอกหลานเอ๊ย!

ถึงตอนนี้ฉันขอเปิดเผยตัวเองหน่อยว่า “โคคา” เป็นพันธุ์ไม้พุ่ม สูง 3-5 เมตร รากลึก กิ่งสีน้ำตาลแดง ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะรูปไข่ ขอบขนาน ปลายใบแหลมหรืออาจมีติ่งแหลม โคนใบรูปลิ่ม ใบสีเขียว ยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร แผ่นใบมีเส้นเป็นร่างแห เส้นกลางใบจากโคนถึงปลายก้านยาว ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ดอกเล็กสีเหลืองนวล กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ ผลสดมีผนังชั้นในแข็ง สีเหลืองอมเขียว สุกแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง ภายในผล มีเมล็ด 1 เมล็ด นำไปเพาะขยายพันธุ์ได้ดี

ฉันเป็นพืชเศรษฐกิจ ถ้าฉันอยู่ในประเทศอาร์เจนตินาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โบลิเวีย หรือโคลอมเบีย แต่นั่นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีบทบาทในหลายวัฒนธรรมแอนเดียนดั้งเดิม ที่น่าแปลกยิ่งคือ มีร่องรอยพบเรื่องราวโคคาเกี่ยวข้องกับมัมมี่ เมื่อ 3,000 ปีย้อนหลังในชิลีตอนเหนือ นักประวัติศาสตร์เห็นพ้องว่า ใบโคคามีปัจจัยเอื้อต่อชีวิตประจำวันของ “ชาวอินคา” เพราะบริบทของการใช้แรงงานในชนพื้นเมือง จะมีใบโคคาอยู่ในปากเสมอ

การเคี้ยวเพื่อบรรเทาความหิว การทำงานหนักทำได้นาน กระตุ้นต่อความเข้าใจที่จะนำสู่การแปรรูปนานาชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มไวน์โคคา การหมักเบียร์ข้าวโพด พูดถึงตอนนี้ฉันนึกถึงที่ฉันแอบมาเมืองไทย แล้วได้กินแกงไก่ กินก๋วยเตี๋ยวใส่ใบกัญชา ได้ข่าวว่าเดี๋ยวนี้ “กาแฟกัญชา” ก็มีแล้ว ส่วนใบโคคากับพิธีกรรมทางศาสนา ก็นำสู่การสร้างสถาปัตยกรรมชิ้นเอก เช่น การย้ายหินก้อนใหญ่ เสาหินก่อสร้างรูปปั้น ล้วนมาจากพลังใบโคคา อย่างไรก็ตาม ใบโคคาก็เป็น “ใบไม้ต้องห้าม” สำหรับประเทศสเปนสมัยนั้น ส่วนการใช้ใบโคคาทางการแพทย์ดั้งเดิม ก็สามารถเอาชนะความเหนื่อยล้า หิวโหย และความกระหาย ถือว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วย คือใช้ได้ทั้งเป็นยาสลบ แก้ปวดกระดูก ด้านโภชนาการ ใบโคคาดิบเคี้ยวหรือทำเป็นชาชง ในโบลิเวียมีใบโคคาจำหน่ายตามตลาดท้องถิ่น แผงค้าริมทาง การเคี้ยว เรียกว่า mambear และมีคำแสลง “bolear” จากคำว่า “bola” หรือลูกบอลของโคคา ที่กลิ้งอยู่ในข้างแก้มขณะเคี้ยว ใบไม้วิเศษนี้จะอยู่ในกระเป๋าถือ ย่าม ส่วนที่อยู่ในปาก จะเรียกว่า “เคี้ยวเอื้อง” หรือเปล่าไม่ทราบ แต่ก็ชวนให้คิดถึงเมืองไทยที่เขาเคี้ยว “ใบกระท่อม” สดๆ

ในเชิงวิชาการ โคคาถือว่าเป็นพืชมีพิษ เนื่องจากมีสารกระตุ้นระบบประสาท ระงับความต้องการของร่างกาย คือ โคเคน (cocaine) แม้ผู้รับจะรู้สึกมีความสุข มีพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างสูงในระยะสั้น แต่เป็นยาเสพติดประเภท 2 สังคมไทยห่างใบไม้โคคานี้มาช่วงหนึ่งแล้ว แต่ชื่อ “cola” ยังติดท้ายน้ำอัดลมบางชนิดอยู่ กระทั่งศตวรรษที่ 20 ทางบริษัทยอมที่จะสกัดสารโคเคนออกจากใบโคคาก่อนปรุงเครื่องดื่ม เราจึงอาจไม่ได้สัมผัสกลิ่นที่หอมฉุน รสเฝื่อนฝาดปนขมในปากและไม่นานทั้งลิ้น คอ ปากก็เริ่มชา ต่อมาอาการปวดแถวๆ ขมับ ก็ค่อยๆ เบาบางจางไป ดวงตาโฟกัสทุกอย่างแจ่มใสโล่งตา แต่…เอ๊…! “โอสถลวงจิต” หรือเปล่า ไม่รู้

ฉันได้อ่านข้อความหลายประโยคเลยว่า “เอานี่ไปเคี้ยว แล้วจะรู้สึกดีขึ้น”

“ฉีกกินแต่ใบแล้วเอาลิ้นดันไว้ข้างแก้มไม่ต้องคายนะ” “อมไว้ให้ชุ่มน้ำลายจืดเมื่อไหร่ค่อยคายทิ้ง” “ชงเป็นชาเป็นยาวิเศษดื่มแล้วหัวจะแล่นฉิว”…ต้องขอบคุณอย่างยิ่ง ขอโทษที่ไม่ได้ดูชื่อผู้เขียน แต่…เอ๊ะ…! เขาเขียนถึง…ใบโคคา…กัญชา หรือ ใบกระท่อม ก็…ไม่รู้ซินะ…?

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2565