ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อาชีพเกษตรหลายคนมองว่าเป็นเรื่องหมูๆ แต่สำหรับเกษตรกรมือใหม่แล้ว ถือเป็นเรื่องที่ไม่หมูเลย และยิ่งถ้าหากเป็นคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านการเกษตรมาก่อนด้วยแล้ว ก็อาจจะต้องใช้เวลาล้มลุกคลุกคลานอยู่นานพอสมควร กว่าจะตั้งหลักได้ ในฉบับนี้ผู้เขียนจึงอยากที่จะเสนอ เรื่องราวการสู้ชีวิตของเกษตรกรสาวหน้าใสท่านหนึ่ง ที่กว่าจะมีทุกวันนี้ได้เธอต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ทั้งโดนดูถูก โดนหลอกสูญเงินนับล้าน แต่ก็ยังสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้นไปได้

คุณรสิตา จรดล หรือ คุณต๊อบ อาศัยอยู่ที่ เลขที่ 299 หมู่ที่ 17 ตำบลบ้านเพชร อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เกษตรกรสาวหน้าใสเจ้าของฟาร์มวัวนม “กาลครั้งหนึ่งฟาร์ม” จากอดีตลูกคุณหนูสู่เกษตรกรเลี้ยงวัว ล้มลุกคลุกคลานด้วยตนเอง จนประสบความสำเร็จในอาชีพที่ตั้งใจทำ สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 300,000-350,000 บาท พร้อมกับการค่อยๆ พัฒนานำระบบ AI เข้ามาใช้ยกระดับมาตรฐานฟาร์ม เพื่อสร้างความสะดวก ลดความเหนื่อย ลดต้นทุน และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาขยายฟาร์มในอนาคต

คุณต๊อบ เล่าถึงจุดเริ่มต้นจากลูกคุณหนูผันตัวมาเป็นเกษตรกรว่า เกิดจากที่พื้นฐานเดิมครอบครัวของตนเองทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม แต่ในช่วงหลายปีหลังมานี้ธุรกิจของครอบครัวประสบกับปัญหามากมาย ตนเองจึงเลือกที่จะลาออกจากการทำงานที่บ้าน แล้วมาเริ่มสร้างธุรกิจใหม่เป็นของตนเอง ซึ่งในตอนแรกก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร ที่ไหน ถ้าหากจะไปทำที่ไกลๆ ก็เป็นห่วงพ่อกับแม่ที่อยู่ทางนี้ จึงได้ตัดสินใจว่าควรต้องเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ใกล้บ้านและใกล้พ่อกับแม่ จนได้นึกถึงอาชีพการเป็นเกษตรกรเพราะสามารถทำที่บ้านได้ ประกอบกับพื้นฐานนิสัยที่เป็นคนรักสัตว์อยู่แล้ว จึงมาสรุปได้ที่การทำปศุสัตว์เลี้ยงวัวนมเป็นอาชีพ ด้วยแนวคิดที่ตลาดมีความต้องการบริโภคนมอยู่แล้วทุกวันและยังสามารถนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าได้อีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ อย่างเช่นในปัจจุบันที่ฟาร์มมีการแบ่งน้ำนมดิบประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ไว้สำหรับการแปรรูปเป็นนมพาสเจอไรซ์ โยเกิร์ต และมอสซาเรลล่าชีส


เริ่มต้นเป็นเกษตรกรอายุยังน้อย
ต้องผ่านอุปสรรคอะไรบ้าง
คุณต๊อบ เล่าว่า สำหรับการเริ่มต้นเป็นเกษตรกรมือใหม่อายุยังน้อยและประสบการณ์ที่มีเท่ากับศูนย์ หนทางเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย เริ่มต้นจากคำสบประมาท ที่ว่า “ลูกคุณหนูมาทำแบบนี้ให้เวลาไม่เกิน 2 ปี เดี๋ยวก็เจ๊ง” อุปสรรคต่อมาคือการไปเป็นลูกแกะให้เขาเชือด เพราะไม่มีพื้นฐานด้านการปศุสัตว์มาก่อน ก็ต้องโดนหลอกไปตามระเบียบ “ทั้งหลอกขายวัวเป็นโรค หลอกขายแม่พันธุ์แก่ใกล้ปลดระวางแล้วบอกว่าเป็นวัวดี แต่พอมารีดนม รอบนั้นก็ส่งขายไม่ได้” ซึ่งกว่าจะผ่านจุดนั้นมาได้ต้องใช้ความพยายาม ความอดทน และเงินไปหลายล้านบาท กว่าที่ฟาร์มจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เริ่มประสบความสำเร็จก็ล้มลุกคลุกคลานมามาก มีทุกวันนี้ได้เพราะความเป็นเลือดนักสู้ ความพยายามที่จะศึกษาในเรื่องที่ตนเองไม่รู้ ทั้งการสังเกตพ่อแม่พันธุ์ สังเกตโรคและวิธีการรักษา ฉีดยา ทำคลอด รวมไปถึงการควบคุมดูแลอาหาร สู่การพัฒนาฟาร์มให้ได้มาตรฐานและการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ภายในฟาร์ม

ระบบ AI นำร่องใช้ในฟาร์ม
เริ่มจากฝันที่ไกล แล้วต้องไปให้ถึง
เจ้าของบอกว่า ในส่วนของการนำ AI เข้ามาใช้ในฟาร์ม เริ่มจากตนเองมีความฝันที่ใหญ่ วางแผนในอนาคตอยากที่จะมีฟาร์มเลี้ยงวัวเป็นพันตัวเหมือนที่ต่างประเทศ แต่พอได้นำหลายปัจจัยมาประกอบกันแล้ว การที่จะสามารถเลี้ยงวัวขนาดนั้นได้ ที่ฟาร์มต้องมีความพร้อมเป็นอย่างมากทั้งในเรื่องของพื้นที่ แรงงาน อาหาร และการจัดการดูแลเรื่องโรคให้ทั่วถึง เกิดเป็นแรงกระตุ้นนำไปสู่การศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงวัวของต่างประเทศและเกิดเป็นแรงบันดาลใจว่าเราก็สามารถทำได้ ด้วยการนำระบบ AI เข้ามาเป็นตัวช่วยในการควบคุมดูแลวัวแต่ละตัว ผ่านรูปแบบของปลอกคออัจฉริยะ

“ปลอกคออัจฉริยะตัวนี้จะมีระบบเซ็นเซอร์มากมายในการติดตามและประมวลผล วิเคราะห์พฤติกรรมของวัวว่าตอนนี้วัวกำลังทำอะไรอยู่ กิน นอน เดิน การเคี้ยวเอื้อง กิจกรรมการเคลื่อนไหว หากมีการเปลี่ยนแปลงจากปกติ อาจจะหมายถึงว่ากำลังเป็นสัดหรือป่วยก็ได้ ปลอกคอนี้จะช่วยแปลค่าและรู้ช่วงเวลาจับสัดได้ดีขึ้น โอกาสผสมติดก็ง่ายขึ้น มีการประมวลผลอ่านค่ากราฟผ่านจอที่ติดตั้งไว้ จากการใส่ข้อมูลสอน AI ลงไปก่อนว่าพฤติกรรมของวัวที่เกิดขึ้นที่ละอย่าง นั้นคืออะไร ให้จดจำไปเรื่อยๆ ว่ากราฟการเคลื่อนไหวแบบนี้คืออะไรแล้วประมวลผลออกมา”

วิธีใช้ เพียงนำปลอกคออัจฉริยะไปสวมใส่ไว้ที่คอของวัว โดยที่ฟาร์มตอนนี้อยู่ในช่วงกำลังทดลองใช้กับวัวจำนวน 20 ตัว เพื่อนำมาศึกษาพฤติกรรมและการทำงานของปลอกคออัจฉริยะตัวนี้ สู่การนำไปพัฒนาต่อและเผยแพร่ให้กับเกษตรกรในประเทศไทยได้ใช้ปลอกคออัจฉริยะได้ในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งเครื่องนี้จะเข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องพฤติกรรมของวัวว่าปกติหรือผิดปกติ หากเกิดปัญหาจะแก้ได้ทันท่วงที สะดวกในการดูแล ประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลา วัวมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ส่งผลไปถึงปริมาณและคุณภาพของน้ำนมที่เพิ่มขึ้นด้วย

“ทั้งนี้ การนำ AI เข้ามาใช้ในฟาร์มยังเป็นเพียงการนำร่อง ทดลองนำมาใช้ในการศึกษาและพัฒนา ซึ่งในอนาคตวางแผนไว้ว่าอีกไม่เกิน 2 ปี ตนเองและเพื่อนๆ น่าจะใช้เวลาในการพัฒนาปลอกคออัจฉริยะฝีมือคนไทยได้สำเร็จ”

เลี้ยงวัว 70 ตัว สร้างรายได้
หลายแสนบาทต่อเดือน
คุณต๊อบ บอกว่า ปัจจุบันที่ฟาร์มเลี้ยงวัวนมอยู่ทั้งหมดประมาณ 70 ตัว มีแม่วัวที่พร้อมรีดจำนวน 34 ตัว ที่เหลือกำลังอยู่ในระยะตั้งท้องและเป็นลูกวัว โดยจะเน้นเลี้ยงแบบหลากหลายสายพันธุ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา “เลือดชิด” ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเซี่ยน ขาว-ดำ ขาว-แดง เจอร์ซี่ และบราวน์สวิส ซึ่งนอกจากการป้องกันเลือดชิดแล้ว ก็เพื่อการพัฒนาคุณภาพน้ำนมให้ดียิ่งขึ้น

ปริมาณน้ำนม เฉลี่ยรีดได้วันละประมาณ 500 ลิตร ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 2 ปี สามารถรีดนมได้ ส่วนระยะเวลาในการปลดระวางขึ้นอยู่กับสุขภาพของวัว แต่โดยเฉลี่ยฟาร์มทั่วไปจะอยู่ได้ประมาณ 4 รุ่น ก็ถึงเวลาปลดระวาง

อาหารที่ใช้เลี้ยง 1. อาหารหยาบ คือหญ้าสดและฟาง 2. อาหารข้น (โปรตีน) คือกากถั่วเหลือง ข้าวโพด และ 3. พลังงาน คือมันสำปะหลัง โดยการนำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วให้อาหารวัวกินแบบบุฟเฟ่ต์ หิวตอนไหนก็มากินตอนนั้น ซึ่งค่าเฉลี่ยอัตราการกินของวัวค่อนข้างนิ่งคือประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว

รายได้ แบ่งเป็นรายได้จากการขายน้ำนมดิบเฉลี่ย 250,000 บาทต่อเดือน และจากการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เฉลี่ยรายได้ 100,000-150,000 บาทต่อเดือน สรุปเป็นรายได้รวมที่ฟาร์มจะมีรายได้ทั้งหมดราวๆ 300,000-350,000 บาท เมื่อหักลบต้นทุนแล้วเหลือกำไร 50,000-60,000 บาทต่อเดือน นับเป็นรายได้ที่คุ้มค่าเหนื่อย และได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคให้คอยแก้อยู่เป็นประจำก็ตาม

ฝากถึงเกษตรกรรุ่นใหม่
ไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจ
“การเลี้ยงวัวถือเป็นอาชีพที่ให้ชีวิตใหม่กับต๊อบ จากคนที่เคยชีวิตพัง พอมีวัวเข้ามาเราก็เริ่มจับจุดได้ว่าชีวิตเราควรจะไปทางไหน มีวัวเป็นสิ่งนำทาง รักวัวเหมือนลูก ส่วนอะไรที่ทำไม่ได้ก็ใช้ความพยายามในการไขว่คว้า จากคนที่มีความรู้เป็นศูนย์อย่างต๊อบ ถ้าใจสู้ และรู้สึกว่าชีวิตมีความสุขกับสิ่งที่เราเลือก ก็ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะเห็นผลเอง เพราะว่าตลอดระยะกว่า 7 ปี เกือบ 8 ปีที่ผ่านมาของต๊อบผ่านการล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ แต่สุดท้ายมันก็คุ้มกับที่เหนื่อย เริ่มมีรายได้เข้ามา มีคนมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ถึงจะเห็นช้าหน่อยแต่เห็นแน่นอน ความสำเร็จอยู่ไม่ไกล” คุณต๊อบ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 094-829-7936 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : กาลครั้งหนึ่งฟาร์ม