อนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยโบราณ ตามพระราชดำริ กรมสมเด็จพระเทพฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้รวบรวมพันธุ์กล้วยหายาก ตามรายชื่อพันธุ์กล้วยที่มีอยู่ในสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาไว้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

คุณพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ คุณปฏิวุฒิ บุญเรือง ถวายรายงานและถวายพันธุ์กล้วยหายากแด่กรมสมเด็จพระเทพฯ ที่มูลนิธิชัยพัฒนา

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร จึงได้สนองพระราชดำริ โดยมอบหมายให้ คุณปฏิวุฒิ บุญเรือง นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส และทำหน้าที่หัวหน้างานวิชาการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกหน้าที่หนึ่งร่วมกับ คุณศรัญญา ใจพะยัก นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

กล้วยหนอน
กล้วยลือเมาะมานิ

คุณปฏิวุฒิ บุญเรือง หัวหน้าโครงการการอนุรักษ์กล้วยโบราณ ตามพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เล่าว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ทำการสำรวจรวบรวมพันธุ์กล้วยหายาก ที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา สามารถรวบรวมพันธุ์กล้วยได้ทั้งหมด 36 สายพันธุ์ มีจำนวน 10 พันธุ์ ที่เป็นพันธุ์กล้วยที่ตรงตามรายชื่อพันธุ์กล้วยที่มีอยู่ในสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และได้พบเอกสารเป็นหนังสือราชการจากจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2468 ได้มีการถวายหน่อพันธุ์กล้วย ได้แก่ พันธุ์ปีแซ กาปา, ปิแซ ซูซู, ปีแซ ยะลอ, ปิแซ กูกู กูดอ, ปีแซ  ลือเมาะ มานิ, ปีแซ กาลอ, ปีแซ ยะรี บอยอ, ปิแซ ตาปง, ปีแซ สะราโต๊ะ และปีแซ สะรือเน๊ะ

ลงมือปลูกกล้วย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560

คุณปฏิวุฒิ เล่าต่อไปว่า หลังจากค้นพบหนังสือราชการและรายชื่อกล้วยโบราณแล้ว คณะผู้ดำเนินการได้ทำการสอบถามจากเกษตรกรในท้องถิ่นต่างๆ เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลแล้วได้ลงพื้นที่สำรวจตามหาพันธุ์กล้วยและรวบรวมพันธุ์กล้วยหายาก นำมาปลูกรวบรวมไว้ ณ งานวิชาการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บนพื้นที่ 2.19 ไร่ ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

นักวิชาการบันทึกข้อมูลทางพันธุกรรมพืช
คุณศรัญญา ใจพะยัก นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ

เราทำการยกร่องตามผังแปลงที่กำหนดจำนวน 36 แปลง ขุดหลุมปลูกในแปลงแต่ละแปลงจำนวน 7 หลุม ระยะปลูกระหว่างหลุม 3×3 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้วให้สูงขึ้นมาประมาณ 20 เซนติเมตร แล้วคลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักกับดินชั้นบนเมื่อใส่ลงไปแล้ว จึงเอาหน่อกล้วยที่เตรียมไว้ วางตรงกลางหลุมปลูก เอาดินล่างกลบ รดน้ำและกดดินให้แน่น ยอดของหน่อกล้วยควรสูงกว่าระดับดินประมาณ 10 เซนติเมตร ควรหันรอยแผลของหน่อให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน

การใส่ปุ๋ยควรใส่ในช่วง 2 เดือนแรก โดยให้ปุ๋ยยูเรียเดือนละครั้ง ในเดือนที่ 3 และ 4 ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1-2 กิโลกรัม ส่วนในเดือนที่ 5 และ 6 ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ต้นละ  1-2 กิโลกรัม

กล้วยตานี
กล้วยเต๋าเมือก

ศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมกล้วยหายาก

ขั้นต่อไป คณะทำงานจะศึกษาทางพันธุกรรมของกล้วยหายาก โดยใช้ลักษณะทางพันธุกรรมตามแนวทางของ Simmonds และ Shapherd ซึ่งทำให้สามารถจำแนกกลุ่มพันธุ์ทางพันธุกรรม โดยใช้จีโนมหรือสารพันธุกรรมหรือกรดนิวคลีอิกทั้งหมดในเซลล์สิ่งที่มีชีวิต

คุณปฏิวุฒิ อธิบายว่า กล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยป่ามีจีโนมเป็น AA และกล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยตานีมีจีโนมเป็น BB ซึ่งสามารถจำแนกได้ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม AA จำนวน 12 พันธุ์, AAA จำนวน 5 พันธุ์, AAB จำนวน 5 พันธุ์, ABB จำนวน 15 พันธุ์ และ BB จำนวน 2 พันธุ์

กล้วยตานี
กล้วยตานี

ส่วนกล้วยที่เกิดจากลูกผสมของกล้วยทั้งสองชนิดจะมีจีโนมแตกต่างกันไปโดยสามารถจำแนกกลุ่มพันธุ์ โดยใช้การรวมพันธุ์เป็นคะแนน สำหรับบ่งชี้ความสัมพันธ์ของกล้วยป่าเป็นบรรพบุรุษทั้ง 2 ชนิด โดยใช้ลักษณะภายนอก 15 ลักษณะ คือ สีของกาบใบ ร่องของกาบใบ ก้านช่อดอก ก้านดอกออวุล ไหล่ของกาบปลี การม้วนของกาบปลี รูปร่างของกาบปลี ปลายของกาบปลี การซีดของกาบปลี รอยแผลของกาบปลี กลีบรวมเดี่ยว สีของดอกเพศผู้ สีของยอดเกสรเพศเมีย สีของกาบปลี

กล้วยหิน

ต่อจากนั้นดำเนินการสกัดดีเอ็นเอและการวิเคราะห์ลำดับนิวโอไทด์ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม และดำเนินการจัดทำแปลงอนุรักษ์ ขยายพันธุ์ โดยการจัดทำแปลงสำรองพันธุ์กล้วยพื้นเมืองที่รวบรวมได้ ไปปลูกรวมในแหล่งอื่นๆ นอกจากในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ โดยการขยายพันธุ์และจัดทำป้ายเรียนรู้กล้วยพื้นเมืองหายาก

 บันทึกข้อมูล และทำแปลงอนุรักษ์ขยายพันธุ์

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ได้บันทึกชื่อพันธุ์ ชื่อท้องถิ่น วันที่เก็บ วันที่ปลูก พิกัด/สถานที่เก็บรวบรวมพันธุ์ เจ้าของพันธุ์ และแหล่งพันธุ์ รวมทั้งบันทึกสีของของลักษณะภายนอก 15 ลักษณะตามที่กล่าวมาแล้ว ตลอดจนบันทึกผลการสกัด DNA และการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ 

ในปี 2564 พบเพิ่มอีก 3 สายพันธุ์

กล้วยตานี
กล้วยเภา

1.กล้วยในแปลงจำนวน 1 พันธุ์ ที่สามารถนำมาแปรรูปในลักษณะแป้งกล้วย ใช้บริโภคสำหรับผู้รักสุขภาพ คือกล้วยแกง และกล้วยหายากเป็นที่นิยมของนักสะสมมีจำนวน 2 พันธุ์ คือ กล้วยตะเภา หรือกล้วยเภา และกล้วยงาช้าง กล้วย 2 ชนิดนี้เป็นที่ต้องการของนักสะสมกล้วยแปลก มีราคาจำหน่ายในท้องตลาดค่อนข้างสูง ประมาณ 250-500 บาท ต่อหน่อ ซึ่งน่าสนใจจะนำมาขยายผลให้ได้คุณค่าทางเศรษฐกิจ

การเตรียมแปลงปลูก

กล้วยร้อยหวี ชื่อ ปีอแซลืราโต๊ะชีฆะ มีจำนวนมากประมาณ 100 หวี

คุณปฏิวุฒิ บอกว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ได้จัดทำแปลงสำรองพันธุ์และขยายผล โดยสนับสนุนหน่อกล้วยให้แก่โรงเรียนบ้านโคกศิลา ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จำนวนทั้งหมด 15 พันธุ์ สถานีทดลองพันธุ์ไม้พิกุลทอง จำนวนทั้งหมด 36 พันธุ์ และในศูนย์วิจัยฯ ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความหลากหลายของกล้วยพื้นเมืองภาคใต้ และเป็นแปลงอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยพื้นเมืองตามพระราชดำริ

คุณศิริพร ศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมกล้วยหายาก

นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจเข้าชมศึกษาเรียนรู้พันธุ์กล้วยหายากตามพระราชดำริ ติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส 96140 โทร. 073-651-397 และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส 96000 โทร. 073-631-033