มหกรรมยางพารา 2564 วันแรกสุดคึกคัก ชาวสวนยางเมืองคอนแห่ร่วมงานคับคั่ง!

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัด มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายนนี้ ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ตอกย้ำความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการปลูกยาง และเป็นศูนย์กลางน้ำยางที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก พร้อมโชว์ศักยภาพประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการแปรรูปยางพาราระดับโลก ประเดิมวันแรกสุดคึกคัก เกษตรกรชาวสวนยางทยอยร่วมงานไม่ขาดสายตั้งแต่เช้า ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

จัดเต็มสาระประโยชน์ ครบเครื่องเรื่องยางพาราครบวงจร

มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” นำเสนอนิทรรศการความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมยางพารา การแสดงขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น วิถีชาวสวนยาง มีการจัดแบ่งโซนนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ โซนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ, โซนนิทรรศการ นครฯ เมืองแห่งยางพารา, โซนนิทรรศการ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีโซนนวัตกรรมยางพารา จากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้ง 7 เขตทั่วประเทศ, สถาบันวิจัยยาง กยท., ฝ่ายอุตสาหกรรมยาง กยท. เปิดตัวแอปพลิเคชัน Rubber Way เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำสวนยาง รวมถึงแอปฯ Rubbee ที่ กยท. รวบรวมข้อมูลทุกสิ่งเกี่ยวกับยางพารา พร้อมอัปเดตแบบเรียลไทม์ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น ราคาซื้อ-ขาย ข่าวสารกิจกรรม รวมไปถึงสิทธิประโยชน์, โปรโมชันต่างๆ ที่สมาชิกจะได้รับภายในแอปฯ เดียวภายในงาน มีเวทีเสวนาและกิจกรรมเวิร์กชอปต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราจากหลากหลายแง่มุม มอบสาระประโยชน์ให้ผู้ร่วมงานอย่างเต็มที่ รวมถึงมีโซนจับคู่ธุรกิจและเจรจาการค้า (business matching) เพื่อผลักดันเศรษฐกิจการค้ายางพาราไทยสู่การค้าระดับนานาชาติ โดย กยท. ได้ติดต่อประสานงานกับผู้ค้ายางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ตลอด 3 วันของการจัดงาน 

มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ยังมีนวัตกรรมนำพายางพาราสู่ผลิตภัณฑ์  ซึ่ง กยท. นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ในรูปแบบกิจกรรมแฟชั่นโชว์ ด้วยผลิตภัณฑ์จากยางพารา พร้อมสร้างความบันเทิงและเพลิดเพลินให้ผู้ร่วมงานด้วยการแสดงจากศิลปินวงแทมมะริน ที่ขนเพลงฮิตต่างๆ มาแสดงให้ชมกันแบบสดๆ รวมทั้งมีการแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ระดับประเทศ การประกวดธิดาชาวสวนยาง 2564 อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีโซนเมืองนครฯ มาร์เก็ต ตลาดสินค้าชุมชนต้นแบบ ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้มีตลาดและคู่ค้าที่ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่ง กยท. ได้รวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์จากยางพารามาจัดแสดงและจำหน่าย พร้อมส่งเสริมอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่ภูมิภาคอื่นๆ เป็นการพัฒนาธุรกิจยางพารา รวมทั้งช่องทางการตลาดของยางพาราทั้งระบบชาวสวนยางร่วมงานคึกคัก

บรรยากาศการจัดงานมหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ในวันที่ 8 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรก เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนจำนวนมากมารอเข้างานตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลา 08.30 น. ซึ่งเป็นเวลาเปิดให้เข้างาน โดยประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวสวนยางในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่รับทราบข่าวการจัดงานนี้จากหลายช่องทาง ทั้งจากเจ้าหน้าที่ กยท. จากสื่อในเครือมติชน อาทิ มติชน ข่าวสด และจากการบอกกันปากต่อปาก 

นางอุไร ทองจำรูญ เกษตรกรชาวสวนยางพารา อายุ 68 ปี เจ้าของสวนยางขนาด 20 ไร่ ใน ต.ปริก อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า สนใจงานนี้ เพราะได้รับการประชาสัมพันธ์จากเจ้าหน้าที่ กยท. ด้วยความสนใจจึงเดินทางมาร่วมงานกับหลานสาวตั้งแต่เช้า

“งานนี้จัดขึ้นเพื่อประชาชนทุกคน ตั้งใจมาเพราะอยากได้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสวนยางให้เกิดความยั่งยืน หวังว่าจะนำความรู้ไปปรับใช้กับสวนยางที่มีต่อไป” นางอุไร กล่าวผู้ว่าการ กยท. คาด เสาร์-อาทิตย์นี้ คนร่วมงานเยอะกว่าเดิม

ทั้งนี้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะ ได้เยี่ยมชมความเรียบร้อยของการจัดงานตั้งแต่ช่วงเช้า พร้อมต้อนรับและกล่าวทักทายประชาชนที่ทยอยมาร่วมงานอย่างอบอุ่น และให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า บรรยากาศของงานเป็นไปอย่างคึกคัก คาดว่าวันที่ 9-10 เมษายน ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีประชาชนเข้าร่วมงานเยอะกว่าเดิม

“มหกรรมยางพารา 2564 ซึ่งจัดโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีกิจกรรมน่าสนใจเยอะมาก โดยเฉพาะการจัดแสดงนวัตกรรมยางพารา ซึ่งมีผลต่อราคายางและรายได้ของเกษตรกร ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนพ่อแม่พี่น้องชาวนครศรีธรรมราช รวมถึงพี่น้องชาวใต้ในจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมงานนี้ เพราะเป็นงานใหญ่เกี่ยวกับยางพาราครั้งแรกของภาคใต้ มั่นใจว่าได้สาระความรู้กลับไปอย่างแน่นอน” 

สุดทึ่ง! นวัตกรรมตลาดนำการผลิต “กลุ่มสวนยาง ต.กันทรอม” สร้างรายได้ทะลุล้านในเวลาไม่ถึงปี

หนึ่งในโซนที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก คือ บูธนิทรรศการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคตะวันเฉียงเหนือตอนล่าง ที่จัดแสดงสินค้านวัตกรรม “ตลาดนำการผลิต” ช่วยต่อยอดธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ให้ได้มากกว่าเดิม

นายอภิชน กระจ่างแสง ผู้อำนวยการ กยท. จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรสวนยาง ต.กันทรอม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบ ที่ใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต จนได้รับรางวัลกลุ่มเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2565 ประเภททำสวน โดยกลุ่มเกษตรกรสวนยาง ต.กันทรอม นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับการผลิต จนสามารถผลิตยางก้อนถ้วยมาตรฐาน GAP ป้อนโรงงาน กจร. 4 ของ กยท. จ. ศรีสะเกษ เพื่อแปรรูปเป็นยางแท่ง STR20 ให้บริษัท เคมี อินโนเวชั่น จำกัด รวบรวมผลผลิตส่งขายประเทศญี่ปุ่น

นายจำพล สมรัตน์ ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ต.กันทรอม กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกลุ่มฯ ได้รับซื้อไม้ยางจากสมาชิก ส่งขายโรงงานในราคากิโลกรัมละ 2 บาท แต่ในอนาคตวางแผนพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ลงทุนก่อสร้างโรงเลื่อยแปรรูปท่อนไม้ยางพาราเป็นไม้แผ่นยางพารา ส่งขายโรงงานในกิโลกรัมละ 10 บาท

นอกจากนี้ ยังสร้างมูลค่าเพิ่มเศษไม้ยาง โดยนำมาเผาถ่าน เพื่อขายถ่านไม้และน้ำส้มควันไม้ สร้างรายได้ต่อรอบกว่า 4,000 บาท การดำเนินธุรกิจโดยใช้การตลาดนำการผลิต ส่งผลให้ทางกลุ่มฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นทะลุหลักล้านในระยะเวลาไม่ถึงปี สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรสนใจสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มฯ เพิ่มขึ้นนับร้อยรายเสวนา “แนวโน้มราคายางพารา” แม้ผันผวน แต่ยังช่วยชาวสวนอยู่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 เมษายน มีเวทีเสวนา หัวข้อ “แนวโน้มราคายางพารา” โดย นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นายเดชา มีสวน เลขาธิการสมาคมน้ำยางข้นไทย น.ส.โสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย นายวิมล ปั้นคง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา

รองผู้ว่าการด้านบริหาร กยท. กล่าวว่า กยท. กระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย เพราะต้องดูแลราคายางไม่ให้ตก จนกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวสวนยางทุกคน อย่างไรก็ดี พี่น้องชาวสวนยางมีความเข้มแข็ง อดทน และพร้อมทำงานกับภาครัฐอย่างแข็งขันจนสถานการณ์ดีขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นความท้าทายของ กยท. ที่จะต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ราคายางที่ดีที่สุด และทำให้เกษตรกรทุกคนยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างแข็งแกร่ง

เลขาธิการสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า เป็นการยากที่จะพยากรณ์ราคายาง เพราะมีหลายปัจจัยแทรกซ้อน แต่ก็ยังมีวิธีที่สามารถวิเคราะห์ทิศทางระยะสั้น ไม่เกิน 3-4 วัน ว่า จะไปในทิศทางใดได้บ้าง ซึ่งจากการที่สมาคมน้ำยางข้นไทย ทำงานร่วมกับรัฐบาล และ กยท. เห็นว่า ภาครัฐไม่ได้นิ่งดูดาย แต่มองหาวิธีเพิ่มมูลค่ายาง เพิ่มศักยภาพ และช่วยเหลือเกษตรกรเสมอ มีผลให้ราคายางเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถสู้กับคู่แข่งต่างชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้สินค้าหลายอย่าง ที่มีวัตถุดิบเป็นยางพารา เป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น ถุงมือยาง เพื่อใช้ในทางการแพทย์ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เผยว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของยางพารามีมูลค่าในตลาดถึงร้อยละ 40-70 ไม่ว่าจะเป็น ยางพาราแปรรูป ไม้ยางพารา ฯลฯ และแม้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ แต่ภาคการเกษตรในภาคใต้กลับเติบโต ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจภาคใต้ไม่ให้ตกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยางพาราของไทยมีอนาคตสวยงาม และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แต่ต้องจับตาการขยายตัวในอนาคตว่า จะมีประสิทธิภาพและมีผลผลิตเพียงพอหรือไม่

หากพิจารณาภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ราคายางพารามีความผันผวนจากหลายปัจจัย อย่างขณะนี้คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น กระทบต่อภาคการผลิตของไทย ที่ยังพึ่งพาพลังงานน้ำมันอยู่ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกวิกฤตการณ์ที่ทำให้ราคายางพาราลดลง เพราะโควิด-19 ทำให้ถุงมือยางที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติจากไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ต้องจับตาว่า เมื่อโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ความต้องการถุงมือยางจะเป็นอย่างไร  และจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืน“สวนยางยั่งยืน” เปลี่ยนสวนยางสู่ประชาธิปไตยทางอาหาร

การส่งเสริมให้เกิดสวนยางยั่งยืน หรือการเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่ายาง ที่มีสมดุลนิเวศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ กำลังเป็นที่สนใจของชาวสวนยางทั่วประเทศ เพราะช่วยส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี

ในงานมหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” วันแรก จึงมีเสวนาหัวข้อ “สวนยางยั่งยืน” เพื่อหาทางออกร่วมกันว่า ทำอย่างไรสวนยางยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้นจริง โดยมี นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านธุรกิจและปฏิบัติการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นายกำราบ พานทอง อุปนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ นายบุญส่ง นับทอง ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ และ ผศ. ดร.สาระ บำรุงศรี อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

รองผู้ว่าการด้านธุรกิจและปฏิบัติการ กยท. กล่าวว่า สาเหตุที่เกษตรกรไม่ทำสวนยางให้ยั่งยืน เป็นคำถามที่ กยท. ศึกษาและหาคำตอบมาโดยตลอด เพราะมีเกษตรกรเพียงหยิบมือที่ลงมือทำสวนยางให้ยั่งยืน แต่ทุกวันนี้ ความสำคัญของสวนยางยั่งยืนชัดเจนมากขึ้น ได้รับการผลักดันเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เกิดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนายางทั้งระบบ ที่ส่งเสริมการทำสวนยางแบบยั่งยืน ซึ่งจะต้องปฏิบัติได้จริง

“เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดสวนยางยั่งยืนให้ได้อย่างแท้จริง ต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ต้องคิดใหม่ ต้องใช้พื้นที่ในสวนยางอย่างเต็มที่ เราจะทำแบบเดิมอย่างที่ทำมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว” นายสุขทัศน์ เผย

อุปนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า จากการศึกษาและพยายามขับเคลื่อนให้เกิดสวนยางยั่งยืนด้วยตนเองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2531 พบว่า มีอุปสรรคหลายประการ ทั้งต้นทุน ราคา การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งแต่ละปัจจัยทำให้วิถีชีวิตผู้คนต้องเปลี่ยนเสมอ ถ้าเกษตรกรยืนหยัดอยู่แค่การปลูกต้นยางอย่างเดียว สวนยางยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกพืชอื่นๆ ด้วย ไม่พึ่งพาแต่ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก จะเป็นทางออกที่นำไปสู่ประชาธิปไตยทางอาหารตามมา

“นิยามสวนยางยั่งยืนของผม คือ สวนยางที่นำมาซึ่งประชาธิปไตยทางอาหาร เราสามารถมีผักรอบบ้านกินได้ เจ็บป่วยก็มียาสมุนไพร ขาดปลาก็สามารถหาปลาริมห้วยหนองมากิน สวนยางยั่งยืน คือ สวนที่เราเลือกได้ว่าจะกินอะไร และที่สำคัญปลอดสารเคมี นี่คือสิ่งที่อยากเห็น”

ขณะที่ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ กล่าวเสริมว่า ชาวสวนสามารถทำสวนยางยั่งยืนจนเกิดความมั่นคงได้ จากการปลูกต้นไม้อื่นๆ และทำการเกษตรอื่นๆ ควบคู่ไปกับการทำสวนยาง

“ต้นยางโตเร็ว เพราะมีต้นไม้อื่นสลัดใบเป็นปุ๋ย มีต้นสัก ต้นกันเกรา ต้นสะเดาเทียม ต้นไผ่ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เจริญเติบโตเร็ว ที่ผ่านมามีหน่วยงานเกี่ยวกับการยางเดินทางมาเยี่ยมชม เพื่อนำไปเป็นแนวทางใช้เป็นต้นแบบของสวนยางยั่งยืนทั่วประเทศต่อไป ถ้าทำให้เกิดความมั่นคงในสวนยางได้ จะเกิดความยั่งยืนทางอาหาร และจะนำมาสู่สวนยางยั่งยืนตามมาอย่างแน่นอน”

ด้าน ผศ. ดร.สาระ กล่าวว่า สวนยางยั่งยืนต้องมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. ความยั่งยืนเชิงระบบนิเวศ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 2. ความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจ รายได้ไม่ขาด 3. ความยั่งยืนทางสังคม มีความรู้สึกว่าตัวเองมีค่า ได้รับการยอมรับ และ 4. ความยั่งยืนเชิงสุขภาพ สามารถรับประทานอาหารที่ดี มียารักษา นอกจากนี้ เกษตรกรต้องพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการเรียนรู้จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา อยากเปลี่ยนแปลง อยากเชื่อมโยงกับเครือข่าย และจะทำให้เกิดความคิดที่จะทำสวนยางยั่งยืนเลี้ยง “ไก่พื้นเมือง” เป็นรายได้เสริมในสวนยาง

เนื่องจากราคายางพารามีความผันผวนสูงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราประสบปัญหารายได้ตกต่ำ จำเป็นต้องมีการปรับตัวประกอบอาชีพเสริมรายได้ เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน รัฐบาลจึงสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชแซมในสวนยางพาราและเลี้ยงสัตว์

การจัดงานมหกรรมยางพาราครั้งนี้ กยท. จึงจัดเวิร์กชอป หัวข้อ “การเลี้ยงไก่พื้นเมืองในสวนยาง” โดย ดร.ณปภัช ช่วยชูหนู อาจารย์ประจำหลักสูตรสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เพื่อสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางเลี้ยงไก่เป็นรายได้เสริมใต้ร่มยาง

ดร.ณปภัช กล่าวว่า ต้นยางพาราที่อายุเกิน 7 ปีขึ้นไป มีร่มเงา ทำให้ไม่มีวัชพืชในสวนยาง จึงไม่เหมาะสำหรับเลี้ยงแพะ แกะ หรือวัว เพื่อกินหญ้าในสวนยางพารา แต่เกษตรกรสามารถขุดบ่อเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่พื้นเมือง ในสวนยางพารา โดยไม่รบกวนการผลิตยางพารา

นอกจากไก่พื้นเมืองจะเป็นแหล่งอาหารโปรตีน ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ผู้เลี้ยงยังขายพันธุ์ไก่และเนื้อไก่เพิ่มรายได้ได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากไก่พื้นเมืองมีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ มีคอเรสเตอรอลต่ำ ส่งผลให้ไก่พื้นเมืองเป็นที่ต้องการของตลาดคนรักสุขภาพ โดยราคาไก่พื้นเมืองสูงกว่าไก่เนื้อราว 3 เท่าตัว จึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจสำหรับเลี้ยงเพิ่มรายได้ในสวนยาง

ดร.ณปภัช กล่าวด้วยว่า เมืองไทยมีไก่พื้นเมืองหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ไก่เหลืองหางขาว ไก่ประดู่หางดำ ไก่แจ้ ไก่คอล่อน ไก่เบตง ไก่แดง เป็นต้น เกษตรกรสามารถเลี้ยงไก่พื้นเมืองในสวนยางแบบปล่อยอิสระ เพื่อให้ไก่หากินเองตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากสวนยางมีความชื้นสูง จึงควรมีโรงเรือนเลี้ยงไก่ยกพื้นระแนง อยู่ระหว่างแถวต้นยาง และใช้วิธีการล้อมตาข่ายเป็นขอบเขตให้ไก่อาศัย และป้องกันศัตรูภายนอก รวมทั้งรองพื้นโรงเรือนด้วย แกลบ ขี้เลื่อย ฟางแห้ง ฯลฯ เพื่อช่วยดูดซับมูลเปียก ลดกลิ่น และป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ และอาจตัดแต่งกิ่งต้นยางบางส่วน เพื่อให้แสงลงพื้นดินได้ ช่วยลดความชื้นในโรงเรือน

“ตลาดต้องการไก่อายุ 12-16 สัปดาห์ น้ำหนักตัวเฉลี่ย 1.2-1.6 กิโลกรัม ซึ่งเป็นช่วงอายุและน้ำหนักที่ตลาดต้องการ สำหรับไก่มีชีวิต ราคาซื้อขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-90 บาท ส่วนไก่ชำแหละ ราคา 130-160 บาทต่อกิโลกรัม ไก่พื้นเมืองขายได้ราคาสูงในช่วงเทศกาลตรุษจีน สงกรานต์ ปีใหม่ เกษตรกรจึงควรวางแผนการผลิตให้ไก่สามารถจำหน่ายในช่วงเวลาดังกล่าว” ดร.ณปภัช แนะ

เกษตรกรชาวสวนยางพาราและประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงานมหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” จัดโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ถึงวันที่ 10 เมษายนนี้ ระหว่างเวลา 08.30-22.00 น. ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด