หัวโขนจิ๋ว ‘ภูเตศวร’ ย่อส่วนงานศิลปะไทยชั้นสูง โอท็อปดัง ที่ ‘สมุทรสงคราม’

“หัวโขน” เป็นงานศิลปะชั้นสูง ใช้สวมครอบศีรษะปิดบังส่วนหน้าของผู้แสดงโขน เป็นศิลปะประเภทประณีตศิลป์ที่ได้รับการสร้างสรรค์อย่างวิจิตรตระการตาตามแบบช่างไทย มีรูปลักษณะสวยงาม ถือเป็นงานศิลป์คู่วิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน

ด้วยความรักงานหัวโขน ยุธศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ ศิลปิน วัย 49 ปี ชาวแม่กลอง ใช้พื้นที่บ้านพัก เลขที่ 74 หมู่ที่ 1 ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สร้างหัวโขนด้วยทักษะฝีมือที่ร่ำเรียนมา แต่ปรับลดขนาดลงเป็น “หัวโขนจิ๋ว” ที่มีลักษณะสวยงาม น่ารัก ที่สำคัญเหมาะแก่การดูแลเก็บรักษาไว้ชื่นชมง่ายกว่าหัวโขนที่มีขนาดใหญ่

“ยุธศักดิ์” เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำหัวโขน เริ่มจากการเข้าไปเรียนในวิทยาลัยในวัง แนวอนุรักษ์ศิลปะไทยช่างสิบหมู่ ในโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเห็นว่า หากไม่อนุรักษ์การทำหัวโขนไว้นับวันจะสูญหายไป หลังเรียนจบได้รวมกลุ่มทำหัวโขนฝากร้านเพื่อนจำหน่ายในสวนจตุจักร กรุงเทพฯ เพราะเห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อ แต่วางขายได้ประมาณ 6 เดือน ปรากฏว่าขายได้เพียง 1 ชิ้น แม้ลูกค้าชมว่าสวยแต่มักบ่นว่ามีราคาแพง ในปี 2543 มีโอกาสได้ออกงานกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก ตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งได้รับเชิญไปสาธิตในงานนิยมไทย ที่สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ ซึ่งมีลูกค้าสนใจจำนวนมาก มียอดจำหน่ายและสั่งซื้อประมาณ 1,000 ชิ้น จึงตัดสินใจย้ายกลับบ้านเกิด มาตั้งชื่อกลุ่ม “ภูเตศวร” จัดทำหัวโขนจิ๋ว โดยได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อนามปากกาของ “อาจารย์แม้ว” ประพนธ์ วิพัฒนพร นักเขียนชื่อดังที่นับถือมานาน เพื่อเป็นสิริมงคล และหมายถึงพระศิวะเจ้า ผู้ทรงเป็นมหาเทพสูงสุดของศาสนาพรหมณ์ด้วย

“หัวโขนจิ๋วที่ทำเป็นแนวเชิงอนุรักษ์ที่ปัจจุบันหาดูยาก ทั้งวัสดุขั้นตอนการทำเป็นแบบโบราณทั้งหมด ใช้ทองคำแท้ โครงหน้าทำจากกระดาษสาลงรักปิดทองแบบโบราณ ประดับคริสตัล ส่วนฟันหรืองาช้างทำจากเปลือกหอยมุกที่ผ่านการเจียรเป็นชิ้นเล็กๆ ย่อส่วนเล็กลงมา การทำหัวโขนจิ๋วมีขั้นตอนการทำ 10 ขั้นตอน ใช้เวลาทำต่อชิ้น 15-30 วัน ส่วนใหญ่เป็นตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ ประมาณ 400 แบบ แต่คนไทยรู้จักประมาณ 40-50 หน้า โดยเฉพาะตัวเองของเรื่อง เช่น พระราม พระลักษมณ์ หนุมาน ทศกัณฐ์ และนางสีดา แบบหัวโขนที่ขายดีที่สุดเป็นหน้ายักษ์ เพราะการเขียนหน้ามีรายละเอียดค่อนข้างมาก ส่วนคนไทยที่นับถือด้านนาฏศิลป์จะนิยมบูชาหน้าพ่อแก่ ฤๅษี และหน้ายักษ์ ส่วนหน้าเทพ จะเป็นพระพิฆเนศ หรือช้าง ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ปิดด้วยทองคำแผ่นแท้ๆ ซึ่ง 1 หัวโขนต้องใช้ทองคำแผ่นประมาณ 100 แผ่น ส่วนเม็ดสีต่างๆ ที่ใช้ประดับมาจากแก้วคริสตัลแท้ ฟันกับเขี้ยวทำมาจากมุก”

“ยุธศักดิ์” กล่าวทิ้งท้ายว่า การดูแลรักษานั้น จากคุณสมบัติของทองคำแท้จะไม่หมอง ไม่ดำ เพียงดูแลไม่ให้ฝุ่นจับ อาจเก็บในตู้กระจก หรือนำโหลแก้วมาครอบกันฝุ่น หัวโขนจิ๋วอยู่ทนทานนานเป็นแรมปี ปัจจุบัน หัวโขนจิ๋วได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอท็อป ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดสมุทรสงคราม และได้รับคัดสรรเป็นสินค้าที่ระลึกมอบแด่ภรรยาผู้นำเอเปค ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งได้ต่อยอดทำหัวโขนจิ๋วเป็นกรอบรูปนูนต่ำ งานปั้นลอยตัวจากวรรณคดีรามเกียรติ์ หุ่นกระบอกในตัวละคร เช่น อิเหนา บุษบา เงาะ รจนา ทศกัณฐ์ และนางสีดา เพื่อเพิ่มมูลค่า

“สนนราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 500-60,000 บาทเศษ วางจำหน่ายในเครือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม ลาดพร้าว สีลม และภูเก็ต ดิเอ็มโพเรียม สุขุมวิท คิงพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี 3 สาขา ผู้สนใจอยากเรียนรู้ สอบถามได้ที่ โทร. (081) 775-4118”

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน