กรมวิทยาศาสตร์ฯ รวบรวมข้อมูล ‘เห็ดพิษ’ ในระดับโมเลกุล

เมื่อวันที่ 13  มิถุนายน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในแต่ละปีห้องปฏิบัติการพิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างเห็ดพิษจากที่ส่งมาตรวจจากทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก พบว่า ไม่สามารถแยกความแตกต่างของเห็ดพิษได้จากลักษณะภายนอก เพราะเห็ดพิษและเห็ดกินได้บางชนิดคล้ายคลึงกันมาก  โดยเฉพาะระยะดอกอ่อน และจากการประเมินสถานการณ์การเกิดพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551-2560) อุบัติการณ์ดังกล่าวพบมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีป่าเบญจพรรณหรือป่าหัวไร่ปลายนา หรือป่าชุมชนจำนวนมาก เห็ดพิษมีหลายชนิด บางชนิดมีพิษร้ายแรงถึงตาย เช่น เห็ดระโงกหิน  โดยปริมาณสารพิษ (toxin) ที่สามารถทำให้คนตายได้เท่ากับ 0.1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (เทียบเท่ากับการกินเห็ดสดขนาดปานกลางประมาณครึ่งดอก) จัดว่าเป็นสารพิษในเห็ดที่ร้ายแรงที่สุด

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การต้ม ทอด ย่าง ไม่สามารถทำลายพิษได้ เนื่องจากพิษทนความร้อน เห็ดบางชนิดมีพิษทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เช่น เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดบางชนิดรับประทานเพียงเล็กน้อยทำให้เกิดจินตนาการเป็นภาพหลอน    คล้ายยาเสพติด เช่น เห็ดขี้วัว และยังมีเห็ดบางชนิดที่โดยปกติตัวเห็ดเองไม่มีพิษ แต่อาการพิษจะปรากฏเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ภายใน    24 -72 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังรับกินเห็ดชนิดนั้น จะมีอาการหน้าแดง ปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็วและหายใจลำบาก หัวใจเต้นแรง เห็ดที่พบสารพิษชนิดนี้ ได้แก่ เห็ดน้ำหมึก เป็นต้น

นพ.สุขุม กล่าวว่า   การเก็บเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมารับประทาน มีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับอันตรายจากสารพิษ ดังนั้นการจะพิสูจน์ทราบว่าเป็นเห็ดชนิดใดหรือมีสารพิษชนิดใด ต้องอาศัยเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ   นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการพิษวิทยายังได้พัฒนาวิธีการตรวจจำแนกชนิด (species) ของเห็ด โดยใช้ดีเอ็นเอ บาร์โค้ด ซึ่งมีลักษณะจำเพาะ  ของการเรียงตัวของลำดับนิวคลีโอไทด์ ทั้งเห็ดพิษและเห็ดกินได้ เนื่องจากให้ผลวิเคราะห์ที่มีความจำเพาะ (specificity)   และความไว (sensitivity) สูง อีกทั้ง ยังช่วยค้นพบสายพันธุ์เห็ดพิษที่ไม่เคยมีรายงานการพบในประเทศไทย ทำให้มีฐานข้อมูลของดีเอ็นเอ บาร์โค้ด สำหรับเห็ดพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์ของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสายพันธุ์เห็ดพิษ  ในกรณีเกิดการระบาดจากเห็ดพิษ ปัจจุบันได้ข้อมูลดีเอ็นเอ บาร์โค้ด มากกว่า 200 ฐานข้อมูล และเมื่อฐานข้อมูลสมบูรณ์มากขึ้น ก็จะสามารถจัดตั้งฐานข้อมูลอ้างอิงในระดับพันธุกรรมโมเลกุล (DNA barcode reference) ของเห็ดพิษต่อไป