ไมยราบ มากด้วยสรรพคุณที่ไม่ควรมองข้าม

คอลัมน์ เก็บป่ามาฝากเมือง โดย กุมิสบ๊ะ รงโซะ ให้ข้อมูลว่า เมื่อพูดถึงต้นไมยราบ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงตอนสมัยเด็กๆ ที่เคยวิ่งเล่นซนแข่งกันเขี่ยต้นไมยราบให้ใบหุบ ใครทำได้เยอะคนนั้นชนะ ซึ่งบางครั้งก็อาจเผลอไปเหยียบต้นจนหนามตำเท้าก็มี พอโตขึ้นมาหน่อยฟันก็เริ่มผุ ปวดฟันก็บ่อย คนเป็นแม่ก็พลอยเหนื่อยในการหาหยูกยามารักษา แต่ยาที่แม่หามานั้น บ่อยครั้งมากที่เป็นต้นไมยราบ ท่านมักจะนำใบมาขยี้กับน้ำปูนใส บางครั้งก็นำใบหญ้าก้นบึ้งมาขยี้ผสมลงไปด้วย แล้วนำมาทาที่แก้มบริเวณที่มีอาการปวด

ส่วนรากของไมยราบนั้น ท่านจะนำไปต้มกับน้ำให้เดือดรอให้อุ่นแล้วนำมาอมประมาณ 3-5 นาที แล้วบ้วนทิ้ง ควรทำบ่อยๆ ประมาณ 4-5 ครั้งต่อวัน จนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ

นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ไปเรียนรู้เรื่องยาสมุนไพรจาก แม่หมอแมะ (นางตีเมาะ รงโซะ) หมอตำแย บ้านบันนังบารู ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมืองยะลา ท่านเล่าว่า เมื่อครั้งที่ท่านอยู่ไฟ (ช่วงที่ท่านคลอดบุตร) ท่านมักจะดื่มน้ำต้มที่มีสีแดงจากรากของไมยราบแทนน้ำ บางครั้งท่านก็ใส่น้ำตาลลงไปด้วย ชงเหมือนเครื่องดื่มทั่วไป เพราะท่านชอบในสีสันสีแดงที่สวยงาม แล้วยังคงสรรพคุณที่ทำให้มดลูกกระชับเข้าอู่เร็ว แก้อาการปวดเมื่อย ช่วยให้หลับง่าย แล้วยังช่วยในการขับเลือดคั่งหลังคลอดได้ดีอีกด้วย

ส่วน พ่อหมอฮามิ มะแซ ท่านเล่าว่า ในสมัยก่อนทุ่งนา ลำคลอง หนอง บึง หรือแหล่งน้ำต่างๆ มีความอุดมสมบูรณ์ มีปลาเล็กปลาใหญ่แหวกว่ายเต็มไปหมด สร้างความอิ่มเอมใจให้กับชาวบ้านอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะนักจับปลา ดังนั้น ชาวบ้านจึงคิดค้นวิธีป้องกันตัวจากแผลพิษปลากัด โดยการใช้รากของไมยราบที่อยู่ในดิน นำมาม้วนทำเป็นแหวนสวมใส่ขณะจับปลา เพราะมีความเชื่อว่า สามารถป้องกันตัวจากการโดนปลากัดหรือเมื่อโดนกัดแล้วจะไม่รู้สึกเจ็บ ซึ่งสามารถแก้พิษไปได้ในตัวทันที