มหัศจรรย์ผักริมรั้ว ครัวริมทุ่ง @ พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ปทุมธานี

ประเทศไทยมีผักพื้นบ้านมากกว่า 300 ชนิด ส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ริมห้วย หนอง คลอง บึง และป่าเขา กรมอนามัยได้ศึกษาผักพื้นบ้านในปี 2554 โดยเก็บตัวอย่างผักพื้นบ้านรวม 45 ชนิด จาก 4 ภาค ผลการศึกษาพบว่า ผักพื้นบ้านของไทยทุกชนิดให้พลังงาน โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตน้อยมาก จึงกล่าวได้ว่า ผักพื้นบ้านกินแล้วไม่ทำให้อ้วน

ผักเชียงดา

“ผักพื้นบ้าน” เป็นส่วนผสมในตำรับอาหาร ที่นิยมบริโภคในภูมิภาคต่างๆ อาทิ ภาคเหนือ ผักคราดหัวแหวน ใช้ทำแกง แก้อาการปวดฟัน ผักเสี้ยว นิยมแกงใส่ปลาย่าง มีรสเปรี้ยว งานวิจัยจากญี่ปุ่นระบุว่า มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวาน ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านที่คนไทยในภาคเหนือตอนบน แถบจังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน นิยมรับประทาน เพราะมีสรรพคุณทางยาเช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ช่วยละลายลิ่มเลือด ลดความอ้วน บรรเทาอาการหวัด ฯลฯ ทำให้ผักเชียงดาเป็นที่สนใจของผู้คนมากขึ้น

พลูคาว ภาพ กรมวิชาการเกษตร

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผักยอดนิยมได้แก่  ผักแพว หรือ  ผักไผ่ มีกลิ่นหอมระรวย  นิยมใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อวัว เป็นผักแกล้มกินกับลาบ ก้อย ใส่ในแจ่วฮ้อน   ผักแขยงหรือ ผักกะออม หรือผักลืมผัว มีกลิ่นหอมฉุนและให้รสเผ็ด เป็นเอกลักษณ์ นิยมใส่แกงหน่อไม้หรือแกงปลา เพื่อช่วยดับกลิ่นคาวปลา ผักโขม หรือผักหม  เป็นพืชที่ให้สารวิตามินเอสูง มีรสขมเล็กน้อย มีสรรพคุณแก้เลือดเป็นพิษ ดีพิการ เพ้อคลั่ง เหมาะสำหรับคนที่มีธาตุน้ำเป็นเจ้าเรือน ผักคาวตองหรือผักพูลคาว นิยมใช้เป็นผักสดแกล้มลาบหมู ลาบเนื้อ ลาบเป็ด ลาบปลา ก้อย ยำ น้ำพริก ผักคาวตองจัดอยู่ในประเภทผักที่มีรสเผ็ดร้อน เจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝน

ผักลิ้นห่าน

ส่วนผักพื้นบ้านในภาคกลางและภาคตะวันออกได้แก่ ตับเต่า บอนจีน หรือตาลปัตรฤๅษี ผักน้ำ ชะมวง สำหรับภาคใต้ แกงส่วนใหญ่มักมีสีเหลืองจากขมิ้น ซึ่งช่วยเรื่องการอักเสบในทางเดินอาหาร นิยมกินขนมจีนกับยอดมันปู ซึ่งมีรสฝาด มัน เป็นยาสมานแก้อาการอักเสบ นอกจากนี้ ยังนิยมกินผักเหลียง สะตอและผักลิ้นห่าน หรือผักหลักไก่ จัดเป็นผักพื้นเมืองที่หายากอีกชนิดหนึ่ง มักพบเจริญเติบโตและฝังตัวบนผืนทรายตามชายฝั่งทะเล ขึ้นอยู่ใต้ร่มต้นสน และผักบุ้งทะเล  จุดเด่นของผักลิ้นห่านคือ ความกรอบอร่อย ยอดอ่อนกินสดๆ รสชาติออกมันฝาดนิดหน่อย กินกับแกงไตปลา หรือขนมจีนน้ำยา อร่อยอย่าบอกใครเชียว

ตื่นตามหัศจรรย์ผักพื้นบ้านทั่วไทย

ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ 4-5 มิย.65

พลอากาศเอก เสนาะ  พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า “การจัดงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง“ผักริมรั้ว ครัวริมทุ่ง” ในครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง โดยชูประเด็นพืชผักพื้นบ้านที่เกิดตามริมรั้ว และริมทุ่ง  ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และส่งเสริมให้บริโภคได้หลากหลาย เช่น ผักหนาม แพงพวยน้ำ ผักเม็ก ผักปอดนา ผักก้านจอง มะเขือพวง ถือว่าเป็นผักคู่ครัว คู่สำรับอาหารไทย ที่สำคัญยังมีคุณค่าทางโภชนาการ มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร แต่ในปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้พืชผักพื้นบ้านมีปริมาณลดลงเพราะคนไม่รู้จัก  จึงไม่กิน ไม่ปลูก ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตและมีผลกระทบต่อพันธุกรรมพืชของประเทศไทย

พลอากาศเอก เสนาะ  พรรณพิกุล

ดังนั้น พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงจัดงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง “ผักริมรั้ว ครัวริมทุ่ง” ระหว่างวันที่ 4 – 5 มิถุนายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. พบกับพันธุกรรมผักพื้นบ้าน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการอบรมวิชาของแผ่นดิน และอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพึ่งตนเอง ชม ชิมและเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรตัวจริงในตลาดเศรษฐกิจพอเพียง ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ปทุมธานี หรือรับชมภาพบรรยากาศงาน ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ

การจัดงานในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการจัดแสดงพันธุกรรมผักพื้นบ้านกว่า 60 ชนิด ทั้งเป็นผักที่ตัดแต่งเป็นรั้ว ที่กินได้ ผักที่กินได้ทุกส่วน ทั้งหัว ลำต้น ยอดอ่อน ดอก ผล และฝัก พร้อมนำเสนอองค์ความรู้ สรรพคุณต่างๆ โดยหวังว่าผู้ที่ร่วมงานนี้จะรู้จักกิน รู้จักใช้ประโยชน์จากผักพื้นบ้าน และร่วมกันอนุรักษ์พันธุกรรมผักพื้นบ้านไว้ให้ลูกหลานต่อไป

ขอเชิญผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการผักริมรั้ว ครัวริมทุ่ง พบกับความมหัศจรรย์ของพันธุกรรมผักพื้นบ้านที่ขึ้นในท้องทุ่งกว่า 60 ชนิด ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมและเรียนรู้ ด้วยการสัมผัสกับพืชผักของจริงและมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ตนเองและครอบครัว รวมถึงการสร้างมูลค่าจากผักพื้นบ้าน พร้อมทั้งการนำมาปรุงเป็นอาหารรสเลิศที่หาชิมได้ที่งานนี้เท่านั้น

พิเศษ! สุดคุ้ม เปิดเข้าชมนิทรรศการมหัศจรรย์แห่งท้องทุ่ง ที่พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา สะท้อนวิถีชีวิตสังคมเกษตรไทยตั้งแต่เวลาย่ำรุ่ง ไปจนถึงค่ำคืนที่แสนสนุกครึกครื้นในงานเฉลิมฉลองต่างๆ ผสมผสานกับบทเพลงจากครูสลา คุณวุฒิ ที่ตอกย้ำบรรยากาศความสุขของวิถีเกษตรไทยพร้อมเรียนรู้วิชาของแผ่นดิน เพื่อการพัฒนาต่อยอดวิถีเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการอบรมวิชาของแผ่นดิน และอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยเปิดให้เรียนรู้ทั้งในรูปแบบ Onsite ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จำกัดผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 50 คนต่อวิชา

นอกจากนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสด ได้ทาง Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ อาทิ หลักสูตรวิถีเกษตรรอบบ้านปลอดสารเคมี  โดยอาจารย์บัญชา  เพ็ชรรักษ์ เจ้าของสวนผักรอบบ้าน จ.สิงห์บุรี  หลักสูตร 1 ไร่ รอบบ้านสร้างสวนเกษตร โดยอาจารย์พงศ์กรินทร์  แสงภู่ จากสวนรักกะจ้อนสวนธรรมชาติ จ.สุพรรณบุรี หลักสูตรรู้จักผึ้ง รู้จักประโยชน์ เรียนรู้การแปรรูปกล้วย และทำพิซซ่าผักพื้นบ้าน โดยอาจารย์สุพัตรา  อุสาหะ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

การจัดงานในครั้งนี้ยังคงคุมเข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด โดยผู้เข้าเยี่ยมชมงานต้องแสดงผลการรับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม หรือมีผลตรวจ ATK ที่ตรวจภายใน 72 ชั่วโมง พร้อมตรวจวัดอุณหภูมิทุกครั้งก่อนเข้างาน เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง หรือสามารถรับชมบรรยากาศภายในงานผ่านรูปแบบออนไลน์ได้ทาง Facebook พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ตลอดทั้ง 2 วัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-529-2212-13, 087-359-7171 คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือ facebook / Instagram /Line ID : @wisdomkingmuseum และ Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2565