อาการปวดเมื่อยกับสมุนไพรใกล้ตัว

คอลัมน์พืชใกล้ตัว โดย ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ อภัยภูเบศรสาร ระบุว่า กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือ Myofascial pain syndrome (MPS) นั้น เป็นกลุ่มอาการที่พบในผู้ป่วยที่ปวดเรื้อรังมาก โดยจะมีจุดที่กดเจ็บหรือจุดปวด ที่กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อพังผืดในบางรายมีการพัฒนาการปวดร้าวไปบริเวณอื่น

สาเหตุ อาจเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก หรือเอ็นกล้ามเนื้อมากเกินไป และใช้กล้ามเนื้อกลุ่มนั้นซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดภาวะที่กล้ามเนื้อหดตัว นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดจากกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ การใช้ท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือการที่ไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อเป็นเวลานาน เช่น เวลาใส่เฝือก เป็นต้น โดยอาการของการปวดก็จะมีหลากหลาย เช่น ปวดลึกๆ ปวดร้าว ในผู้ป่วยบางรายก็เป็นเฉพาะเวลาใช้กล้ามเนื้อ บางรายก็ปวดตลอดเวลา

ต้นรางจืด

การรักษาปัจจุบันจะมีทั้งการฉีดยาเฉพาะจุดที่ปวด การรับประทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ การนวดก็สามารถรักษาอาการปวดได้ การทำกายภาพบำบัด การทำ Stretch and spray (การพ่นด้วยความเย็นในจุดที่ปวดแล้วค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อ)

นอกเหนือจากยาแก้ปวดหรือวิธีบรรเทาปวดแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาในการรักษาอีกคือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอาการปวด เช่น ลักษณะอาชีพการงาน ท่าทางการทำงาน ปัจจัยทางจิตใจ ภาวะความเครียด ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

รางจืด

สำหรับสมุนไพรที่สามารถรักษาการปวดได้มีหลายชนิดด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น รางจืด (Thunbergia laurifolia) มีงานวิจัยที่ได้ทำการสกัดสาร Rosmarinic acid ออกมาจากใบรางจืดด้วยแอลกอฮอล์ นำมาทดสอบฤทธิ์การลดการอักเสบและฤทธิ์แก้ปวด ด้วยการป้อนให้สัตว์ทดลอง พบว่า สารสกัด Rosmarinic acid สามารถลดอาการอักเสบและสามารถลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่พบผลข้างเคียงในการศึกษา

กระดูกไก่ดำ (Gendarussa vulgaris Nees.) ชื่อนี้มิใช่กระดูกของไก่ แต่เป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณทางยามากมาย ซึ่งมีงานวิจัยว่า สารสกัดจากใบสามารถลดการอักเสบในสัตว์ทดลองได้ ซึ่งตรงกับวิธีการใช้ในภูมิปัญญาที่นำใบมาพอกไว้บริเวณที่มีการบาดเจ็บของกระดูก

ใบกระดูกไก่ดำ

สำหรับยอ ได้มีงานวิจัยที่ได้มีการรวบรวมสรรพคุณเอาไว้อย่างเป็นระบบ ในบางประเทศใช้ใบนำมาพอกบริเวณตามข้อที่อักเสบหรือมีอาการปวด และยังสามารถรับประทานเป็นผงแห้ง ลดอาการปวดได้ดีทีเดียว