ศรีตรังฯ ทุ่ม 4 พันล้านถุงมือยาง “ราคายางตอนนี้…เป็นเกมการเงิน”

สัมภาษณ์พิเศษ

“ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี” ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งเป็น ยักษ์ยางพาราของโลก ด้วยจำนวนโรงงานมากถึง 35 แห่งใน 3 ประเทศ ครองส่วนแบ่งการตลาด 12% พร้อมทั้งตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2.9 ล้านตันในปีนี้ และยังรั้งอันดับ 1 ใน 5 ผู้ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์รายใหญ่ของโลกอีกด้วย วันนี้กลุ่มศรีตรังฯก็ยังคงมีเป้าหมายที่จะเติบโต รองรับดีมานด์ยางจากทั่วโลก ด้วยเป้าหมายรายได้รวมที่ใกล้จะทะลุ 1 แสนล้านบาท

ขณะที่ยางพาราจัดเป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาขึ้น-ลงตลอดเวลา จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้ส่งออกยางในขณะนี้ “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA เปิดใจเป็นครั้งแรกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เกี่ยวกับทิศทางอุตสาหกรรมยางพารา

Q : ปลูกยาง 5 หมื่นไร่ภาคเหนือ

วีรสิทธิ์เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจกลุ่มศรีตรังฯในช่วงปี 2560-2561 ว่า ในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ คือ การปลูกยางพารา มีเป้าหมายปลูกยางในภาคเหนือ 50,000 ไร่ ตอนนี้ปลูกไปแล้วราว 80% ต้องรอให้ต้นยางโต 7 ปี ซึ่งได้เริ่มทยอยเปิดกรีดลอตแรกเมื่อปลายปี 2558 ซึ่งที่ผ่านมาศรีตรังฯ

มีโรงงานอยู่ที่ภาคใต้ แต่ไม่มีสวนยางแม้แต่ไร่เดียว แต่ที่ทำสวนยางก็เพื่อทำ R&D เกี่ยวกับพันธุ์ยางและการปลูกให้มีประสิทธิภาพที่สุด ขณะที่ธุรกิจกลางน้ำที่เป็นโรงงานผลิตยางแท่ง ยางแผ่น และน้ำยางข้น ถือเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มศรีตรังฯที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2530 โดยสร้างรายได้ถึง 90% และในช่วง 10 ปี

ที่ผ่านมามีการขยายไปที่ภาคอีสานเต็มที่ ปัจจุบันมีโรงงานทั้งหมด 35 โรงงานใน 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย 3 แห่ง และเมียนมา 1 แห่ง และปีนี้เตรียมลงทุนสร้างโรงงานใหม่อีกแห่งที่ภาคอีสาน

“เราเป็นบริษัทยางที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับยางพารา เพราะยางในโลกมีมากถึง 30 ชนิด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ ศรีตรังฯเป็นผู้นำในตลาดโลก ทั้งกำลังการผลิตและมาร์เก็ตแชร์ โดยสิ้นปีนี้น่าจะมีกำลังการผลิตเต็มที่ 2.9 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดในโลก ส่วนมาร์เก็ตแชร์ปีที่แล้วอยู่ที่ 12% และมีเป้าหมายขยายให้ได้ 20% ภายใน 3-5 ปีนี้”

Q : บุกธุรกิจถุงมือยางทั่วโลก

นอกจากการเติบโตของธุรกิจกลางน้ำแล้ว ในปีนี้ยังโฟกัสมาที่ธุรกิจปลายน้ำ คือการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ (แบรนด์ศรีตรังโกลฟส์) ปัจจุบันก็ยังเป็นผู้ผลิตถุงมือยางติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และเป็นรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกมากถึง 80% ตลาดหลักคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน อเมริกาใต้ เอเชีย ซึ่งแนวโน้มตลาดถุงมือยางสดใสมาก และปีนี้จะบุกตลาด CLMV มากขึ้นด้วย

จากนี้ไปจะรุกขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งถุงมือยางทางการแพทย์ที่ครองตลาดโรงพยาบาลอยู่แล้ว และหันมาบุกตลาดรีเทลถุงมือยางธรรมชาติอเนกประสงค์ ภายใต้แบรนด์ I”m Grove ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 14,000 ล้านชิ้น/ปี ใช้ยางพารา 5 หมื่นตัน/ปี และตั้งเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านชิ้น/ปีภายในปี 2563 โดยเตรียมที่จะขยายโรงงาน 2 อาคารในโรงงานเดิมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องอาคารที่ 2 ในช่วงไตรมาส 1/2562 และอาคาร 3 ปลายปี 2563

Q : ดีมานด์ยางตลาดโลก 12.9 ล้านตัน

สำหรับความต้องการยางของตลาดโลกนั้น ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าปีนี้ดีมานด์จะสูงถึง 12.9 ล้านตัน ซึ่งปกติดีมานด์จะเติบโตขึ้นปีละ 3% และก็พยากรณ์ 10 ปีข้างหน้าก็ยังจะโตต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม่ทัพกลุ่มศรีตรังฯมองว่า เหตุการณ์ราคายางผันผวนหนักตอนนี้มันสวนทางทุกทฤษฎี คือ ดีมานด์สูง ซัพพลายน้อย แต่ราคาลง “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดีมานด์และซัพพลายมีผลต่อราคายาง ถ้าดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ราคาก็พุ่งเลย หรือปีไหนที่ซัพพลายเยอะกว่าดีมานด์มาก ๆ ราคาก็จะตก แต่ปีนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้น เราก็คาดว่าราคายางปีนี้ต้องดีแน่ เพราะมีดีมานด์ทุกไตรมาส และสิ้นปีที่แล้วหลายฝ่ายก็บอกว่า ดีมานด์เยอะว่าซัพพลาย แต่ทำไมราคาดันขึ้นไปแล้วก็ทุบ สุดท้ายเราก็พบว่าเป็นพวกกองทุนต่างชาติ”

Q : เฮดจ์ฟันด์ถล่มราคายางร่วงแรง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2559 ราคายางลงต่อเนื่องเป็นเพราะว่าซัพพลายเยอะกว่าดีมานด์ แต่พอปีที่แล้วมีจุดเปลี่ยน ซัพพลาย-ดีมานด์กลับมาเท่ากัน มันเป็นทริกเกอร์ ทำให้พวกฟันด์ยักษ์ใหญ่เข้ามาเล่น เท่ากับว่ามีสตอรี่ให้เล่นแล้ว นี่เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคายางผันผวน ก็เหมือนกับตลาดหุ้นทุกวันนี้จะขึ้นจะลง เจ้าของยังไม่รู้เลย ไม่มีส่วนร่วมอะไรทั้งสิ้น คือจะทุบก็ทุบ

ดังนั้นทุกบริษัทยางกระทบหมด เพราะราคายางซื้อขายเปลี่ยนทุกวัน เปลี่ยนเช้า สาย บ่าย เย็นด้วยซ้ำ ใครข้อมูลเร็วสุดก็ซื้อได้ราคาที่ดี เหมือนหุ้นเลย เพราะว่าอิงกับตลาดฟิวเจอร์เซี่ยงไฮ้ โตเกียว ญี่ปุ่น ตอนนี้คนนอกอุตสาหกรรมมามีส่วนร่วมในการทำราคาให้ผันผวน พวกเฮดจ์ฟันด์เหล่านี้ไม่ใช่เล่นแค่ยางอย่างเดียว ปาล์ม น้ำตาล เหล็ก น้ำมัน ถ่านหิน โดนหมด

“เราก็ไม่ชอบนะ ราคายางต่ำ ลูกค้าผมก็ไม่ชอบ เขาบอกว่ามันไม่ยั่งยืน ยิ่งต่ำอย่างนี้ชาวสวนยิ่งไม่กรีด โค่นยาง ซัพพลายหาย ทั้งระบบไปหมด ตอนนี้เป็นเกมการเงินแล้ว เขาเทรดวันละ 7 แสนล้านบาท ตอนนี้เหลือ 4 แสนล้านแล้ว เงินเขามหาศาลมาก ๆ ผมเข้าใจเกษตรกรน่ะ ราคายางมันลงก็อยู่ยาก ต้องโวย เขาก็ต้องโวยผมจะไปโวยกองทุนก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า”

สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นแสดงว่า อเมริกาเศรษฐกิจดี ดอลลาร์จะแข็ง เงินจากประเทศกำลังพัฒนาจะกลับไปที่ดอลลาร์ พวกกลุ่ม Commodity จะต้องอ่อนลง แล้วตลาดหุ้นของประเทศกำลังพัฒนาก็จะต้องอ่อนลง เพราะเงินต้องกลับไปอยู่ในดอลลาร์ แต่ไม่เป็นอย่างนั้น สวนทฤษฎีหมด คือตลาดหุ้นบวก น้ำมัน ยางขึ้นนิดหน่อย บาทแข็งทั้ง ๆ ที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยบาทต้องอ่อน ทฤษฎีก็ใช้อะไรไม่ได้แล้วตอนนี้

ส่วนกรณีค่าบาทแข็ง ทางบริษัทได้มีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว ส่วนการรับมือกับราคายางผันผวน นโยบายให้ 3 ประเทศมาจับมือกันเหมือนโอเปก ไม่เกิดเพราะประเทศตัวเอง เขาก็ต้องเอาให้รอดก่อน เขาก็มองเราเป็นคู่แข่ง ไม่มีทางจับมือกันได้

แต่อีกปัญหาก็คือ เราไม่สามารถกำหนดราคาได้ เพราะตลาดที่กำหนดราคา คือ ตลาดญี่ปุ่น ตลาดสิงคโปร์ และตลาดเซี่ยงไฮ้ ที่เรียกว่าฟิวเจอร์มาร์เก็ต และในปีนี้มีกองทุนต่าง ๆ มีส่วนในการทำราคาด้วย จึงไม่ได้สะท้อนความจริงเสมอไป

ทั้งนี้ เห็นด้วยกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศเอง ไม่ต้องไปง้อตลาดต่างประเทศมาก ถ้าแปรรูปยางในประเทศได้เยอะ ก็สามารถดูดซับปริมาณไปเยอะ ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง

สำหรับแนวโน้มราคายางครึ่งปีหลังมองว่า ปลายปีน่าจะสดใส เพราะสต๊อกยางของจีนที่มีอยู่มากในตอนนี้ก็จะทยอยนำออกมาใช้ ราคาจึงมีโอกาสที่จะขึ้นได้ และไม่ควรจะตกต่ำไปมากกว่านี้ เพราะปีที่แล้วราคาต่ำที่สุดในรอบ 5-6 ปี แล้วปีนี้

ปัจจุบันก็ยังสูงกว่าปีที่แล้ว ภาพรวมยังดีกว่าปีที่แล้ว นี่คือก้าวย่างธุรกิจของกลุ่มศรีตรังฯ และมุมมองต่ออุตสาหกรรมยางพารา ที่กำลังตกอยู่ในภาวะสวนทางทุกทฤษฎี ดีมานด์สูง ซัพพลายน้อย แต่ราคาลง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์