ทำไม…ทุเรียนศรีสะเกษ จึงได้รับความนิยมมากขึ้น

“ทุเรียน” ยังคงเป็นแชมป์ผลไม้ยอดฮิตครองใจคนไทยและชาวต่างชาติติดต่อกันมายาวนาน ประเทศไทย มีแหล่งปลูกทุเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งมีจุดเด่นด้านคุณภาพต่างกัน ที่เหมือนกันทุกแห่งคือ ความอร่อย

การจัดประกวดทุเรียนศรีสะเกษ

ภาคอีสานมีหลายจังหวัดที่หันมาปลูกทุเรียน แม้จะมีความต่างจากทุเรียนทางใต้และตะวันออก เพราะเหตุผลทางภูมิประเทศ แต่ด้วยเทคโนโลยีการจัดการด้านเกษตรสามารถยกระดับคุณภาพสร้างมาตรฐานการปลูกชูจุดเด่นของแต่ละแห่ง ทำให้ยังคงรสชาติความอร่อยได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง เป็นที่นิยมชื่นชอบแห่ซื้อไปบริโภคกันคึกคัก สร้างรายได้อย่างดี จึงทำให้เกษตรกรหลายพื้นที่เปลี่ยนจากพืชไร่มาปลูกทุเรียนกันเพิ่มขึ้น

ทุเรียนของศรีสะเกษ เป็นอีกแห่งที่ติดอันดับความนิยมของประเทศ อันเป็นผลมาจากการปลูกในพื้นที่ภูเขาไฟโบราณที่มีธาตุอาหารสำคัญ สภาพภูมิอากาศไม่ชื้น เอื้อประโยชน์ให้เนื้อทุเรียนแห้งพอดี นุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะ ไม่ฉุนมาก รสชาติมันค่อนข้างหวาน ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค จนถูกเรียกว่า “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ”

อีกทั้งทุเรียนจากแหล่งนี้หลายสวนได้รับมาตรฐานคุณภาพ ทั้ง GAP และ GMP พร้อมตอกย้ำความมั่นใจทางการค้าด้วยการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทั้งหมดถือเป็นจุดเด่นของทุเรียนศรีสะเกษที่ได้รับความชื่นชอบเพิ่มมากขึ้น นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไม…ทุเรียนศรีสะเกษ จึงได้รับความนิยมมากขึ้น

เดือนมิถุนายน เป็นช่วงที่ผลผลิตทุเรียนศรีสะเกษเริ่มออกขายตามหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปเลือกซื้อและเที่ยวชมสวน การสั่งซื้อล่วงหน้าทางออนไลน์ ล้วนเป็นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของจังหวัดศรีสะเกษ ชาวสวนทุเรียนรายหนึ่งเผยว่า ทุเรียนในสวนของเขาใช้เวลาเปิดและปิดการขายจากช่องทางเหล่านั้นเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น

เจ้าหน้าที่เกษตรลงพื้นที่ใกล้ชิดชาวสวน

ทำความรู้จัก ทุเรียนศรีสะเกษ

ทุเรียนศรีสะเกษ เริ่มปลูกกันในปี พ.ศ. 2531 และให้ผลผลิตในปี พ.ศ. 2537 ปรากฏว่าผลผลิตมีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจ แต่มีเกษตรกรปลูกกันไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ

ปี พ.ศ. 2537-2539 เกษตรกรเริ่มปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมจากเดิม (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง) มาเป็นทุเรียน เงาะ รวมถึงผลไม้หลายชนิด เช่น ลำไย ลองกอง มังคุด สะละ สะตอ โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เข้าไปถ่ายทอดความรู้ จึงทำให้ผลผลิตยิ่งมีคุณภาพดีมากขึ้น ขายดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรรายอื่นเริ่มสนใจแล้วหันมาปลูกไม้ผลมากขึ้น โดยพื้นที่ผลิตไม้ผลส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอขุนหาญ อำเภอกันทรลักษ์ และอำเภอศรีรัตนะ

“ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” เกิดจากความลงตัวทางธรรมชาติจากพื้นที่ภูเขาไฟโบราณ แถบเทือกเขาพนมดงรัก ไม่ว่าจะเป็นดินที่ผุพังมาจากหินบะซอลต์ ที่มีธาตุอาหารสำคัญหลายชนิด สภาพภูมิอากาศของจังหวัดที่ไม่ชื้นจนเกินไป แสงแดดที่มีความเข้มแสงสูง ช่วยทำให้เกิดเป็นทุเรียนที่มีคุณสมบัติเฉพาะ มีเนื้อแห้งและนุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะ ไม่ฉุนมาก รสชาติมันค่อนข้างหวาน ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทุเรียนทั้งภายในและต่างประเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่า “ทุเรียนศรีสะเกษ เป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุด แห่งหนึ่งของประเทศไทย”

ทุเรียนและผลไม้หลายชนิดที่ปลูกได้ดีมีคุณภาพของศรีสะเกษ

ปัจจุบัน จังหวัดศรีสะเกษ มีเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน 2,350 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกทุเรียน 15,111 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 5,721 ไร่ โดยอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกมาก ได้แก่ ขุนหาญ กันทรลักษ์ และ      ศรีรัตนะ พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ หมอนทอง คาดการณ์ปริมาณผลผลิตทุเรียนในปีการผลิต 2565  นี้ ไว้ที่ 7,522 ตัน โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 1,315 กิโลกรัม ต่อไร่ รวมทั้งยังคาดการณ์ราคาจำหน่ายปลีกหน้าสวน กิโลกรัมละ 170-190 บาท และราคาในตลาดอำเภอเมือง ที่กิโลกรัมละ 190-210 บาท

ทั้งนี้ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษจะสร้างรายได้ คิดเป็นมูลค่า 1,353.96 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ย 180 บาท ต่อ กิโลกรัม)

 ขอบคุณ : สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ