ยะลา เปิดตัว ชุมชนความมั่นคงทางอาหาร

นายไพศอล หะยีสาแระ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา เปิดเผยว่า จังหวัดยะลา มีพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา 1,246,055 ไร่ และสวนไม้ผล 127,088 ไร่ ไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ลองกอง และมังคุด เป็นต้น ส่วนข้าวมีพื้นที่ปลูก 44,275 ไร่ พืชผัก 5,924 ไร่ และพืชไร่ 1,833 ไร่

ซึ่งจะเห็นว่าเกษตรกรมีการพึ่งพารายได้หลักจากยางพาราที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด จึงถือว่าความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในช่วงที่โรคใบร่วงยางพารากำลังระบาดเพิ่มขึ้นได้ส่งผลทำให้รายได้เกษตรกรลดลงเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นก็พบว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และภาวะสงคราม ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการตลาดมีข้อจำกัดมากขึ้นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา (ศวพ.ยะลา) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร เล็งเห็นว่าหากเกษตรกรพึ่งพารายได้จากพืชเชิงเดี่ยวเป็นหลัก ก็จะส่งผลให้มีความเสี่ยงเรื่องการขาดความมั่นคงทางอาหารในภาพรวม จึงได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาการจัดการผลิตพืชเพื่อเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้และความมั่นคงด้านอาหารของชุมชนนวัตกรรมวิชาการเกษตร ในพื้นที่ชุมชนต้นแบบตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 1,800 คน นส.จิตรานุช เรืองกิจ นักวิจัยผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวว่า ตำบลตาชี มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบและมีภูเขาล้อมรอบ มีทางน้ำไหลผ่านหมู่บ้านเหมาะสมแก่การเพาะปลูก เกษตรกรปลูกยางพารา เป็นหลัก พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ของชุมชนที่สามารถสร้างมูลค่า เช่น ทุเรียนพื้นเมือง ส้มแขก สะตอ กล้วยนางยา กล้วยหิน และพืชผัก

ศวพ.ยะลา ได้จัดเวทีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระดมความเห็น กำหนดเป้าหมายการเปลี่ยนแปลง และแผนงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งผู้เข้าร่วมในเวทีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบตัวแทนจาก อบต.ตาชี เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กลุ่มแปรรูปกลุ่มออมทรัพย์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน Young smart farmer และทีมผู้บริหาร และนักวิจัยจาก สวพ.8

โดยสรุปผลจัดเวทีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ 1) เป้าหมายการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการผลิตทุเรียน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชน ในด้านปริมาณ ด้านคุณภาพ และมาตรฐานการผลิต สร้างแบรนด์ทุเรียนตาชี, สร้างอัตลักษณ์ให้แก่ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง, ป้องกันกำจัดโรคและแมลง โดยเฉพาะหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน, พัฒนาการผลิต 9 พืชผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, พัฒนาการผลิตพืชผักอินทรีย์ และส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมี, พัฒนาการผลิตพืชที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นไปที่การปลูกผักยกแคร่, ปรับสภาพพื้นที่แปลงและการจัดการระบบน้ำในช่วงฤดูแล้ง และ สร้างเครือข่ายการพัฒนาการผลิตพืช การตลาด การขยายผล และการมีส่วนร่วมของชุมชน

2) แก้ไขปัญหา การใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง ในชุมชนมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อปริมาณ การใช้น้ำเพิ่มขึ้น จึงให้ความสำคัญกับการปลูกพืชที่ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ หรือพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) เชื่อมโยง การท่องเที่ยว ผ่านการซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในการวิจัยและพัฒนาได้มีจัดเวทีวิจัยสัญจร เยี่ยมบ้านเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจัดมาแล้ว จำนวน 8 ครั้ง ทำให้เกิดการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภูมิปัญญา ประสบการณ์ระหว่างเกษตรกร นักวิจัย นักพัฒนาและผู้เกี่ยวข้อง หมุนเวียนไปในพื้นที่ไร่นาของเกษตรกร

โดยจัดให้มีกิจกรรม ดังนี้ คือ 1) ของฝากจากเพื่อนบ้าน 2) เรื่องเล่าจากเจ้าของบ้าน 3) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำการเกษตร 4) การสาธิตความรู้วิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 5) การบรรยายสรุปการดำเนินงาน นายชัชนนท์ เต็มนาผู้ดำเนินรายการเวทีวิจัยสัญจรกล่าวว่า ผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ คือ เกิดความสัมพันธ์อันดีในหมู่คณะ ได้รับข้อคิดในการดำเนินชีวิตความรู้ ประสบการณ์ ในการปลูกพืช รู้สึกอิ่มใจและภาคภูมิใจที่ได้ให้ความรู้แก่ผู้อื่น ภูมิปัญญาใหม่จากผู้อื่น ได้รื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ฝึกทักษะการพูดในที่ชุมชนและได้นำเสนอผลงานต่อผู้อื่น

นายธัชธาวินท์ สะรโณ ผู้เชี่ยวชาญ สวพ.8 กล่าวว่าโครงการวิจัยและพัฒนาการจัดการผลิตพืชเพื่อเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้และความมั่นคงด้านอาหารของชุมชนนวัตกรรมวิชาการเกษตรนี้ จะทำให้ชุมชนเกษตรกร เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ตามกรอบแนวความคิด FOOD SECURITY ของ FAO ซึ่งมี 4 ด้าน คือ การเข้าถึงอาหาร ความพอเพียงและหลากหลายอาหาร คุณภาพอาหาร และเสถียรภาพทางอาหาร บวกกับการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในแผนแม่บทย่อยด้านการพัฒนาระบบนิเวศเกษตร ด้านการเพิ่มความสามารถของชุมชนในบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหารของชุมชนโดยชุมชน