เล็งแจกเงินอีก 6 พันล้าน เกษตรฯ ชง ครม.-หนุนปลูกข้าวโพด

ก.เกษตรฯ เล็งขอ ครม. 6 พันล้านบาท หนุนปลูกข้าวโพด 36 หมื่นบาท ต่อครัวเรือน หลังมีสัญญาณลอบนำเข้าจากเพื่อนบ้าน คาดจีดีพีเกษตรปี ’60 โต 2.5-3.5% ภาคใต้ขยายตัวมากที่สุด อีสานรายได้น้อยสุด 107,007 บาท ต่อครัวเรือน

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สารริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เรียกประชุมสมาคมพ่อค้าพืชไร่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เพื่อร่วมโครงการประชารัฐข้าวโพดเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เตรียมเสนอ ครม. ขอเงิน 6 พันล้านบาท ภายในมิถุนายน 2560 จ่ายให้เกษตรกรร่วมโครงการครัวเรือนละ 2,000 บาท ต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ หรือ 3 หมื่นบาท ต่อครัวเรือน

กรมส่งเสริมฯ ทำแผนโครงการประชารัฐ จูงใจเกษตรกรปลูกข้าวโพดหลังนา 3.36 ล้านไร่ คิดจากต้นทุนการผลิต 50% โดยต้นทุนผลิตข้าวโพดอยู่ที่ 4,400 บาท ต่อไร่ รวมงบทั้งสิ้น 6 พันล้านบาท

“การที่เกษตรกรจะได้เงินสนับสนุน เกษตรกรจะต้องนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อน และจ่ายจริงเมื่อขาย โดยจะรับซื้อข้าวโพดอายุ 120 วัน ในราคา 8 บาท ต่อกิโลกรัม โดยจะใช้พื้นที่ภาคกลาง 35 จังหวัด ปลูกข้าวโพดหลังนา เริ่มต้นปลูกเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนมีนาคม ซึ่งจะเลยฤดูฝนพอดี ทำให้ข้าวโพดคุณภาพดี”

สำหรับข้าวโพดบางส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ด่านกรมศุลกากรตรวจพบเพียง 1.24 แสนตัน หานำตัวเลขผลผลิตและการใช้ของเอกชน น่าจะมีลักลอบนำเข้า 2.8 ล้านตัน จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางป้องกัน ปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพด 7.41 ล้านตัน ขาดผลผลิต2.8 ล้านตัน แนวทางแก้ไข จะกำหนดมาตรฐานรับซื้อข้าวโพดที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น และต้องมีมาตรฐานการผลิตที่ดี (GAP)

“การลักลอบนำเข้าพันธุ์ข้าวโพด การแก้ไขคือ ขึ้นทะเบียนควบคุมผู้รวบรวมพันธุ์พืช ปัจจุบันมีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เป็นสมาชิกกับกรมส่งเสริมการเกษตร 116 บริษัท ยังไม่ได้เป็นสมาชิก 99 บริษัท แต่มีสัดส่วนจำหน่ายในตลาดถึง 30%”

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประมาณการภาวะเศรษฐกิจ (จีดีพี) การเกษตรตลอดปี 2560 คาดว่าขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยทุกสาขาการผลิตทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง บริการทางการเกษตร และป่าไม้ มีแนวโน้มขยายตัว คาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้ 160,835 บาท ต่อครัวเรือน แยกเป็นผลผลิตพืช 70.98% ผลผลิตสัตว์ 25.43% และรายได้อื่น 3.59% โดยจะมีกำไรสุทธิที่ 3%

วิเคราะห์รายภาคพบว่า ภาคใต้ขยายตัวมากสุด 3.6-4.6% มีรายได้เงินสดการเกษตร 222,622 บาท ต่อครัวเรือน ภาคอีสาน 2.4-3.4% มีรายได้ 107,007 บาท ต่อครัวเรือน ภาคกลาง 2.2-3.2% มีรายได้ 264,395 บาท ต่อครัวเรือน ภาคเหนือ 1.6-2.6% มีรายได้ 167,854 บาท ต่อครัวเรือน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน