เผยแพร่ |
---|
“ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทีแรกมองว่าเป็นอุปสรรคในการขยายผลสู่เกษตรกร แต่ปรากฏว่าวิกฤตได้กลายมาเป็นโอกาส ทำให้งานขยายผล ผลสำเร็จจากโครงการต่างๆ ทำได้เร็วขึ้น โดยผ่านการอบรมออนไลน์ทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ดำเนินการขยายผลการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของสำนักงาน กปร. เราเข้าถึงเกษตรกรทุกพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด และการอบรมในแต่ละครั้งได้เผยแพร่ไปสู่ผู้คนอีกหลายประเทศ ได้รับเสียงตอบรับจากทุกกลุ่มเกษตรกร ทุกเพศทุกวัย ทำให้กระบวนการขยายผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายสัตวแพทย์วิสุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานศึกษาพัฒนาปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร กล่าว
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษา ทดลอง และพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมทางการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้แนวทางไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พระองค์มีพระราชดำริเกี่ยวกับสัตว์เศรษฐกิจที่ทางศูนย์ฯ ทำการศึกษาทดลองเมื่อสำเร็จแล้วให้ขยายผลสู่ราษฎร ซึ่งควรเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย อาหารสัตว์มีในท้องถิ่น ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ทนต่อสภาพแวดล้อม สามารถนำมาเป็นอาหารในครัวเรือน และมีกำไรเมื่อนำไปขาย
ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการและประสบความสำเร็จคือ 4 ดำภูพาน ประกอบด้วย ไก่ดำภูพาน สุกรดำภูพาน โคเนื้อ โคทาจิมะและกระต่ายดำ โดยโคเนื้อภูพานเป็นโคที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มาจากโคทาจิมะ (Tajima) ซึ่งเป็นสายพันธุ์วากิว หรือโคญี่ปุ่น เป็นโคที่ให้เนื้อมีคุณภาพดี มีความนุ่ม ไขมันแทรก เกรดสูงกรดไขมันไม่อิ่มตัว นิยมนำมาทำอาหารเมนูสเต๊ก ชาบู สุกี้ ส่วนสุกรภูพาน เลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้ลูกดก เลี้ยงแบบปล่อยให้กินเศษอาหารที่เหลือได้ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ทนทานต่อโรค เมื่อขุนให้เนื้อแดงมากกว่าไขมันสามารถเลี้ยงได้ทั้งเป็นหมูเนื้อและหมูหัน
ไก่ดำภูพานเป็นไก่ที่หนังดำ เนื้อดำ กระดูกดำ และเครื่องในสีดำ มีสารเมลานินซึ่งมีสีดำกระจายตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ทุกส่วนเป็นสีดำ และสารเมลานินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดโอกาสการเป็นโรคมะเร็ง และออกฤทธิ์ช่วยชะลอความแก่ ส่วนกระต่ายดำภูพาน ทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาต่อยอดจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ผสมข้ามหลายสายพันธุ์จนได้พันธุ์ดำ กินหญ้าพืชผักและน้ำ ไม่ต้องให้อาหารเสริมเหมือนกระต่ายสวยงามทั่วไป ทำให้การเลี้ยงมีต้นทุนน้อย เนื้อมีไขมันน้อยเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ
“ในด้านเศรษฐกิจกระต่ายดำ พบว่าในเว็บไซต์มีการปลอมขาย โดยระบุว่าเป็นกระต่ายดำภูพาน ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่ แสดงว่าเรากำลังเป็นที่นิยมและมีการโพสต์ขายในราคาที่เกินจริงมากตัวละ 2,000-3,000 บาท จากราคาจริงอยู่ที่ 200-300 บาท ส่วนพ่อแม่พันธุ์ประกาศขายกันที่ราคา 20,000-30,000 บาท ขณะราคาจริงเพียง 1,000-2,000 บาทเท่านั้น ตอนนี้ราคาเมนูเนื้อกระต่ายค่อนข้างแพง เพราะฉะนั้นเกษตรกรหากต้องการบริโภคกระต่ายดำภูพานก็ต้องเลี้ยงเอง ถึงจะคุ้มค่า” นายสัตวแพทย์วิสุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร กล่าว
ด้าน นายเอกวิชญ์ เที่ยงภักดิ์ หัวหน้าฝ่ายขยายผล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เผยถึงการขยายผลผลสำเร็จของศูนย์ฯ สู่ราษฎรว่า การฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรในทุกกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จจะดำเนินการใน 22 หมู่บ้านกลุ่มเป้าหมายโดยรอบของศูนย์ฯ สนับสนุนให้จัดทำแปลงสาธิต เพื่อยกระดับขึ้นเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ดูแลศูนย์ฯ โดยเกษตรกร ปัจจุบันมี 32 ศูนย์ ซึ่งศูนย์เหล่านี้จะเป็นเครือข่ายในการขยายผลสู่ราษฎรรายอื่นๆ ต่อไป
“ในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จากที่ศูนย์ฯ ไม่ได้รับคณะต่างๆ เข้ามาฝึกอบรม แต่งานขยายผลก็ไม่ได้หยุด ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะ Facebook ที่เป็นการสื่อสาร 2 ทาง เกษตรกรและเจ้าหน้าที่สามารถโต้ตอบถ่ายทอดงานซึ่งกันและกันได้ตลอดเวลา และจากที่กิจการทางธุรกิจหยุดการดำเนินการทำให้เกิดการอพยพแรงงานกลับบ้านเพิ่มมากขึ้น ประชากรส่วนนี้ได้เข้าไปเรียนรู้ที่ศูนย์เครือข่ายแล้วนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเอง อย่างน้อยก็ทำให้มีกินมีใช้ในครอบครัวไม่ขัดสน ในภาวะวิกฤตโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติก็ยังสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดพัฒนาเป็นกิจการของตนเองเลี้ยงครอบครัวต่อไปได้เป็นอย่างดี” นายเอกวิชญ์ เที่ยงภักดิ์ กล่าว
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565