ปลาเค็มกางมุ้ง หาดสำราญ สู่การแปรรูป สร้างเงินหมื่น

อำเภอหาดสำราญ เป็นอำเภอที่ติดทะเล ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทะเล จึงมีสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นแหล่งอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อวัตถุดิบทางทะเลมีปริมาณมาก สามารถนำไปจำหน่ายในตลาดและนำมาแปรรูปทำเป็นปลาเค็มไว้รับประทาน

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ให้คำแนะนำกลุ่ม

กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ให้สามารถบริหารจัดการกลุ่ม แปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็งในอนาคต รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น สำนักงานเกษตรอำเภอหาดสำราญ โดย คุณนนท์นภนต์ นาพอ เกษตรอำเภอหาดสำราญ และ คุณจันจิรา ขันเงิน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ เกษตรตำบลหาดสำราญ ส่งเสริมให้กลุ่มปลาเค็มกางมุ้ง จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ตามแนวทางการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตร

คุณเกษร ณ พัทลุง ประธานวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกวา เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการทำปลาเค็มกางมุ้ง ชาวบ้านเริ่มมีการนำปลาสดมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ปลาเค็มออกวางขาย ซึ่งสามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี จึงเกิดรวมกลุ่มกันเพื่อการแปรรูปอาหารทะเล เป็นการยืดอายุการเก็บรักษา การผลิตปลาเค็มแบบเดิมๆ นั้นไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน เนื่องจากจะใช้การตากแดดในที่โล่งแจ้ง ซึ่งอาจจะมีแมลงวันมาตอมมากมาย ทำให้ดูไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย จึงพยายามคิดค้นหาวิธีการต่างๆ ที่จะเก็บรักษาปลาเค็มไว้ได้นาน จนพัฒนามาใช้มุ้งหรือตาข่ายช่องขนาดเล็ก มาคลุมแผงปลาเค็มไว้ จึงเรียกว่า “ปลาเค็มกางมุ้ง” เป็นการแปรรูป เพื่อการถนอมอาหารด้วยวิธีการหมักเกลือร่วมกับการทำแห้ง ซึ่งได้จากการนำปลาสด เช่น ปลาสีเสียด ปลากุเลา ที่ตัดแต่งแล้วมาทำเค็มโดยใช้เกลือคลุกเคล้าให้ทั่วแล้วทิ้งไว้ในระยะเวลาที่เหมาะสม แล้วทำให้แห้งโดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ (ตากแดดแบบกางมุ้ง) เพื่อลดความชื้น

ปลาเค็มกางมุ้ง
เกษตรตำบลลงพื้นที่สนับสนุนการทำงานของกลุ่ม

 

ขั้นตอนการทำปลาเค็ม

ปลาเค็มกางมุ้งส่วนใหญ่จะใช้ปลาสีเสียด เพราะเนื้อมีรสชาติดี บางครั้งก็ใช้ปลากุเลา โดยการรับซื้อปลาสดมาจากชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งในจังหวัดตรังและนครศรีธรรมราช โดยปลาสีเสียดและปลากุเลาจะมีขนาดน้ำหนัก 2-14 กิโลกรัม ต่อตัว ความยาว 20-50 เซนติเมตร โดยขั้นตอนของการทำปลาเค็มกางมุ้ง นำปลาสีเสียดสดล้างด้วยน้ำสะอาด ขูดเกล็ดปลาออกจนหมด ควักเอาไส้พุงปลาออก แล้วนำไปล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง กรีดเนื้อปลาเป็นแนวยาวตามลำตัว เพื่อให้สามารถคลุกกับเกลือเข้ากันได้ดี หมักทิ้งไว้ในถังขนาดใหญ่ประมาณ 1-2 วัน นำปลาออกมาล้างน้ำเปล่า 3 น้ำ นำไปตากแดดในมุ้งขนาดใหญ่ กว้าง 2 เมตร ยาว 9 เมตร ซึ่งบรรจุปลาได้ 200-300 กิโลกรัม ป้องกันไม่ให้แมลงวันตอม ตากแดดประมาณ 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับแดดในช่วงฤดูนั้นๆ ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนตู้พลังงานแสงอาทิตย์จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ทางกลุ่มใช้ ซึ่งจะช่วยให้การตากปลาเค็มของกลุ่มมีความสะดวกยิ่งขึ้น และสามารถทำได้ทุกฤดูกาลแม้กระทั่งฤดูฝน

ทำการแพ็กปลาเค็มส่งลูกค้า

ปลาเค็มกางมุ้งหาดสำราญ สร้างรายได้งาม เนื่องจากมีรสชาติดี กลมกล่อม สะอาด และปลอดภัย โดยสถานที่จำหน่าย “ปลาเค็มกางมุ้ง” มีที่ทำการกลุ่ม ที่บริเวณชายหาดหาดสำราญ และในงานเทศกาลต่างๆ ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจัดขึ้นภายในจังหวัด โดยปลาเค็มปลาสีเสียด (แดดเดียว เนื้อส้ม) ขายราคากิโลกรัมละ 300 บาท ปลากุเลา (แดดเดียว) ขายราคากิโลกรัมละ 600 บาท และปลาใบ (แดดเดียว ปลาหวาน) ขายราคากิโลกรัมละ 300 บาท สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กลุ่มเป็นอย่างดี

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม

 

บรรจุภัณฑ์ สะอาด ปลอดภัย

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกวา” เลขที่ 141/6 หมู่ที่ 6 ตำบลหาดสำราญ อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง โทรศัพท์ 097-083-7844 คุณเกษร ณ พัทลุง หรือสำนักงานเกษตรอำเภอหาดสำราญ โทรศัพท์ 075-208-785