ผู้เฒ่าฝั่งแวน อำเภอเชียงคำ สร้างกลุ่มอาชีพ เพิ่มรายได้สู่ชุมชน

แม้ว่าทุกวันนี้สถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นั้น ยังพบอยู่ให้เห็นทุกวัน ทำให้ชาวบ้านหลายคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ส่วนใหญ่เริ่มต้องปรับการอยู่ในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งจะพบว่าหลายคนเริ่มจะหันทำงานเป็นเจ้านายตัวเอง และอีกหลายคนก็เริ่มที่จะหันมากลับบ้านเกิดเพื่อที่จะทำไร่ทำสวน หางานเล็กๆ น้อยๆ ทำ

ทาเคลือบด้วยแล็กเกอร์อย่างดี

ก็เหมือนที่บ้านฝั่งแวน หมู่ที่ 11 ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เห็นจะมีผู้สูงอายุค่อนข้างที่จะเยอะ บวกกับสถานการณ์ในเรื่องของโควิด-19 ก็ทำให้วิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านแห่งนี้เปลี่ยน ทั้งนี้ ทางกำนันตำบลเชียงบาน ซึ่งเป็นชาวบ้านฝั่งแวนแต่กำเนิดก็ได้หาสิ่งต่างๆ มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดรายได้แก่ชาวบ้านและชุมชน สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งผู้สูงอายุและชาวบ้านก็ไม่ต้องมานั่งเครียดอยู่แต่ที่บ้านในการที่จะออกไปไหนมาไหนไม่ได้ ทั้งนี้ ก็ได้มีการรวมกลุ่มที่ชื่อว่าสัมมาชีพขึ้นเพื่อที่จะมาร่วมทำการสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจากไม้ไผ่ให้เป็นเฟอร์นิเจอร์จากธรรมชาติที่มีมูลค่าที่สูงขึ้นด้วย

ร่วมกันทำในหมู่ผู้สูงอายุ

คุณนพดล เข็มเพชร หรือ กำนันเอฟ กำนันตำบลเชียงบาน เป็นหนึ่งในชาวบ้านฝั่งแวน เล่าว่า การที่ตนเองได้นำชาวบ้านทั้งวัยกลางคน รวมทั้งผู้สูงอายุมาร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ผลงานเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนนั้นสืบเนื่องมาจากทางหน่วยราชการจังหวัดพะเยาและอำเภอเชียงคำได้เล็งเห็นถึงวิกฤตสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จึงประชุมหารือถึงเรื่องของการที่ชุมชนจะสร้างรายได้ขึ้น โดยสิ่งที่ทำนั้นพบว่าเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าและต่อยอดให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ขาแข็งแรงทนทาน

ทั้งนี้ ได้งบประมาณมาส่วนหนึ่ง จึงได้เริ่มมีการวางแผนเริ่มทำขึ้นมา ด้วยตนเองพบว่าหมู่บ้านของตนเองนั้นมีไม้ไผ่ที่ปลูกกันเยอะ ทั้งพันธุ์ซางดำและไม้รวกดำ อีกทั้งทางผู้สูงอายุส่วนหนึ่งได้ไปร่ำเรียนวิชาการทำเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุธรรมชาติด้วย นอกจากนั้น ในช่วงนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มที่จะทำการเก็บเกี่ยวนาข้าวเสร็จแล้วทำให้หลายคนได้ว่างงานลงไป เพราะชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำสวนทำนาเท่านั้น ดังนั้น จึงเริ่มมีการพูดคุยประชุมก่อนที่จะมาเริ่มทำการแปรรูปไม้ไผ่ให้เป็นชิ้นงานที่น่าจับจองขึ้น ทั้งนี้ ชาวบ้านที่รวมกลุ่มสัมมาชีพนี้มีทั้ง 15 คนด้วยกัน โดยแต่ละคนก็มีฝีมือแตกต่างกันไป แต่ชิ้นงานที่ออกมานั้นไม่ว่าจะเป็นแคร่ไม้ไผ่หรือกระทั่งชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้ไผ่ก็มีความสวยสดงดงาม พร้อมที่จะให้ลูกค้าที่ได้เห็นได้สั่งจอง สั่งซื้อไปไว้ที่บ้านหรือร้านอาหารของตัวเอง

โครงสร้างและขึ้นโครง

ลำไม้รวกใช้ประโยชน์ในการตกแต่งบ้านหรือส่วนต่างๆ ไผ่รวกมีความสวยงามเพราะขึ้นเป็นกอ ลำเรียวเปลาตรง กิ่งใบน้อยและอยู่เฉพาะตอนปลายของลำเท่านั้น การใช้ประโยชน์ในด้านเครื่องอุปโภค และอื่นๆ คือ ทำรั้ว ทำคันเบ็ด ทำเครื่องจักสาน เครื่องมือกสิกรรมบางอย่าง โป๊ะน้ำตื้น ใช้ก่อสร้างเป็นส่วนต่างๆ ของบ้านในชนบท ใช้ทำเป็นไม้อัด เครื่องตกแต่งบ้าน ในประเทศพม่าใช้ไผ่รวกทำด้ามร่ม เป็นบางที่ก็เรียกว่า “ไผ่วัด” (Kyanug-wa)

กำนันเอส ยืนหน้าสุด ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ

ประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ การปลูกเป็นแนวกั้นลม เป็นไม้ค้ำยันพืชกสิกรรมต่างๆ การขยายพันธุ์ของไผ่รวกทำได้ง่าย มีความทนทานต่อความแห้งแล้ง และดินที่มีความเค็มทำให้มีการปลูกได้เกือบทั่วประเทศไทย

ด้านสมุนไพร ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรและมีสรรพคุณ คือ ราก ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ แก้หนองใน ขับโลหิตระดู แก้มุตกิดระดูขาว แก้ไข้กาฬ แก้ไข้กาฬมูต แก้กระหายน้ำ แก้เบาแดง บำรุงเสมหะและโลหิต ชำระเสมหะและโลหิต ประสะโลหิต แก้ไข้พิษ ขุยไผ่ แก้ทางปัสสาวะ แก้เสมหะ แก้บิด แก้โรคตาแดง แก้หืดไอ แก้ไข้  ใบ ขับฟอกล้างโลหิตระดูที่เสีย ประสะโลหิต ล้างทางปัสสาวะ ผล แก้โรคตา แก้หืด ไอ แก้ไข้อันผอมเหลือง แก้ฟกบวม แก้ไข้ หน่อไม้ แก้หัวริดสีดวงทวารหนัก บำรุงร่างกาย ตา แก้สตรีตกเลือดไม่หยุด ขับปัสสาวะ ดูดลมในกระเพาะอาหาร แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ฝี แก้กาฬเลือด หนาม แก้พิษฝีต่างๆ แก้ไข้ แก้ไข้พิษ แก้ไข้กาฬ

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เป็นพิษต่อตัวอ่อน ลดน้ำตาลในหนูที่เป็นเบาหวาน ต้านแบคทีเรีย ลดการสร้างอสุจิ ลดการผสมพันธุ์ในหนูฆ่าอสุจิ ลดคอเลสเตอรอล ลดพิษของสีแดง บำรุงผมและผิว ฆ่าตัวอ่อน ต้านการกลายพันธุ์ ต้านไวรัส ต้านมะเร็ง ลดอาการลมหายใจเหม็น ใช้ในเครื่องสำอางเพื่อดับกลิ่นและฆ่าเชื้อ เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ใช้ในการถูนวดร่างกาย ไล่แมลง ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และราในเนื้อ กระตุ้นภูมิต้านทาน ทำให้แท้ง รักษาโรคอ้วน

ด้านเป็นพืชอาหาร ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร คือ หน่อ กินได้ เมื่อต้มหลายครั้งหรือต้มใส่ใบย่านางด้วย จะทำให้หน่อไม้ไผ่รวกมีรสชาติดีขึ้นและเป็นที่นิยมกัน นอกจากนั้น เมื่อปอกทำความสะอาดหน่อแล้ว ต้มอัดใส่ปี๊บไม่ให้อากาศเข้าสามารถเก็บเอาไว้นอกฤดูกาล ทำให้มีการทำ “หน่อไม้ปี๊บ” หน่อไม้ควรต้มน้ำรินน้ำทิ้งอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อลดความขม

คุณนพดล กล่าวต่ออีกว่า ตัวอย่างในการที่จะเริ่มทำแคร่ไม้ไผ่นั้น เบื้องต้นได้ประกาศภายในหมู่บ้านว่าบ้านไหนมีไม้ไผ่ เช่น ไม้ไผ่ซางดำหรือไม้รวกดำบ้างก็ขอรับบริจาคให้นำมาไม้ที่อาคารอเนกประสงค์ภายในใจกลางของหมู่บ้านเพื่อที่จะได้เริ่มทำการสร้างชุดเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ขึ้นมา โดยจะมีการวัด การเจาะ การผ่า รวมทั้งการขัดเพื่อไม่ให้ไม้ไผ่ที่ผ่าแล้วนำมาประกอบจะบาดมือหรือก้นของผู้ซื้อไปได้ เมื่อทำการตัดวัดได้จำนวนที่ต้องการแล้วก็จะมาเริ่มทำการประกอบให้เป็นรูปร่างขึ้นมา พร้อมทั้งนำแล็กเกอร์เคลือบสีไม้มาทาเพื่อให้อยู่คงทนและสวยงามมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการทำแต่ละวันจะได้ชิ้นงานอยู่ที่ 3-4 ชิ้นต่อวัน ด้วยเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นนั้นมีรูปลักษณะค่อนข้างที่จะใหญ่ จึงทำให้ใช้เวลาพอสมควร

โดยแคร่นั่งนั้นจะมีขนาดความกว้าง 90 เซนติเมตร และยาว 2 เมตร ส่วนโต๊ะนั่งที่มีเก้าอี้พร้อมนั้นก็จะมีขนาดแตกต่างกันไป และหลังจากที่ตนเองได้ถ่ายรูปชิ้นงานเหล่านี้ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวนั้นก็เริ่มมีผู้ที่สนใจสั่งจองเข้ามามากมาย โดยส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ ในอำเภอเชียงคำ ส่วนต่างจังหวัดนั้นยังไม่มี ทั้งนี้ ราคาของเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้สำหรับแคร่จะอยู่ที่ราคา 600 บาท ส่วนชุดโต๊ะเก้าอี้จะอยู่ที่ราคา 1,200 บาท ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้เป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังใช้เวลาว่างจากหลังการทำนาให้เป็นประโยชน์ด้วย อีกทั้งชาวบ้านที่เข้ามารวมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็ยังวิตกเรื่องของสถานการณ์โควิดด้วยเช่นกัน

ด้าน คุณส่อง แสงศรีจันทร์ อายุ 65 ปี ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านฝั่งแวน ได้กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ทางกำนันตำบลเชียงบาน และส่วนราชการจากทางจังหวัดได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาอาชีพเสริมสร้างรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิดด้วย ซึ่งทำให้พวกตนเองได้เริ่มมีความคิดที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่กำลังทำอยู่นี้ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอีกด้วย อีกทั้งการทำชิ้นงานเหล่านี้ก็ยังเป็นการสร้างความสนุกสนานในหมู่คณะ ไม่ก่อให้เกิดความเครียดด้วยเช่นกัน สำหรับผลงานที่ทำออกมานี้ตนเองหวังว่าผู้ซื้อจะชอบใจเพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนตั้งใจทำเป็นอย่างดีถึงแม้ราคาจะไม่มากมายเหมือนขายตามห้างหรือร้านดังๆ ประกอบกับตนเองอยากให้ลูกหลานที่อยู่ต่างจังหวัดได้เห็นฝีมือของการทำงานพวกตนเองด้วย ว่าสิ่งที่ทำออกมานี้คือสิ่งที่หลายคนตั้งใจร่วมกันทำ มากกว่าจะไปห่วงเรื่องสถานการณ์โควิดทำให้ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก เงินทองเริ่มร่อยหรอลงไป แต่หากพวกเราหันมาเริ่มทำสิ่งที่ใช้งานได้โดยไม่ต้องลงทุนแล้วตนเองเชื่อว่าหลายคนก็จะสามารถทำให้เกิดมูลค่ารายได้ที่งอกงามเหมือนกับกลุ่มสัมมาชีพบ้านฝั่งแวนทำอยู่ในขณะนี้เช่นกัน

หากท่านใดสนใจเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ไผ่นี้ สามารถติดต่อสอบถามมายังหมายเลขโทรศัพท์ 088-299-6362 คุณนพดล เข็มเพชร หรือ กำนันเอฟ ได้ตลอดเวลา