วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง ลพบุรี ติดโซลาร์รูฟท็อป ปลดล็อกค่าไฟแพง

ยุคนี้ ต้นทุนค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นแทบทุกอย่าง สวนทางกับตัวเลขรายได้ที่ปรับตัวลดลง เพื่อความอยู่รอด อะไรที่ประหยัดได้ก็ต้องช่วยกันประหยัด โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า การปิดไฟที่ไม่ใช้งาน อาจช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ไม่มากเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า นี่คือเหตุผลสำคัญที่หลายคนเลือกติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ “โซลาร์รูฟท็อป” (Solar rooftop) บนหลังคาอาคารบ้านเรือนกันมากขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงได้เดือนละ 2-3 พันบาททีเดียว

วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง เปิดตัวโครงการ “SOLAR GENERATION”

จังหวัดลพบุรีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความเข้มข้นของพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย จากข้อมูลการรับซื้อไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่า จังหวัดลพบุรีมีการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด 24 โครงการ กำลังการผลิตรวมกว่า 205 เมกะวัตต์ หลังคาบ้านเรือน อาคารสถาบันการศึกษา หน่วยงาน และสถานประกอบการต่างๆ มีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล สอดคล้องกับเทรนด์การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) ที่ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาองค์กร แต่ต้องมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

ติดโซลาร์รูฟท็อป ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ปลดล็อกค่าไฟฟ้าแพง 

กองทุนแสงอาทิตย์

กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลาย ทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงาน และสถาบันทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงาน โดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน

เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก เช่น คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มูลนิธิสุขภาพไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กรีนพีซ ประเทศไทย ฯลฯ ช่วงปี 2562-2563 กองทุนแสงอาทิตย์ประสบความสำเร็จในการระดมเงินบริจาคจากประชาชนจนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปกำลังการผลิต รวม 240.63 กิโลวัตต์ ให้กับโรงพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศ จำนวน 7 แห่ง สามารถลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลรวมกัน 1.4 ล้านบาทต่อปี

แผงโซลาร์เซลล์รูฟท็อป มีอายุการใช้งานนาน 20 ปี

ข้อมูลบ่งชี้ชัดเจนว่า แสงอาทิตย์ใช้ได้ทุกภาคและเกิดผลดีกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยโรงพยาบาลประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก จากนั้นกลุ่มเป้าหมายถัดมาคือ วิทยาลัย ทั้งการอาชีพ เทคนิค และอาชีวะ เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้จากการติดตั้งและการติดตามผลงาน การเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับผู้คนที่สนใจ รวมทั้งการจ้างงานและก้าวสู่ผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์

ปี 2563-2564 กองทุนแสงอาทิตย์ระดมเงินบริจาคเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้วิทยาลัยการอาชีพ 7 แห่งทั่วประเทศ แห่งละ 10 กิโลวัตต์ ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี, วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง, วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร จังหวัดสกลนคร, วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง, วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

นายเริงศักดิ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง

นายธีรพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฏิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายของกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า “โลกเและประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนผ่านพลังงาน รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการต้องมีเจตจำนงที่จะเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยการผลักดันให้เกิดการลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงเรียนและวิทยาลัย กว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้จะทำให้กําลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นกว่า 700 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 22,000 ล้านบาท การลงทุนนี้จะช่วยให้สถาบันการศึกษาประหยัดงบประมาณ และมีรายได้เพิ่มทั้งหมดราวกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี คือสามารถคืนทุนได้ภายในเวลาเพียง 4.48 ปี และประหยัดเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปได้ทุกปีตลอดอายุขัย 20 ปีของแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดที่จะกลายเป็นอนาคต และเตรียมพร้อมอาชีวะสร้างชาติในอนาคตยุคต่อไป

หากใครต้องการสนับสนุนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในสถาบันศึกษาร่วมกับกองทุนแสงอาทิตย์ สามารถร่วมบริจาคเงินได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้ การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

เข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษาปี 2565

“เทคนิคโคกสำโรง” วิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกของลพบุรี

ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ได้ร่วมกันเปิดตัว “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)” เพื่อสร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นปีที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์ที่เปิดรับเงินบริจาคผ่านกองทุนฯ เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ ทั่วประเทศ โดยใช้เงินในการติดตั้งแห่งละ 400,000 บาท

นายเริงศักดิ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง ถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของจังหวัดลพบุรีและภาคกลาง และเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 4 ของประเทศจากกองทุนแสงอาทิตย์ การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อปี หรือในระยะเวลามากกว่า 25 ปี ทางวิทยาลัยคาดว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

ร่วมกิจกรรมอาชีวะจิตอาสา ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565

ทางวิทยาลัยขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมบริจาคเงิน ทำให้เราสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปได้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าไฟฟ้าของทางวิทยาลัย และยังสามารถใช้หลังคาโซลาร์เซลล์เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนสู่การประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษา และผู้ประกอบการโซลาร์เซลล์ ซึ่งธุรกิจโซลาร์เซลล์เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและระดับประเทศ

วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง สังกัดสถาบันอาชีวศึกษาภาคกลาง ตั้งอยู่ในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นสถานศึกษาที่มีนักเรียนด้านวิชาชีพ จำนวน 998 คน ตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. ที่มุ่งเน้นพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาชีพด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและสังคม และหลักสูตรพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในการเรียนการสอนที่ทางวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาชีพ

ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี

วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง เป็นสถานศึกษาที่มุ่งเน้นการบริการชุมชน โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ มีวินัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาครู รวมทั้งให้โอกาสในการศึกษาต่อให้กับนักเรียน นักศึกษา และครูให้มีการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อกลับมาพัฒนาอาชีวศึกษาและประเทศชาติต่อไป

นายเริงศักดิ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง พร้อมคณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน นักศึกษา ได้เข้าร่วม “การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา” ครั้งที่ 24 รอบคัดเลือก ประจำปี 2565 ณ วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี เพื่อชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 จากจำนวน 72 ทีม ในรอบคัดเลือก หาทีมเข้าร่วมการแข่งขันในระดับชาติ จำนวน 32 ทีม วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง ได้ผ่านการคัดเลือกแข่งขันในระดับชาติต่อไป

การประเมินมาตรฐานวิชาชีพแผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมการเรียนการสอนและผลงานทางวิชาการของวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง ได้ทางเฟซบุ๊ก วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 036-708-093 ในวันและเวลาราชการ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), กองทุนแสงอาทิตย์ และเฟซบุ๊ก วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง