หูกคำนาคเกี้ยว ฟาร์มหม่อนไหม อาชีพที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำตลาดยุโรป

ผีเสื้อหนอนไหม เป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่มนุษย์นำมาเลี้ยง ตัวหนอนเป็นสีครีมกินใบหม่อน เมื่อเข้าระยะดักแด้จะนำรังดักแด้มาต้มแล้วสาวเป็นเส้นไหม เพื่อนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ส่วนตัวดักแด้ที่เหลือจากการสาวไหมนับว่าเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด

เก็บรังไหม

ผีเสื้อหนอนไหม ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อสีขาว ตัวผีเสื้อจะมีปีก 2 ปีก สีขาวปนเทา ไม่มีปาก แต่มีรอยเหมือนปาก ผีเสื้อตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ บินไกลไม่ได้ ลักษณะการบินเหมือนการ   กระโดดไกลๆ อายุของผีเสื้อหนอนไหมมีช่วงเวลาที่สั้นมาก

คุณมานพ สุมานัด หรือ คุณหูกคำ อายุ 30 ปี

คุณมานพ สุมานัด หรือ คุณหูกคำ อายุ 30 ปี อาศัยอยู่เลขที่ 237 หมู่ที่ 3 ตำบลนาจิก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงหนอนไหม คุณมานพ กล่าวว่า การปลูกใบหม่อนเป็นอาชีพที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เริ่มตั้งแต่สมัยรุ่นคุณยาย ส่งต่อให้คุณแม่ และส่งต่อมาให้คุณมานพ การเลี้ยงหนอนไหมนี้ ถือเป็นธุรกิจครอบครัว แต่เมื่อคุณมานพได้เข้ามาดูแล จึงจัดตั้งกลุ่มเพื่อช่วยเหลือชุมชน เนื่องจากภายในชุมชนแห่งนี้เลี้ยงหนอนไหมเพื่อจำหน่ายรังไหม เส้นไหม และสิ่งทอผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ต้นหม่อน
นำรังหนอนไหมไปเลี้ยงในกระจ่อ

คุณมานพ กล่าวว่า คนในชุมชนและครอบครัวที่นี่เติบโตมาคู่กับวัฒนธรรมสิ่งทอที่มาจากหม่อนไหม จึงทำให้อยากที่จะอนุรักษ์ผ้าไหมไทย และยังถือเป็นอาชีพอีกหนึ่งอย่างที่สามารถเป็นนายตัวเอง มีเวลาอยู่และดูแลครอบครัว มีรายได้ที่มั่นคง สามารถดูแลครอบครัวได้

คุณมานพ อธิบายถึงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การเลี้ยงหนอนไหมจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ดังนี้ กระด้งเลี้ยงไหม, ตาข่ายเก็บมูลไหม, ตะกร้าเก็บใบหม่อน, กระจ่อ, เขียงและมีด หั่นใบหม่อน, ตะแกรงร่อนปูน, ตะเกียบเขี่ยไหม

เลี้ยงหนอนไหมในกระด้ง

เมื่อผู้เลี้ยงเตรียมอุปกรณ์ครบแล้ว 1 สัปดาห์ ก่อนเลี้ยงหนอนไหม ควรทำความสะอาดโรงเลี้ยงไหมและอุปกรณ์ให้สะอาด จากนั้นนำอุปกรณ์ที่ล้างแล้วมาตากแดดให้แห้ง ก่อนนำไปเก็บในโรงเลี้ยงไหม ต่อมาคือการเตรียมสารป้องกันการเกิดโรค ได้แก่ ดินขาว

คุณมานพ กล่าวว่า การเลี้ยงหนอนไหมของทางฟาร์มเป็นการเลี้ยงในกระด้ง และมีการต่อพันธุ์เอง จึงไม่มีต้นทุนในการที่จะต้องไปซื้อพันธุ์มาเพื่อขยาย ถือเป็นการลดต้นทุนแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงได้อีกหนึ่งช่องทางในการเลี้ยงหนอนไหม

การเลี้ยงไหมระยะแรกของการฟัก หลังจากที่ไข่ไหมฟักออกมาแล้วเป็นตัวอ่อนให้นำใบหม่อนใบที่ 1-2 นับจากใบที่คลี่แล้ว นำไปหั่นให้ละเอียด นำไปโรยให้หนอนไหมกินในช่วงเช้า จากนั้นทำการเกลี่ยหนอนไหมลงกระด้ง ที่เตรียมไว้ให้ตัวหนอนไหมกระจายอย่างสม่ำเสมอ และให้อาหารอีกครั้งในช่วงเย็น

รังไหมที่ต้มแล้วและแห้งแล้ว
เก็บรังไหม

การเลี้ยงไหมวัยอ่อน เริ่มจากไหมฟักออกจากไข่แล้วจะอยู่ในช่วงวัยอ่อน ซึ่งในช่วงนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ไหมระยะที่ 1 ให้อาหารโดยใช้ใบหม่อนใบอ่อนที่ 1-3 หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ให้กิน 3-4 วัน ก่อนที่หนอนไหมจะนอน และหาผ้าคลุมหนอนไหมให้มิดชิด ต้องเป็นผ้าที่ไม่หนาหรือบางไป เพื่ออากาศถ่ายเทสะดวก และป้องกันฝุ่นและแมลง

ไหมระยะที่ 2 ให้อาหารโดยใช้ใบหม่อนประมาณใบที่ 4-6 หั่นเป็นชิ้นขนาดกลาง ให้กิน 3-4 วัน โดยจะให้ภายหลังจากที่หนอนไหมตื่นจากวัยที่ 1 แล้ว จากนั้นใช้ผ้าคลุมกระด้งไหมให้มิดชิด

ไหมระยะที่ 3 ให้อาหารโดยใช้ใบหม่อนประมาณใบที่ 7-10 นำไปหั่น หรือให้ทั้งใบก็ได้ ภายหลังจากที่หนอนไหมตื่นจากวัยที่ 2 แล้ว จากนั้นใช้ผ้าคลุมกระด้งให้มิดชิด ทุกครั้งก่อนการให้ใบหม่อนจำเป็นต้องกระจายตัวหนอนไหมให้สม่ำเสมอกัน และไม่ให้แออัดจนเกินไป การให้ใบหม่อนจะให้วันละ 3 มื้อ เช้า-กลางวัน-เย็น ยกเว้นหนอนไหมหยุดกินใบหม่อน หรือเป็นช่วงที่เรียกกันว่า ไหมนอน

ต้นหม่อน

ช่วงระยะสุดท้ายก่อนเป็นไหม จะอยู่ในช่วงการเลี้ยงไหมวัยแก่ จะอยู่ในช่วงที่หนอนไหมตื่นจาก ระยะที่ 3 ไปจนถึงไหมสุกทำรัง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน ในช่วงนี้หนอนไหมวัยแก่จะกินใบหม่อนจำนวนมาก จึงทำให้ต้องเพิ่มมื้ออาหารจาก 3 มื้อ เป็น 4 มื้อ โดยการให้ปริมาณตามความเหมาะสม เพื่อให้หนอนไหมเติบโตได้สมบูรณ์เต็มที่ ไม่แคะแกร็น ไม่มีโรคแมลงมารบกวน ใบหม่อนที่ให้จะเป็นใบแก่ช่วงกลางลำต้น โดยไม่ต้องหั่นใบ

การเก็บไหมสุก หรือเรียกว่าหนอนไหมวัย 5 เป็นช่วงที่หนอนไหมเจริญเติบโตเต็มที่ สังเกตได้จากตัวไหมเปลี่ยนเป็นสีเหลือง พร้อมจะพ่นเส้นใยมาห่อหุ้มตัว จากนั้นก็จะเก็บ นำไปเลี้ยงในกระจ่อ ประมาณ 5-6 วัน จึงจะสามารถเก็บรังไหมออกจากกระจ่อได้ จากนั้นก็จะนำรังไหมไปต้มเพื่อสาวออกเป็นเส้นๆ หรือทำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้แล้ว

คุณมานพ กล่าวว่า การเลี้ยงไหมถือว่าใช้เวลาไม่นานมาก เพราะใช้เวลาเพียง 25-30 วัน ก็ได้เส้นไหมแล้ว หากพูดถึงโรคและปัญหาในการเลี้ยง ต้องบอกเลยว่าแทบจะไม่มีปัญหาเลย เพียงแค่บางครั้งอาจจะต้องระวังมดที่จะเข้าไปกัดตัวหนอนไหม แต่ป้องกันได้ง่ายมาก แค่ใช้ดินขาว โรยให้ทั่วบริเวณโรงเลี้ยง เพื่อไม่ให้มดเข้ามากัดตัวหนอนไหม และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การมุงตาข่ายภายในโรงเลี้ยง เพื่อป้องกันแมลงวันลายเข้ามาวางไข่ในดักแด้ เพราะจะทำให้ผลผลิตเสียหาย

รังไหม เส้นไหม ผ้าไหม ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมาก ทางฟาร์มมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งคนในพื้นที่ คนในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ อย่าง อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น เราสามารถกำหนดราคาขายเองได้ เริ่มตั้งแต่หลักร้อย ถึงหลักแสน

ในส่วนของผ้าไหมนั้น ราคาจะไม่แน่นอนเพราะถึงอยู่กับสีหากเป็นสีธรรมชาติ ก็จะมีราคาที่สูงขึ้นไปอีก ทางเราเคยทอผ้าไหมส่งไปที่อิตาลี ผ้าไหมผืนนั้นใช้สีธรรมชาติทั้งผืน ราคาอยู่ที่ 385,000 บาท หากสินค้าเราดี ลูกค้าไม่เคยต่อรองเรื่องราคา เพียงเราใส่ใจ และทำให้เต็มที่   ผลงานก็จะออกมาดีที่สุดทั้งผู้ทำและผู้รับก็มีความสุข

“การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ส่วนใหญ่แล้วเป็นอาชีพที่ตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่น เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตพื้นเมืองของแต่ละท้องถิ่น มีการเล่าเรื่องราวผ่านลายผ้าไหมในการทอ เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถกำหนดราคาขายเองได้ ผ้าไหมไทยถือเป็นเอกลักษณ์ มีตลาดรองรับไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มั่นคง และเป็นการอนุรักษ์วิถีชุมชนท้องถิ่น ได้อย่างยั่งยืน”

หนอนไหมกินใบหม่อน

 

ต้มรังไหม

สำหรับท่านใดที่สนใจ รังไหม เส้นไหม ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากไหม ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณมานพ สุมานัด หรือ คุณหูกคำ อายุ 30 ปี อาศัยอยู่เลขที่ 237 หมู่ที่ 3 ตำบล นาจิก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โทรศัพท์ 092-737-1326 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก หูกคำนาคเกี้ยว: Hookkhamnakkearw


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354