กรมวิชาการเกษตร เปิดวาร์ป ผลงานวิจัยพืชสร้างรายได้เกษตรกรกว่า 400 ล้าน และเกิดชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศ

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 วาระการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ 20 ปี มีประเด็นที่สอดคล้องกันในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของสังคมภาคเกษตรในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย แต่ปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ข้างต้นนั้นพบว่า เกษตรกรรายย่อยในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ในภาพรวมมีปัญหาการผลิตพืชที่คล้ายคลึงกันคือ ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

เพื่อแก้ปัญหาการผลิตพืชและยกระดับเกษตรกรตามเป้าหมาย กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1-8 จึงได้จัดทำแผนงานวิจัยพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเพื่อสร้างความเข้มแข็งสังคมเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. และ วช. ดำเนินการวิจัยในปี 2559-2564 โดยเน้นประเด็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช เพิ่มผลผลิต คุณภาพผลผลิต มาตรฐานสินค้า การเพิ่มมูลค่า เพิ่มผลตอบแทน และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเกษตร ภายใต้เงื่อนไขความเหมาะสมของสภาพภูมิสังคมเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค

ผลงานวิจัยเด่นที่ได้ เช่น ภาคเหนือตอนบน ได้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเขียว ถั่วลิสง กระเทียม ถั่วเหลือง และลำไย ภาคเหนือตอนล่าง ได้เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องในข้าวโพด มะม่วง ลองกอง และทุเรียน ภาคตะวันออก ได้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผลคุณภาพเพื่อการส่งออก การผลิตลองกอง วัสดุห่อผลกล้วยไข่ การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมะม่วง การผลิตลำไยคุณภาพ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในทุเรียน มังคุด เงาะ สับปะรด และการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน

ภาคกลางและภาคตะวันตก ได้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผล เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีในการผลิตกล้วยหอมเพื่อการส่งออก การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในทุเรียนพันธุ์ก้านยาว ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา พันธุ์ทองดี การแก้ปัญหาโรคลำต้นไหม้ในการผลิตหน่อไม้ฝรั่ง การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานในการผลิตกระเจี๊ยบเขียว การลดสารไนเตรตในผลผลิตผักสดที่ปลูกแบบไม่ใช้ดิน วัสดุปลูกที่เหมาะสมในการผลิตกะเพราและมะเขือเทศราชินีที่ปลูกแบบไม่ใช้ดิน ได้เทคโนโลยีกระบวนล้างผลผลิตของโรงคัดบรรจุผลผลิตพืชผักและการคัดบรรจุที่มีมาตรฐาน GMP การลดปริมาณการใช้สารเคมีในการผลิตคะน้าโดยใช้เทคโนโลยีการควบคุมแมลงศัตรูแบบผสมผสาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระบบการปลูกพืช พริก ถั่วลิสง มะม่วง มันสำปะหลัง มะเขือเทศ ข้าวโพดฝักสด มะเม่า และคราม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชหลังนาโดยใช้แหล่งน้ำในระบบเกษตรทฤษฎีใหม่ การใช้ปุ๋ยชีวภาพ PGPR-3 ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย การใช้ปุ๋ยร่วมกับการใช้เครื่องหยอดปุ๋ย การจัดการปุ๋ยมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ดินเค็ม การผลิตทับทิมเพื่อการค้าในพื้นที่ดินเค็ม

ภาคใต้ตอนบน ได้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราโดยใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการโรครากขาว การปลูกพืชแซมปาล์มน้ำมันในช่วงก่อนให้ผลผลิต การให้ปุ๋ยตามผลค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารในใบ การจัดการโรครากเน่าโคนเน่า (Ganoderma sp.) การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปลูกผักเหลียงและผักพูมร่วมกับยางพารา การปลูกหมาก ลางสาด ทุเรียน ลังแข จำปาดะ ทุเรียนสาลิกา ส้มโอทับทิมสยาม สะตอ ทุเรียน โกโก้ ขนุน และลางสาดเกาะสมุย ร่วมกับปาล์มน้ำมัน และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิตมะพร้าว

ภาคใต้ตอนล่าง ได้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราในการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมันตามผลวิเคราะห์ใบ การใช้ปุ๋ยปาล์มน้ำมันที่ปลูกในทุกระดับความเหมาะสมของดิน การปลูกข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์สงขลา 84-1 สายต้นจำปาดะพันธุ์ดี ส้มจุก พืชผักพื้นบ้าน การใช้กากสาคูเพาะเห็ดแครง เห็ดนางรม เห็ดหูหนู และเห็ดขอนขาว การปลูกกาแฟโรบัสตาร่วมกับยางพารา ทุเรียน และลองกอง และการปลูกพริกไทยพันธุ์ซีลอนร่วมมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวอุตสาหกรรม

การผลิตส้มโอหอมควนลังเชิงพาณิชย์แบบมีส่วนร่วมในจังหวัดสงขลา ได้รูปแบบ (model) กระบวนการพัฒนา คือ “รำแดงโมเดล เกษตรตามศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาการผลิตพืชของชุมชนเกษตรที่พอเพียงและยั่งยืน” การผลิตพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้สายพันธุ์บัวหลวงเพื่อการผลิตเมล็ด 4 สายพันธุ์ พันธุ์บัวหลวงเพื่อการผลิตดอก 3 สายพันธุ์ พันธุ์บัวหลวงเพื่อการผลิตราก/ไหล 2 สายพันธุ์ ได้เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยบัวหลวงและการควบคุมและกำจัดเพลี้ยไฟ ได้พันธุ์กก การผลิตกระจูด หน่อไม้น้ำ การใช้ต้นหน่อไม้น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารหยาบสำหรับสัตว์เคี้ยว การผลิตและการใช้ประโยชน์คล้า เตยหนามและเตยทะเล และระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานในพื้นที่ชุ่มน้ำ

นอกจากนั้น ยังเกิดผลประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัย ได้แก่ ได้องค์ความรู้ด้านการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม 34 เรื่อง ชุมชนต้นแบบ 45 ชุมชน เช่น “เมืองมายโมเดล” เทคโนโลยีการผลิตในระบบการปลูกพืช ถั่วลิสง-ข้าว จังหวัดลำปาง “บ่อโพธิ์โมเดล” ชุมชนปุ๋ยข้าวโพดแก้จน คนบ่อโพธิ์ จังหวัดพิษณุโลก “หนองบัวลำภูโมเดล” ระบบการปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยวข้าว “หิน เหล็ก ไฟ โมเดล” ชุมชนผลิตอ้อยยั่งยืน จังหวัดบุรีรัมย์ “นาคูโมเดล” พืชผักปลอดภัยและยั่งยืนระดับชุมชน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา “ท่ากุ่มเนินทรายโมเดล” เทคโนโลยีผสมผสานในการผลิตทุเรียน จังหวัดตราด

“สุราษฎร์ธานีโมเดล” ปาล์มน้ำมันยั่งยืน “โพรงเข้โมเดล” ปาล์มน้ำมันยั่งยืน จังหวัดตรัง “Wetland Model” การเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดพัทลุง “รำแดงโมเดล สทิงพระโมเดล ป่าขาดโมเดล บ้านแคโมเดล” เกษตรตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาการผลิตพืชที่พึ่งตนเองได้ของชุมชน จังหวัดสงขลา

จากการประเมินผลกระทบการวิจัย 11 โครงการ จาก 34 โครงการ พบว่า ได้แปลงต้นแบบเทคโนโลยีระดับภาคสนาม รวม 300 แปลง การพัฒนากำลังคนเป็นนักวิจัย 230 คน ผู้นำเกษตรกร 373 คน เกษตรกรที่มีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น รวม 1,717 คน จำนวนคนที่ได้รับถ่ายทอดความรู้ 10,090 คน งานวิจัยใช้งบประมาณ 65 ล้านบาท สามารถทำให้เกิดผลตอบแทนเกษตรกรมูลค่ารวมทั้งสิ้น 429 ล้านบาท และยังส่งผลดีต่อความมั่นคงทางอาหาร สร้างเสียรภาพทางรายได้เกษตรกร ส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG และได้เป็นต้นแบบการบริหารจัดการภาครัฐแบบมีส่วนร่วม (รางวัลเลิศรัฐ) ตามแนวทาง DOA TOGETHER

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ มีการขยายผลในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ ศพก. โครงการพระราชดำริ โครงการส่งเสริมอาชีพต่างๆ ขับเคลื่อนตามนโยบายกรมวิชาการเกษตร และความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เพื่อประโยชน์ในเชิงวิชาการ และการส่งเสริม โดยผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย นายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สวพ.8 หรือที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8

………………………………………………………..

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354