สวนศักดิ์ศรีเบตง จ.ยะลา ต้นแบบปลูกทุเรียนมูซังคิง

“มูซานคิง” (Musang King) หรือ “มูซังคิง” บางทีก็เรียก ทุเรียนเหมาซานหวาง หรือ    เหมาซานหว่อง คือ ทุเรียนสายพันธุ์ดีของมาเลเซีย ที่คนรักทุเรียนต้องลองชิม เพราะมีรสอร่อยมาก เนื้อแห้งสีเหลืองเข้มไม่มีเส้นใย เม็ดลีบ มีกลิ่นหอม รสสัมผัสนุ่ม เหนียวเนียน รสชาติหวานมัน อร่อยครบเครื่อง ทำให้ทุเรียนมูซังคิงได้รับความนิยมบริโภคสูงสุดในประเทศมาเลเซีย จีน ไต้หวัน ฯลฯ

ผลทุเรียนมูซังคิง ที่เตรียมส่งขาย

 

อ.เบตง ยะลา ทำเลเป็นต่อ

ปลูกมูซังคิง แหล่งแรกในไทย

พื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน “มาเลเซีย” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของทุเรียนมูซังคิง อำเภอเบตง มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขา สภาพอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิต่ำ ใกล้เคียงกับสภาพภูมิประเทศของมาเลเซีย จึงเอื้อต่อการเจริญเติบโตของทุเรียนมูซังคิง กลายเป็นปลูกทุเรียนมูซังคิงแหล่งแรกในประเทศไทย

นายศักดิ์ศรี สง่าราศรี เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน จังหวัดยะลา ปี 2565

คุณโอ หรือ นายศักดิ์ศรี สง่าราศรี เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ของอำเภอเบตง และเป็นเจ้าของ สวนศักดิ์ศรี ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในเกษตรกรรุ่นแรกๆ ของอำเภอเบตงที่ปลูกทุเรียนมูซังคิง เดิมทีครอบครัวคุณโอทำสวนยางพารา และทำสวนส้มเป็นอาชีพหลัก ต่อมาสวนส้มประสบปัญหาโรคระบาด ช่วงเวลาดังกล่าว คุณพ่อของคุณโอรู้ข่าวว่า มูซังคิงซึ่งเป็นพันธุ์ดีของมาเลเซีย ขายได้ราคาดีมากถึงกิโลกรัมละ 500 บาท สร้างแรงจูงใจให้รื้อแปลงส้มทิ้งทั้งหมดแล้วหันมาปลูกทุเรียนมูซังคิง บนเนื้อที่  8 ไร่ ตั้งแต่เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน สวนแห่งนี้นับเป็นแปลงทุเรียนมูซังคิงใหญ่ที่สุดในอำเภอเบตงที่ให้ผลผลิตแล้ว

 

การปลูกดูแล ทุเรียนมูซังคิง

การปลูกทุเรียนมูซังคิง ของ สวนศักดิ์ศรี เริ่มจากปลูกทุเรียนพื้นบ้านไว้เป็นต้นตอ เมื่ออายุได้   1 ปี จึงนำยอดทุเรียนมูซังคิงมาเสียบ ระยะปลูก 8×9 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกทุเรียนมูซังคิงได้ 25 ต้น เนื่องจากพื้นที่อำเภอเบตง มีสภาพภูมิอากาศดี มีฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งปี จำเป็นต้องลงทุนเรื่องระบบน้ำ แต่ระยะหลังอำเภอเบตงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจึงต้องใช้แรงคนมาดูแลรดน้ำแปลงปลูกทุเรียนบ้างในช่วงที่สภาพอากาศแล้ง

คุณโอ ดูแลสวนแบบเกษตรปลอดสารพิษ หลังหมดฤดูเก็บเกี่ยว จะตัดหญ้าตามโคนต้นทุเรียนก่อนจึงค่อยใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีสูตรเสมอในแปลงปลูกต้นทุเรียนมูซังคิง ทุกๆ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ช่วงที่ดอกทุเรียนเริ่มบานพร้อมให้ธาตุอาหารเสริมประเภท แมกนีเซียม โบรอน บำรุงต้น

คุณโอ ใส่ใจบริหารจัดการเพื่อให้ดอกทุเรียนติดอยู่ได้นานเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีทั้งปริมาณและคุณภาพ หลังดอกบาน 100-110 วัน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปขายได้ โดยตัดทุเรียนที่ความสุกแก่ 85% ขึ้นไป ผลทุเรียนมูซังคิงมีขนาดใกล้เคียงกับทุเรียนพวงมณีของไทย น้ำหนักเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมต่อลูก หากบำรุงดีจะได้ผลขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อลูก

ทุเรียนพันธุ์โอฉี หรือหนามดำ

ทุเรียนมูซังคิง ของสวนศักดิ์ศรี มีเอกลักษณ์ประจำสายพันธุ์ชัดเจน คือบริเวณก้นผลมีลักษณะรูปดาว 5 แฉก เปลือกบาง เมล็ดเล็ก ลีบ บาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเนียน รสชาติมัน หวานแหลม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีรสชาติอร่อยมาก ทั้งนี้ ทุเรียนมูซังคิง จัดอยู่ในกลุ่มทุเรียนพันธุ์เบา

ปัจจุบัน คุณโอมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 25 ไร่ แบ่งเป็นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้ว 4 ไร่ ทุเรียนที่ยังไม่ให้ผลผลิต 16 ไร่ บ่อน้ำ 2 ไร่ และแปลงเพาะกล้า 3 ไร่ โดยจำหน่ายผลผลิตผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ส่งถึงมือผู้บริโภคในราคากิโลกรัมละ 650 บาท ผลผลิตบางส่วนส่งขายห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมไปถึงจำหน่ายกล้าพันธุ์มูซังคิง ในราคาต้นละ 100 บาท

ทุกวันนี้ สวนศักดิ์ศรี นอกจากเป็นแหล่งผลิตสินค้าปลอดภัยได้รับมาตรฐานการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่แล้ว ยังได้ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย ใครสนใจอยากสั่งซื้อสินค้าติดต่อได้ที่ สวนศักดิ์ศรี เลขที่ 113/2 หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา หรือ เฟซบุ๊ก “มูซานคิงส์ ทุเรียนเบตง สวนศักดิ์ศรี”

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเยี่ยมชมสวน

 

วิสาหกิจชุมชนสวนศักดิ์ศรีทุเรียนเบตง

คุณโอ ให้ความสำคัญกับสุขภาพของเกษตรกรชาวสวนทุเรียน หากใช้สารเคมีในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม จึงเป็นแกนนำรวมกลุ่มเกษตรกร ทุเรียนเบตง ภายใต้ชื่อ วิสาหกิจชุมชนสวนศักดิ์ศรีทุเรียนเบตง เมื่อปี 2564 โดยเน้นการทำสวนเกษตรอินทรีย์ผลิตทุเรียนปลอดสารพิษ และได้รับมาตรฐานรับรอง GAP ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพและราคาของทุเรียนให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสินค้าหลัก ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์มูซานคิง พันธุ์โอวฉี หรือหนามดำ       ( Musang King Biack Thorn Ochee) มีรสชาติอร่อย สินค้าขายดีอีกชนิดหนึ่งของมาเลเซีย พร้อมเพาะพันธุ์กล้าทุเรียนมูซานคิง กล้าพันธุ์ทุเรียนโอฉี หรือหนามดำ ส่งขายทั่วประเทศผ่านตลาดออนไลน์ ในราคาต้นละ 100 บาท ไม่ต่ำกว่าปีละ 60,000-80,000 ต้น

ที่ผ่านมา วิสาหกิจชุมชนสวนศักดิ์ศรีทุเรียนเบตง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมทุเรียนเกรดพรีเมียมคุณภาพ ทุเรียนคัดบรรจุกล่องส่งจำหน่ายในประเทศและส่งออกประเทศมาเลเซีย ในราคาประมาณกิโลกรัมละ 80-100 เหรียญมาเลย์ ส่วนทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดจะนำไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูป อาทิ ทุเรียนแช่แข็งเพื่อเพิ่มมูลค่า

   

ปัญหาโรคแมลง

ภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากกว่า 586,307 ไร่ โดยจังหวัดยะลา มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากเป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ โดยแหล่งปลูกทุเรียนสำคัญที่มีเนื้อที่มากสุด 3 อันดับของจังหวัดยะลา คือ อำเภอเบตง รองลงมาคือ อำเภอบันนังสตา และอำเภอธารโต โดยพันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกในพื้นที่ คือ พันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว พวงมณี และมูซานคิง ตามลำดับ (ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา)

โรคและแมลงศัตรูพืช นับเป็นอุปสรรคสำคัญของการทำสวนทุเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยเฉพาะ โรครากเน่าโคนเน่า และแมลงศัตรูสำคัญ ได้แก่ หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน หนอนเจาะผลทุเรียน ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น มอดเจาะลำต้น เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง และเพลี้ยหอย  เมื่อเกิดโรค เกษตรกรทั่วไปทำได้คือ การจัดการด้วยสารเคมี

เนื่องจากสวนศักดิ์ศรีทำสวนทุเรียนโดยไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดโรคและแมลง ในอดีตสวนแห่งนี้ เคยประสบปัญหาโรคแมลง จากปัญหาหนอนไชเข้าไปอยู่ในทุเรียนก็เคยเจอมาแล้ว จนถึงขั้นต้องยกเลิกยอดจองทั้งหมด และแจกจ่ายให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและเพื่อนฝูงได้ชิมกันถ้วนหน้า

ทุเรียนมูซังคิง ที่รอการเก็บเกี่ยว

นับเป็นความโชคดีของวิสาหกิจชุมชนสวนศักดิ์ศรีทุเรียนเบตง ที่ได้ รศ.ดร. วรภัทร ลัคนทินวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ ทำให้การจัดการปัญหาโรคแมลงกลายเป็นเรื่องง่าย ทั้งนี้ รศ.ดร. วรภัทร แนะนำให้ใช้นวัตกรรมการชักนำรากของทุเรียน (Reborn Root Ecosystem : RRE) ช่วยแก้ปัญหารากเน่าโคนเน่า และลดการใช้ปุ๋ยทางใบต่อรอบ กว่า 50,000 บาท ต่อไร่

แปลงกิ่งพันธุ์ทุเรียนมูซังคิงที่รอการจำหน่าย

สำหรับนวัตกรรมการชักนำรากของทุเรียน เริ่มจากหมักซากพืชด้วยจุลินทรีย์ที่ดี ประมาณ 2 เดือน แล้วนำมาวางรอบทรงพุ่ม ใส่ธาตุอาหารรอง ใช้เชื้อไตรโครเดอร์ม่าพ่นบริเวณโคนต้นและรอบทรงพุ่ม รากทุเรียนฟื้นตัวได้ดีภายใน 15 วัน หลังการใช้นวัตกรรมนี้ ทุกวันนี้เกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตสูงเนื่องจากปัญหาปุ๋ยราคาแพง ทางกลุ่มฯ จึงร่วมมือกับ รศ.ดร.     วรภัทร เร่งศึกษาวิจัยเรื่องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เหมาะสมสำหรับสวนทุเรียน เพื่อลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวต่อไป

 

รางวัลเกษตรกรดีเด่น จ.ยะลา

คุณโอ นับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีบทบาทในกระบวนการพัฒนากิจการเกษตรตลอดจนเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น ทำงานร่วมกันระหว่างเกษตรกรทุกรุ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมยึดหลักเรื่องคุณภาพ-สุขภาพ-ความจริงใจ ต้องมาก่อน จึงมั่นใจได้ว่า ทุเรียนมูซังคิงออกมาจากสวนศักดิ์ศรี ต้องปลอดสารเคมี เพื่อสุขภาพของลูกค้าทุกท่าน ด้วยผลงานที่โดดเด่นดังกล่าวทำให้  คุณโอ รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวนได้จัดประกวดเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน จังหวัดยะลา ประจำปี 2565

นวัตกรรมการชักรากทุเรียนแก้โรครากเน่า

 

ด้านตลาด

เมื่อเร็วๆ นี้ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนสวนทุเรียนศักดิ์ศรี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อพบหารือกับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน กรุยทางให้ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาดในเดือนกรกฎาคมนี้ ได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับคู่ค้า 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทยแล้ว เหลือเพียงเกาหลีใต้ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าที่   ร้อยละ 36 แต่จะทยอยลดเหลือ ร้อยละ 0 ในปี 2574 ภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบและโอกาสทางการค้าของวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการไทย ในการขยายส่งออกสินค้าทุเรียนไปตลาดโลก

ปลูกทุเรียนแบบเสริมราก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทางการค้าของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้ดำเนินโครงการ “สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” มาอย่างต่อเนื่องทุกปี ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา โดยลงพื้นที่ทำงานควบคู่กับการจัดสัมมนาแบบบูรณาการร่วมกับกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้กับเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่มีสินค้าทุเรียน มังคุด ส้ม ลองกอง และกล้วยหิน ที่มีศักยภาพและความพร้อมส่งออก  


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354