กรมวิชาการเกษตร แนะนำผลวิจัยการผลิตพืชในภาคใต้ตอนล่าง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 เป็นหน่วยงานในภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร ที่รับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยมีภารกิจสำคัญ คือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นอกจากนั้นจะยังมีงานผลิตพันธุ์พืช งานบริการตรวจสอบ วิเคราะห์ ปัจจัยการผลิต งานตรวจสอบรับรองมาตรฐานการผลิตพืช งานควบคุมกำกับตาม พรบ. งานพัฒนาในโครงการพระราชดำริ และการบริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ

ในส่วนของผลงานการวิจัยและพัฒนา จะประกอบด้วยงานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของพื้นที่เป็นหลัก และมีงานวิจัยประยุกต์ หรือพื้นฐานที่ร่วมวิจัยกับสถาบัน/สำนักในส่วนกลาง ผลงานวิจัยเด่นในปี 2565  เช่น เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าว ส้มโอ กาแฟ เห็ด ข้าวโพดหวาน และการพัฒนาการผลิตพืชตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาชุมชนเกษตรให้เข้มแข็ง เป็นต้น  โดยตังอย่างผลงานวิจัย ได้แก่

การจัดการผลิตพืชที่ยั่งยืน โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “DOA โมเดล: การผลิตพืชตามศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาชุมชนเกษตรให้พึ่งตนเอง  แนะนำหลักปฏิบัติ 4 เสาหลักของการพัฒนา คือ  เสาหลักที่ 1 พัฒนาชุมชนเข้มแข็ง เสาหลักที่ 2 พัฒนา 9 พืชผสมผสานพอเพียง คือกลุ่มพืชรายได้ กลุ่มพืชอาหาร กลุ่มพืชอาหารสัตว์ กลุ่มพืชสมุนไพรสุขภาพ กลุ่มพืชสมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืช กลุ่มพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ กลุ่มพืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น กลุ่มพืชใช้สอย กลุ่มพืชพลังงานและเชื้อเพลิง เสาหลักที่ 3 พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า  เสาหลักที่ 4 เชื่อมโยงการผลิตพืชกับการท่องเที่ยวชุมชนและเครือข่ายการพัฒนาต่างๆ  

เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตส้มโอหอมควนลังเชิงพาณิชย์แบบมีส่วนร่วม  แนะนำการจัดการธาตุอาหาร การตัดแต่งกิ่งการจัดการโรคและแมลง การติดตั้งระบบน้ำ การเก็บเกี่ยวผลผลิต การขยายผลเทคโนโลยีการผลิตส้มโอหอมควนลังในพื้นที่ชุมชน การพัฒนาแปลงต้นแบบแบบมีส่วนร่วม และการพัฒนาช่องทางการตลาด ทำให้มีจำนวนผลต่อต้นสูงที่สุด 62 ผล น้ำหนักต่อผลสูงสุด 1.8 กิโลกรัม น้ำหนักผลผลิตรวมสูงที่สุด 2,778 กิโลกรัมต่อไร่ มีต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 9,480 บาทต่อไร่ รายได้ รายได้สุทธิและสัดส่วนรายได้ต่อการลงทุน สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกร

เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมสำหรับปาล์มน้ำมัน   แนะนำการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบ  และการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบ + ปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซา 30 กรัม/ต้น ทำให้ปาล์มน้ำมันมีผลผลิตทะลายสดสูงกว่าการใส่ปุ๋ยตามวิธีเกษตรกร 42.65 และ 39.96 เปอร์เซ็นต์  และ ทำให้มีรายได้สุทธิสูงกว่าวิธีเกษตรกร 36.97 และ 33.93 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมของยางพารา แนะนำการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ให้ผลผลิตเนื้อยางแห้งและผลตอบแทนสูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรโดยมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 14.99 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็น 4.39 เปอร์เซ็นต์ และให้รายได้สุทธิสูงกว่า 937.01 บาทต่อไร่ โดยมีต้นทุนค่าปุ๋ยลดลง 276.49 บาทต่อไร่ คิดเป็น 15.50 เปอร์เซ็นต์

เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสวนมะพร้าว    แนะนำการจัดการธาตุอาหารของมะพร้าวน้ำหอม โดยการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชการเกษตร ส่งผลให้มีความหวาน ผลผลิตเฉลี่ย สูงขึ้น โดยผลผลิตต่อไร่ในกรรมวิธีแนะนำ มีผลผลิตเฉลี่ย 3,704 ผลต่อไร่ รายได้สุทธิเท่ากับ 16,011 บาทต่อไร่  เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารของมะพร้าวอุตสาหกรรม พบว่าการจัดการสวนมะพร้าวตามกรรมวิธีแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ส่งผลให้มีความหนาของเนื้อมะพร้าว เปอร์เซ็นต์น้ำมัน ผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยผลิตต่อไร่ในกรรมวิธีแนะนำ มีผลผลิตเฉลี่ย 1,194.88 ผลต่อไร่

เทคโนโลยีการผลิตกาแฟโรบัสตา  แนะนำการปลูกกาแฟโรบัสตาพันธุ์พื้นเมืองปลูกร่วมกับพันธุ์ชุมพร 2 การพัฒนาการปลูกกาแฟร่วมยางพาราในสวนยางปลูกใหม่ พบว่า การปลูกกาแฟระหว่างแถวยางพาราปลูกใหม่ 1 2 และ 3 แถว รากยางไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ ในช่วงอายุ 3 ปี  การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกาแฟสารและผลิตภัณฑ์กาแฟโรบัสตาที่เหมาะสมพบว่าสัดส่วนของผลสดต่อเมล็ดกาแฟสาร (% Out-turn) เฉลี่ย 19.48 เปอร์เซ็นต์ขนาดของเมล็ดกาแฟสารอยู่ระหว่าง 6.3 ถึง < 7.1 มิลลิเมตร  การแยกเปลือกกาแฟผลสดโดยวิธีเปียกและวิธีการหมักและลวกน้ำร้อน ทำให้สามารถลดระยะเวลาการตากกาแฟได้เฉลี่ย 57.14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่ตากแห้ง และสามารถลดพื้นที่ในการตากกาแฟได้ สำหรับการทดสอบรสชาติกาแฟสารที่ผ่านการคั่วและบดพบว่า เมล็ดกาแฟหลังผ่านการคั่วมีน้ำหนักลดลง เฉลี่ยร้อยละ18.20

เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดหวาน   แนะนำพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมสงขลา 84-1 สามารถลดต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการปลูกพันธุ์ทางการค้า 546 บาทต่อไร่ การใช้ระยะปลูก 75×25 เซนติเมตร จำนวน 1 ต้นต่อหลุม ให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีของเกษตรกรโดยให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือกเฉลี่ย 2,609  กิโลกรัมต่อไร่ สามารถเพิ่มผลผลิตน้ำหนักฝักสดทั้งเปลือกสูงกว่ากว่าวิธีเกษตรกร 323 กิโลกรัมต่อไร่ มี มีรายได้สุทธิเฉลี่ยสูงกว่าวิธีเกษตรกร เฉลี่ย 46,381 บาทต่อไร่ ตามลำดับ สามารถเพิ่มรายได้สุทธิสูงกว่ากว่าวิธีเกษตรกร 6,355 บาทต่อไร่  คิดเป็น 15.9 เปอร์เซ็นต์

เทคโนโลยีการจัดการทรงพุ่มชะมวง และมันปู  แนะนำการผลิตยอดมันปู โดยการตัดแต่งทรงพุ่มที่ระดับ 1.00 เมตร ทำให้มีปริมาณยอดมันปูและรายได้สูงที่สุด การผลิตยอดชะมวง การตัดแต่งทรงพุ่มทำให้มีการผลิตยอดอ่อนสูงกว่าการไม่ตัดแต่งทรงพุ่ม การแตกยอดอ่อนของมันปูและชะมวงจะเกิดได้ทั้งปี

เทคโนโลยีการเพาะเห็ดโดยใช้วัสดุเศษเหลือจากการผลิตแป้งสาคู  แนะนำ เห็ดแครง ใช้สูตรอาหารซึ่งมีส่วนผสมของ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา : กากสาคู : ข้าวฟ่าง : รำละเอียด : ปูนขาว อัตรา 50 : 50 : 20 : 10 : 1 เห็ดนางรม เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว ใช้สูตรอาหารซึ่งมีส่วนผสมของขี้เลื่อยไม้ยางพารา : กากสาคู : รำละเอียด  : ปูนขาว : ดีเกลือ อัตราส่วน 70 : 30 : 5 : 1 : 0.2

เทคโนโลยีการผลิตบัวหลวง  แนะนำพันธุ์บัวหลวงเพื่อการผลิตเมล็ด คัดเลือกได้ คือ สายพันธุ์ยโสธร 1

สายพันธุ์ลูกผสมบางพระ 3/2 และสายพันธุ์ ChHy04 พันธุ์บัวหลวงเพื่อการผลิตดอก คือ สายพันธุ์ปทุมธานี 39 สายพันธุ์นครพนม 10 และ สายพันธุ์ขาวสงขลา/สายพันธุ์ชลบุรี 40 พันธุ์บัวหลวงเพื่อการผลิตราก/ไหล คือ สายพันธุ์แดงแพร่ และสายพันธุ์ขาวสงขลา สายพันธุ์สตูล 28  สายพันธุ์อุบลราชธานี 30 สายพันธุ์นครสวรรค์ 34  และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตบัวหลวง พบว่า วิธีที่ให้ผลดีที่สุด คือ การใส่ปุ๋ยอัตรา 7.5-7.5-15 กิโลกรัมต่อไร่ ของ N-P2O5K2O โดยมีการใส่ปุ๋ยโบรอนอัตรา 1.2 กิโลกรัมต่อไร่ สารที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในบัวหลวงในพื้นที่ชุ่มน้ำ คือ พ่น imidacloprid 10% W/V SL อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และเชื้อราขาว B. bassiasna 109 อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟได้เฉลี่ย 70% ในระยะเวลา 7 วัน และ อายุการเก็บเกี่ยวมีผลต่อการให้ผลผลิตไหลและรากบัวของบัวหลวง สายพันธุ์ดีเด่นจากการรวบรวมพันธุ์ในสภาพพื้นที่จังหวัดพัทลุง พบว่า สายพันธุ์สตูล 28 เหมาะสำหรับใช้เป็นสายพันธุ์เพื่อการผลิตราก และอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ การเก็บเกี่ยวที่อายุ 2 ปี

เทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีศักยภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำ  กก  แนะนำพันธุ์กกจันทบูร เนื่องจากมีผลผลิตและลักษณะลำต้นสีเขียวเข้ม เป็นมันวาวหลังตากแห้ง เมื่อนำมาทอเสื่อหรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะมีความเหนียวทนทาน  กระจูด แนะนำกระจูดพันธุ์จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะปลูกที่เหมาะสมของกระจูด คือ 30x30 เซนติเมตร การใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) จะมีผลต่อการให้ผลผลิตน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งมากกว่าปุ๋ยตัวอื่น อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ 1 ปี หน่อไม้น้ำ ใช้ระยะปลูก 1x1 เมตร จำนวน 3 ต้นต่อหลุม การเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคมและการตัดสางออกเฉพาะต้นที่ออกดอกจะมีจำนวนหน่อและน้ำหนักต่อพื้นที่มากสุด ส่วนการใช้ต้นหน่อไม้น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารหยาบสำหรับสัตว์เคี้ยวนั้น การเก็บเกี่ยวที่อายุ 5 เดือนมีแนวโน้มให้คุณค่าทางโภชนะของอาหารสัตว์มากสุด ใช้ระยะปลูก 25x25 เซนติเมตร จำนวน 2 ต้นต่อหลุม การใส่ปุ๋ยมูลวัวอัตรา 1 ตัน/ไร่ ดาหลาและจาก สามารถนำสารสกัดเส้นใยพืชมาใช้ซ้ำในการสกัดเส้นใยได้ 2 ครั้ง เส้นใยยังคงมีคุณสมบัติไม่แตกต่างกัน ควรเก็บรักษาเส้นใยในถุงพลาสติกใสมัดปิดปากถุง  คล้า สารสกัดคล้าจากส่วนของลำต้นและใบ ที่ระดับความเข้มข้น 10,000 และ 5,000 ppm มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อรา Chaetomium sp. ได้ดีที่สุด ระยะปลูกต้นคล้าในสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ คือระยะ 1.0x1.0 เมตร ส่วนพื้นที่ราบ ไม่มีน้ำท่วมขัง และมีระบบน้ำ ใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร คล้าสามารถใช้ส่วนของลำต้นทำเป็นเส้นใยได้ เส้นใยคล้าที่อายุ 0.5  1.0 และ 1.5 ปี มีความแข็งแรงและสามารถทนต่อแรงดึงสูงสุดใกล้เคียงกัน คือ 16.40-18.05 MPa ในขณะที่เส้นใยที่อายุ 1 ปี มีความสามารถในการยืดตัว ณ จุดขาด สูงกว่าที่อายุอื่นคือเท่ากับ 20.54 เปอร์เซ็นต์

 

ต้นแบบระบบการผลิตพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ พบว่า สามารถดำเนินการได้ 2 ระบบ คือ ระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานด้วยพืชที่มีการปรับตัวและสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบการปลูกพืชชุ่มน้ำ โดยกลุ่มพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีระดับการท่วมของน้ำมากและน้ำท่วมขังนาน คือ กลุ่มพืชชุ่มน้ำ และพืชตระกูลปาล์ม กลุ่มที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพมีระดับน้ำท่วมปานกลาง คือ กลุ่มพืชกินยอด ฝรั่งกิมจูและพืชตระกูลปาล์ม ส่วนกลุ่มพืชที่เจริญเติบโตได้ในระดับน้ำท่วมน้อย คือ กลุ่มไม้ผลบางชนิด เช่น ฝรั่งกิมจู ฝรั่งแป้นสีทอง มะม่วงเบา และ หม่อน ขณะเดียวกัน รูปแบบการจัดการพืชพื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ชุมชนจังหวัดพัทลุง แบ่งการจัดการพืชเป็น 3 โซน คือ โซนพื้นที่การปลูกพืชหลักด้วยวิธีการจัดการแปลงที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ โซนที่ 2 โซนพื้นที่ปลูกพืชเพื่อเป็นแนวกันชน และโซนที่ 3 โซนพื้นที่แหล่งน้ำ

สารสคอพอเลตินจากพืชและการประยุกต์ใช้ควบคุมการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในพืช  พบว่าผลยอบ้าน (Morinda citrifolia L.; noni) มีปริมาณสารสคอพอเลตินสูงที่สุดเฉลี่ย 393.27+ 165.42 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของ สคอพอเลติน พบว่า 1) สคอพอเลตินที่ความเข้มข้น 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร สามารถต้านการเจริญของเชื้อรา 7 ชนิด โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งมากกว่า 50 แต่ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้เล็กน้อย 2) สคอพอเลตินมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยผลการสอบ เปรียบเทียบกับกรดแอสคอบิก ให้ค่า lc50 (DPPH) 0.6 และ 0.01 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ และ 3) สคอพอเลตินแสดงคุณสมบัติเป็นสารชักนำความต้านทานในพืช ( plant elicitor) โดยสามารถกระตุ้นแอคติวิตี้ของเอนไซม์และการสะสมโมเลกุลส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานในต้นยาสูบ    ได้แก่ เอนไซม์ฟินิลอะลานีนแอมโมเนียไลเอส เอนไซม์กลูคาเนสเอนไซม์เปอร์ออกซิเดส กรดซาลิซิลิก และ กรดแอบไซซิก การนำสารสคอพอเลตินมาประยุกต์ใช้ควบคุมโรคพืช พบว่าที่ระดับความเข้มข้น 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยลดความเสียหายจากโรคแอนแทรกโนสในมะม่วงและโรคใบจุดในคะน้าได้ โดยมีผลใกล้เคียงกับการใช้สารชีวภัณฑ์หรือสารเคมีภัณฑ์

เทคโนโลยีการเพาะเห็ดร่างแห  จากการสำรวจและรวบรวมเห็ดร่างแหจากธรรมชาติทั้งสิ้น  9 ไอโซเลท จำแนกทางสัณฐานวิทยา 2 สายพันธุ์ คือเห็ดร่างแหกระโปรงสั้น    สีขาว (Phallus atrovolvatus Kreisel & Calong)  8 ไอโซเลท และเห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว  D. echinovolvata Zang 1 ไอโซเลท พบว่าเห็ดร่างแหกระโปรงสั้นไอโซเลท K8 เส้นใยเจริญดีบนวัสดุหลินจืออบแห้ง (mother spawn) เฉลี่ย 11.4 เซนติเมตร โดยวัสดุที่เหมาะสมต่อการสร้างดอกคือสูตรที่ 7 ใบไผ่และกิ่งไผ่ 50 กก. ขุยมะพร้าว 25 กก แกลบดิบ 25 กก. และใช้วิธีเพาะแบบขึ้นชั้นในสภาพโรงเรือนระบบปิด ระยะเก็บเกี่ยว 33 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 2,080.44 กรัม/ตร.ม.  สำหรับคุณค่าทางโภชนาการของเห็ดร่างแหกระโปรงสั้นสีขาวเบื้องต้นพบว่า ปริมาณโปรตีนในเห็ดร่างแหสูงที่สุดคือ  4.19 + 0.95 มิลลิกรัมต่อเห็ดหนึ่งกรัม คาร์โบไฮเดรตปริมาณ 239.05 + 40.79 มิลลิกรัมต่อเห็ดหนึ่งกรัม และสารประกอบฟีนอลิก  23.09 + 0.61 มิลลิกรัมต่อเห็ดหนึ่งกรัม ซึ่งมีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ จึงมีส่วนช่วยในการลดสภาวะการเกิดโรคร้ายแรงหลายชนิด

การทดลองขยายการผลิตแปลงใหญ่ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับภูมิสังคมเกษตรกร

“โพรงจระเข้โมเดล ปาล์มน้ำมันยั่งยืน จังหวัดตรัง” แพลตฟอร์มนวัตกรรม คือ รวมกลุ่มเกษตรกร จัดเวทีวิจัยสัญจร การให้ความรู้เทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบ  ร่วมกับการปฏิบัติดูแลรักษาอื่น ๆ การบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร  พบว่า ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,386 กิโลกรัมต่อไร่  เกษตรกรมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 11,320 บาทต่อไร่ ซึ่งผลผลิตเพิ่มขึ้น 1.48-3.05 เท่า

“Wetland Model  การเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ จังหวัดพัทลุง แพลตฟอร์มนวัตกรรม คือ การรวมกลุ่มเกษตรกร การจัดเวทีสัญจร การอบรมให้ความรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพผลผลิต มาตรฐานสินค้า เพิ่มมูลค่าสินค้าพืช พบว่า มีการจัดระบบการผลิตพืชแบบผสมผสานในพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ระบบปาล์มน้ำมันและพืชผักผสมผสาน ระบบพริก แตงโม ไม้ผล และพืชผักผสมผสาน ระบบการปลูกฝรั่ง ระบบการปลูกพืชในพื้นที่แหล่งน้ำ ได้แก่ บัวหลวงเพื่อการผลิตดอก บัวหลวงเพื่อการผลิตไหล ผักตบไทย ผักขี้ไต้ กระจูด ผลผลิตปาล์มน้ำมัน 2,582 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลผลิตแตงโม 5,000 กิโลกรัม/ไร่  ผักตบไทยให้รายได้ 20,800 – 26,000 บาท/ไร่/ปี ผักขี้ไต้ ให้รายได้ 12,600 – 18,000 บาท/ไร่/ปี

ป่าขาดโมเดล เกษตรพอเพียง เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ แพลตฟอร์มนวัตกรรม คือ ประชุมหารือแกนนำชุมชน เชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดทำแผนชุมชน แต่งตั้งคณะกรรมการ “ป่าขาดโมเดล” ตั้งกลุ่มเกษตรกร พัฒนากลุ่มให้เข้มแข็ง รับสมัครเกษตรกรที่สนใจตามกลุ่มพืช นำผลงานวิจัยไปสู่การขยายผลแปลงใหญ่แก่เกษตรกร พัฒนาแปลงผลิตพืช 9 พืชผสมผสานพอเพียง ตั้งศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน จัดเวทีวิจัยสัญจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเชื่อมโยงการตลาด การท่องเที่ยว เชื่อมโยงการสุขภาพ  พบว่า ด้านรายได้ภาคการเกษตร หลังการพัฒนา พบว่า เกษตรกรที่มีรายได้ปานกลางระหว่าง 60,000-119,000 และรายได้สูงสุดตั้งแต่ 240,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี มีอัตราเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.35 และ 4.35 ด้านรายจ่ายภาคการเกษตร ลดลงร้อยละ 15.44 ชุมชนเข้มแข็ง การพัฒนา 9 พืชผสมผสานพอเพียง พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่ม เกษตรกรได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช GAP ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน ผลการใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูพืช พบว่าทำให้การระบาดของศัตรูพืชลดลง เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 38,290 บาท/ไร่  และ มีระดับคะแนนความพอเพียงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51

ผู้สนใจในรายละเอียดสามารถติดต่อขอเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา