กยท. จัดงาน ‘Talk About Rubber’ ครั้งที่ 4 ชู ‘สตาร์ทอัพ รับเบอร์’ เน้นความแกร่งนวัตกรรมยางพาราไทย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 สิงหาคม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดงาน ‘Talk About Rubber’ ครั้งที่ 4 โดยมี นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงาน พร้อมพูดคุยในหัวข้อ ‘Start Up Rubber ต่อยอดนวัตกรรม ปรับการแปรรูป ก้าวสู่ภาคอุตสาหกรรม’  และ นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง พูดคุยในหัวข้อ ‘วิเคราะห์สถานการณ์และราคายาง ในไตรมาสที่ 3 / 2565’ ที่ กยท. บางขุนนนท์

นายณกรณ์ กล่าวถึงการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านยางพาราว่า Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU มีแนวคิดบวกกับนวัตกรรม เงินทุน จนเกิดธุรกิจใหม่ๆ ต่อยอดได้หลากหลายทิศทางในอนาคต ให้กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านยางพารา ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การวิจัยต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเจรจาซื้อขาย การค้า ทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่าสินค้า

โครงการดังกล่าว อาศัยความร่วมมือจากไตรภาคี ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยมาพัฒนาและต่อยอด ต่อมาคือ กยท. โดยการนำงบประมาณจากภาครัฐ มาใช้ส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมด้านยางพารา สู่ภาคธุรกิจ สุดท้ายคือ ภาคเอกชน สร้างโอกาสทางการค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ตลาดโลก

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวอีกว่า การส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านยางพารา ยังเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดความร่วมมือในการคิดค้นนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ สิ่งแวดล้อม ลดขยะโดยการนำกลับมาใช้ใหม่ ลดการใช้พลังงาน เพื่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการยกระดับผู้ประกอบการ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. การพัฒนาจากแนวคิดสู่ต้นแบบ
  2. การพัฒนาจากต้นแบบ/ผลิตภัณฑ์สู่ตลาด
  3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ตลาดระดับโลก (global market)
  4. การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุสานยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก

“กยท. ส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมด้านต่างๆ เช่น ด้านกลุ่มนวัตกรรมเพื่อสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์และการเกษตร มีผลิตภัณฑ์ เช่น รองเท้าโคจากยางพารา เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพของโคในฟาร์ม และช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำนมโค ที่ลับเล็บแมวจากวัสดุ TPNR และไม้ยางพารา จากเดิมที่มักใช้กระดาษลูกฟูก

“ด้านกลุ่มนวัตกรรมเพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซพิษ เพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ทุ่นลอยน้ำ ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย สามารถวางแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำได้ หรือใช้เป็นกระชังเลี้ยงสัตว์ ทุ่นกักขยะและทุ่นกักน้ำมันยางพารา ซึ่งมีอายุการใช้งานที่นานกว่าโฟมธรรมดา และไม่ปล่อยสารที่เป็นพิษต่อแหล่งน้ำ

“ด้านกลุ่มนวัตกรรม upcycle เพื่อลดขยะและการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการทำหวายเทียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก เช่น ชุดผลงานกระเป๋าสืบสาน ที่นำศิลปหัตถกรรมจักสานมาใช้กับยางพารา เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทนทาน สวยงาม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” ผู้ว่าการ กยท. เผยรายละเอียด พร้อมเผยด้วยว่า ทั้งหมดนี้ ยังสอดคล้องกับแนวคิด ‘Greener, Better’ ของ กยท. ที่มุ่งเน้นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ด้าน นางสาวอธิวีณ์ กล่าวถึงสถานการณ์และราคายางในไตรมาสที่ 3/2565 ว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลยังเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลก เนื่องจากความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาตรการซีโร โควิด ของจีน ความขัดแย้งระหว่าง ไต้หวัน จีน และสหรัฐอเมริกา รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

เรื่องปริมาณการผลิตและการใช้ยางธรรมชาติของโลก น.ส.อธิวีณ์เผยว่า สมาคมประเทศผู้ผลิตยางพาราธรรมชาติ (ANRPC) วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ปี 2565 มีปริมาณการผลิตที่ 14.420 ล้านตัน และปริมาณการใช้ยางที่ 15.204 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่า การดำเนินนโยบายการลดภาษีในรถใหม่ของจีน ทำให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้น 24% และความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้การผลิตรถ EV เพิ่มขึ้น โดย ANRPC คาดว่า ความต้องการยางจะเพิ่มขึ้นราว 4%

ส่วนปริมาณผลผลิตยางภายในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตยางลง 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ซึ่งเมื่อคิดผลผลิตยางเป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกยางไปปลูกพืชชนิดอื่น โดยเฉพาะทุเรียน และปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น เพราะปีนี้ยังอยู่ในภาวะลานินญ่า และในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เป็นช่วงฝนตกชุก เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องระวังเรื่องน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ

ขณะที่การส่งออกยางพารา คาดว่าอยู่ที่ 4.275 ล้านตัน โดยการส่งออกในช่วงปลายปี ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังใช้ยางเป็นหลัก ส่วนอุตสาหกรรมยางล้อในไตรมาสที่ 1/2565 สหรัฐอเมริกามีมูลค่าการนำเข้ายางยานพาหนะเพิ่มขึ้น  31% ส่วนถุงมือยางซึ่งมีการใช้มากกว่าปกติในช่วงโควิด สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย (MARGMA)  คาดการณ์ว่า ถุงมือยางยังคงขยายตัว 10-12% จากภาวะปกติก่อนเกิดโควิด


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354