ปลูกสับปะรด 100 ไร่ จัดการอย่างไร ไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ขายได้ราคาดี ทำกำไรได้ ในทุกสถานการณ์

เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์สับปะรดในช่วงต้นปีที่ผ่านมาไม่สู้ดีนัก ราคาที่เกษตรกรขายได้ ปี 2565 (มกราคม-เมษายน 2565) สับปะรดที่เข้าโรงงานเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.63 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.18 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 7.66 เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โรงงานแปรรูปจึงปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะผลผลิต ภาวะต้นทุน ด้วยปัจจัยหลายอย่างเหล่านี้ทำให้เกษตรกรหลายรายถอดใจ แต่ในทางกลับกันก็ยังมีเกษตรกรอีกหลายรายที่ยังสู้และไปต่อได้จากการปรับตัว หันมาแปรรูปสินค้าเพิ่มมูลค่า รวมถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน GAP เพื่อให้สามารถกระจายสินค้าได้หลากหลายช่องทางยิ่งขึ้น ไม่รอส่งโรงงานเพียงอย่างเดียว

คุณพัทธนันท์ หมื่นอาจวัฒนะ หรือ พี่พัท (คนกลาง)

คุณพัทธนันท์ หมื่นอาจวัฒนะ หรือ พี่พัท อยู่บ้านเลขที่ 34 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เกษตรกรสาวหัวใจแกร่งผู้สืบทอดกิจการสวนสับปะรดจากครอบครัวจำนวน 100 ไร่ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ไม่สู้ดีนัก แต่เธอคนนี้ก็ก้าวผ่านวิกฤตมาได้ทุกครั้ง

แปลงปลูกสับปะรดไร่พัทธนันท์
เก็บสับปะรดส่งโรงงาน

พี่พัทเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรให้ฟังว่า อาชีพเป็นเกษตรกรปลูกสับปะรดเป็นอาชีพที่ตนเองได้รับมรดกมาจากพ่อกับแม่ที่ประกอบอาชีพทำไร่สับปะรดมานานกว่า 40 ปี ซึ่งการเป็นเกษตรกรนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับตนเอง เพราะนอกจากจะต้องปลูกสับปะรดให้เป็นแล้ว ยังต้องแบกทั้งความหวัง และแบกรับความเสี่ยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทำให้การเข้ามาสานต่อกิจการของที่บ้านในแบบของตนเอง จะไม่ใช่แค่การปลูกแล้วส่งผลผลิตให้กับโรงงาน หรือให้พ่อค้าคนใดคนหนึ่งมาผูกขาดอย่างเดียว แต่เราต้องกระจายสินค้าออกเป็นหลายช่องทาง ไว้รองรับทุกภาวะที่เกิดขึ้น ดังนี้

1. คัดแยกเกรดขายผลสดเอง เนื่องจากการปลูกสับปะรดในแต่ละไร่ ของที่สวนจะไม่ได้สับปะรดเกรด A ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะที่สวนปลูกแบบปลอดสาร จึงต้องมีการคัดแยกเกรด หากเป็นสับปะรดเกรด A จะทำตลาดขายผลสดเอง เพราะจะขายได้ราคาดีกว่าส่งให้โรงงาน ราคาผลสดในปัจจุบันขายได้ 15-20 บาทต่อกิโลกรัม

2. ส่งโรงงานอัดกระป๋อง ส่วนนี้จะเป็นสับปะรดเกรด B หรือสับปะรดที่มีรสชาติหวานไม่ถึงขั้นขายผลสดได้ ข้อดีคือขายได้ในปริมาณเยอะ แต่มีข้อเสียคือ ขายได้ราคาที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งปัจจุบันราคาขายส่งโรงงานอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-6 บาท

3. แปรรูปเพิ่มมูลค่า จะนำสับปะรดที่ทรงผลไม่สวย ขนาดไม่ได้มาตรฐาน มาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น สับปะรดกวน แครกเกอร์สับปะรด คุกกี้สับปะรด แยมสับปะรด และไซรัปสับปะรด ส่วนนี้จะนำมาวางขายในร้านค้าของตนเองที่เปิดอยู่ในตัวเมืองจังหวัดกาญจนบุรี โดยจะเป็นร้านที่ขายผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปแบบครบวงจร มีทั้งของสดของแห้ง ซึ่งของที่วางขายจะมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากที่สวนเป็นหลัก รวมถึงผลิตภัณฑ์ของคนในชุมชนหนองปรือ ทั้งผักสดปลอดสารพิษ และสินค้าแปรรูปชนิดอื่น เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน

สับปะรดใหม่ๆ สดๆ จากสวน

ปลูกสับปะรด 100 ไร่ จัดการอย่างไร
ไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ขายได้ราคาดี

พี่พัท บอกว่า ปัจจุบันที่ไร่ของตนเองมีพื้นที่ปลูกสับปะรดทั้งหมด 100 ไร่ แบ่งปลูกเป็นล็อกทุกเดือน ล็อกละ 12-15 ไร่ เลือกปลูกสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวียเป็นหลัก ด้วยความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกสับปะรดสายพันธุ์นี้ ส่งผลทำให้ได้ผลผลิตที่ได้รสชาติหวานฉ่ำ รับประทานแล้วไม่กัดลิ้น เหมาะสำหรับการปลูกส่งตลาดโรงงาน และสามารถนำแปรรูปได้หลากหลายผลิตภัณฑ์

สับปะรดเกรด A คัดมาขายผลสดเอง

โดยพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกสับปะรดได้ 8,000 หน่อ ระยะห่างในการปลูก 7 หน่อต่อ 1 วา ระยะห่างระหว่างร่อง 125 เซนติเมตร ปริมาณผลผลิตที่เก็บได้ประมาณ 7-8 ตันต่อไร่

จุดเด่นสับปะรดของที่สวนอยู่ที่กระบวนการปลูกการดูแลแบบปลอดสาร ได้รับรองมาตรฐาน GAP สามารถทำตลาดได้กว้างกว่าสวนที่ปลูกและดูแลด้วยสารเคมี ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ต้องการผลไม้ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้สินค้าที่ปลอดสารเคมีนอกจากจะเป็นที่ต้องการจากแผงผลไม้ทั่วไปแล้ว ยังเป็นที่ต้องการของห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หรือตามร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอีกด้วย

รสชาติหวานฉ่ำ รับประทานไม่กัดลิ้น

ขั้นตอนการแปรรูปไซรัปสับปะรด

สำหรับขั้นตอนแปรรูปไซรัปสับปะรด พี่พัท บอกว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดมาจากการทำสับปะรดกวน แต่กว่าจะประสบผลสำเร็จในการทำผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างการทำไซรัปสับปะรด ในช่วงแรกรสชาติจะยังไม่คงที่ เพราะเราจะไม่ใส่ส่วนผสมกรดมะนาว ไม่ใส่น้ำตาล จะอาศัยรสชาติจากสับปะรดทั้งหมด เพราะฉะนั้นความยากจะตกไปอยู่ที่การคัดเลือกวัตถุดิบ ทำให้เป็นเรื่องยากในการควบคุมรสชาติและคุณภาพให้คงที่

เนื้อสับปะรดแยกน้ำพร้อมนำไปกวน
เอาแต่เนื้อ ใส่กระทะ ตั้งไฟกลาง

การแปรรูป

1. เริ่มต้นจากการคัดเลือกสับปะรดที่สุกโดยธรรมชาติ จะมีรสชาติที่หวาน ผิวสีเหลืองสวย

2. เมื่อได้สับปะรดที่ต้องการแล้ว นำไปล้างทำความสะอาด แล้วปอกเปลือกออกให้เรียบร้อย

3. นำสับปะรดที่ปอกเปลือกเสร็จแล้วไปผ่านกระบวนการคัดแยกเนื้อกับน้ำออก โดยส่วนของเนื้อจะนำไปทำเป็นสับปะรดกวน ส่วนของน้ำนำไปทำเป็นไซรัป และส่วนสุดท้ายคือเปลือกของสับปะรดนำไปทำน้ำหมัก ใช้ในการฉีดพ่นพืชผักที่ปลูกไว้ หรือในบางครั้งมีปริมาณเปลือกของสับปะรดมีมากเกินไป ก็จะแบ่งส่วนที่เหลือไปเลี้ยงวัวขุน

4. นำน้ำสับปะรดที่คั้นแยกออกมาไปเคี่ยว เคี่ยวจนกว่าน้ำสับปะรดจะเหนียว คล้ายกับคาราเมล โดยในขั้นตอนของการเคี่ยวจะใส่เพคติน เป็นสารให้ความเหนียว พร้อมกับใส่ดอกเกลือลงไปเล็กน้อยเพื่อตัดรสชาติ

5. เมื่อเคี่ยวจนน้ำสับปะรดเหนียวได้ที่แล้ว นำมาบรรจุใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ หากภาชนะเป็นขวดแก้วสามารถบรรจุร้อนได้เลย แต่ถ้าหากภาชนะเป็นขวดพลาสติกให้ทิ้งไว้ให้เย็นก่อนบรรจุลงขวด

ได้สับปะรดกวนออกมา สีสันน่ารับประทาน
น้ำสับปะรดนำไปทำไซรัป

โดยจุดประสงค์หลักของการพัฒนาไซรัปสับปะรดขึ้นมาคือ

1. เพื่อสร้างฐานลูกค้ากลุ่มร้านขายขนมหวาน ร้านเค้ก ร้านไอศกรีม นำไปใช้ตกแต่งหน้าเค้ก แต่งหน้าไอศกรีม หรือใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล มีกลิ่นหอมของสับปะรด ไม่ทำลายสุขภาพ ที่เป็นจุดทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

2. เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า และสามารถยืดอายุของผลผลิตได้ จากที่เคยขายผลสดอย่างเดียวจะเก็บไว้ได้เพียง 3-5 วัน หากเกินจากนี้ไปแล้วตัวผลสดก็ไม่สามารถที่จะคงคุณภาพเดิมไว้ได้ แต่การแปรรูปสามารถยืดอายุของผลผลิตได้นาน 1-6 เดือน

ผลิตภัณฑ์แปรรูปสร้างมูลค่า “ไซรัปสับปะรด”
“สับปะรดกวน” บรรจุในแพ็กเกจจิ้งสวยงาม
แครกเกอร์สับปะรด

การตลาดอยู่ในช่วงฟื้นตัว
หลังสถานการณ์โควิด-
19 เริ่มคลี่คลาย

เจ้าของบอกว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ขึ้น ยอดขายผลิตภัณฑ์แปรรูปตกลงอย่างน่าใจหาย จากที่เมื่อก่อนเคยมีรายได้แค่เฉพาะจากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างเดียวเดือนละเกือบ 200,000 บาท รายได้ที่เคยได้ก็หายไปเกือบหมด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยนำสินค้าไปวางขายที่ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โรบินสันกาญจนบุรี ตามศูนย์ราชการต่างๆ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ทุกอย่างหยุดชะงัก จนถึงปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายทางเราก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่เกือบทั้งหมด แต่ยังโชคดีที่ยังพอมีฐานลูกค้าเก่าอยู่พอสมควร ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการเดินหน้าหาตลาด และเดินหน้าผลิตสินค้าใหม่อีกครั้ง หรือเรียกได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว

คุกกี้สับปะรด บรรจุภัณฑ์สวยงาม ซื้อเป็นของฝากพรีเมี่ยม

“จริงๆ ต้องบอกเลยว่าอาชีพชาวสวนปลูกสับปะรดเป็นอาชีพที่เราชื่นชม เพราะเราเห็นมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่สิ่งที่ทำให้เกษตรกรจะอยู่กันไม่ได้ หนึ่งเลยคือเวลาเราขายผลผลิตมักเกิดปัญหารายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย ทำให้เกษตรกรหลายคนทิ้งอาชีพนี้ไปหลายรายเพราะไปต่อไม่ได้ แบกรับต้นทุนไม่ไหว แต่อยากจะบอกว่าถ้าสินค้าเราดี เราดูแลสับปะรดได้คุณภาพ ลูกค้าก็ยังต้องการผลผลิตของเราอยู่ คือสับปะรดที่มีรสชาติหวาน รับประทานไม่กัดลิ้น และอีกอย่างคือสร้างมาตรฐานไร่ให้ได้ มันจะมีตลาด หรือช่องทางการขายได้อีกมาก โดยที่เราไม่ต้องง้อโรงงานกระป๋องอย่างเดียว เพราะการที่เราจะส่งสับปะรดกระป๋องเราจะไม่มีโอกาสเสนอราคาเองเลย มันจะเป็นราคาที่วันไหนถ้าสับปะรดเยอะโรงงานก็จะลดราคากะทันหันเลย ชาวไร่เสียเปรียบอย่างเดียว แต่ถ้ารู้จักที่จะแปรรูปสินค้าของเรามันเพิ่มมูลค่าได้ และเราสามารถตั้งราคาเองได้ ถึงแม้ตอนนี้เศรษฐกิจจะแย่ แต่พี่ก็ยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ยังเลี้ยงกิจการได้ เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ” พี่พัท กล่าวทิ้งท้าย

พริกกรอบอบงา
กล้วยหนึบ รสดั้งเดิม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 062-353-5426 FB : ไร่พัทธนันท์ สวัสดีค่ะ

……………………………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354