เชียด ทวดติดยานัตถุ์ ย่าติดยาหอม พ่อชอบมัสมั่น แม่ชอบพะโล้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum iners Reinw. Ex Blume

ชื่อสามัญ Cinnamon

ชื่อวงศ์ LAURACEAE

ชื่ออื่นๆ กะเชียด เคียด เฉียด ชนุต้น (ภาคใต้) สะวง (ปราจีนบุรี) กระแจโมง เขียด บอกคอก (ลำปาง) ฝักดาบ (พิษณุโลก) พญาปราบ (นครราชสีมา) สมุลแว้ง อบเชย อบเชยต้น (ภาคกลาง)

อย่าเพิ่งสงสัยว่าทำไม “ปู่ทวด” จึงต้องท้าวความยืดเยื้อ ที่จะเล่าความเรื่องชื่อตัวเอง เพราะภูมิใจในบรรพบุรุษเทือกเถาเหล่ากอ ที่สืบทอดโบราณช้านาน แต่ลูกหลานปัจจุบันอาจจะไม่รู้จัก หรือนับญาติไม่ถึง จึงขอย้ำลำดับให้หลาน เหลน โหลน หลิน รู้จักอีกครั้ง

หากนับญาติสูงวัยจากพ่อ แม่ ของพ่อ ก็เรียกว่า ปู่-ย่า พ่อแม่ของปู่-ย่า เรียกว่า “ทวด หรือชวด” พ่อแม่ของทวด เรียกว่า “เทียด หรือเชียด” นี่แหละเป็นที่มาของคำว่า “เชียด” แต่ แหม..! ถ้าแทนคำนี้กับตัวเองก็เกรงว่าจะไม่รู้จัก จึงแทนด้วยคำว่า ปู่ทวด แต่ฟังแล้วก็ยังแก่อยู่ดี จึงขอแทนตัวเองด้วย คำว่า “ลุงเชย” นะ จะได้ดูหนุ่มกว่าและยังรักษาความเป็น “โบราณ” ไว้คงเดิม

ลุงเชยภูมิใจตัวเองที่ชื่อของลุงป้ายใหญ่ติดบนต้นไม้ใหญ่ใน “สวนสมุนไพรโรงพยาบาลอภัยภูเบศร”

ชื่อ “เชียด” ชื่อนี้แปลกดีตรงที่เวลากล่าวถึงจะกลายเป็นพูดถึงต้นไม้ ชื่อ “อบเชย หรืออบเชยต้น” เป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยพูดว่า “ต้นเชียด” กลายเป็นภาพรวมของอบเชย ก็คือ ต้นเชียดโดยปริยาย แม้ว่าชื่อท้องถิ่นของสมุนไพรอบเชยจะมีมากมายหลากชื่อ แต่ถ้าจะจัดกลุ่มจริงๆ จะคุ้นหูกับชื่อ อบเชยเทศ อบเชยญวน อบเชยจีน อบเชยอินโดนีเซีย หรือก็เรียกอบเชยชวา อบเชยศรีลังกา และอบเชยไทย ที่เรียกกันว่าอบเชยต้น

คือต้นเชียดนี่แหละที่ลุงเชยภาคภูมิใจนักหนา เพราะรู้เห็นมาตั้งแต่โบราณที่ผู้เฒ่าผู้แก่ใช้ “อม” หรือกัดแท่งอบเชยให้ร้อนซ่าในปาก เพราะรสชาติและกลิ่นของอบเชยอยู่ในทุกวงการ ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง เครื่องยา เครื่องเทศ สกัดสารกำจัดเชื้อ ใช้ได้ตั้งแต่เด็กถึงเฒ่าชรา เป็นทั้งไม้เนื้อแข็งที่ใช้แกะสลักเป็นฉากบุผนัง แกะสลักทำหีบใส่เก็บของที่ระลึก ของมีค่า และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดระนอง

คำว่า “ลุงเชย” มีมานานแล้วและถูกตีความเชิงลบ เยาะเย้ย หรือหยอกเย้าว่าคร่ำครึโบราณ แตกต่างจาก “อบเชย” ไม้โบราณที่นำไปใช้เชิงสร้างสรรค์ และมีมาถึงปัจจุบันยังเรียกหา เรียกว่า “เข้ายา” เป็น “กระสาย” สารพัดขนาน ตั้งแต่เปลือกต้น ใบ ราก น้ำยางจากใบ รวมถึงเมล็ด แต่แปลกที่หลายคนบอกว่า ดอกมีกลิ่นเหม็น ในด้านพฤกษศาสตร์ อบเชยมีอยู่หลายชนิดดังกล่าวมา แต่ละชนิดพันธุ์ก็มีคุณภาพแตกต่างออกไปตามสถานที่ปลูก แต่คุณสมบัติทางสมุนไพรก็ใกล้เคียงกัน โดยเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่โตสูงได้มากกว่า 15 เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ สีเขียวสดเป็นมัน มีกลิ่นหอม เปลือกต้นหอม ลอกเป็นแผ่นได้ ถ้าอายุมากกว่า 6 ปี สามารถนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ดี ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งสีเหลืองอ่อน หรือเขียวอ่อน ดอกตูมทรงกลม มีกลีบดอกชั้นนอกชั้นในอย่างละ 3 กลีบ ผลสดมีเนื้อ มีเมล็ดเดียวรูปร่างกลม เมื่อแก่มีสีม่วงดำ ผลขนาดเล็ก ส่วนเมล็ดทุบแตกแล้วผสมน้ำผึ้งให้เด็กรับประทาน แก้บิด แก้ไอได้ดี เป็นที่รู้จักทั่วเอเชีย ตั้งแต่ จีน ญวน ชวา ศรีลังกา อินเดีย ล้วนมีชื่อเรียกอีกมากมาย เช่น จีน เรียก โย่งกุ้ย กวนกุ้ย อิกุ้ย (จีนกลาง) แม้แต่อบเชยไทยเองก็ยังมีชื่อท้องถิ่นอีก เช่น ดิ๊กซี่สอ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) เนอม้า (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี)    เสี้ยง (ม้ง) ม้าสามเอ็น  โมงหอม (ชลบุรี) กระเจียด (ยะลา) สุรามิด (สุโขทัย)

การคัดเลือกต้นกล้าสายพันธุ์อบเชยจะใช้วิธีเคี้ยวใบชิมน้ำมัน พิจารณารสหวาน เผ็ด และกลิ่นเพื่อขยายพันธุ์ โดยเพาะเมล็ด เป็นที่ยอมรับว่าอบเชยศรีลังกามีคุณภาพและราคาสูงสุด รวมถึงถ้าคิดถึง “เครื่องเทศ” ลุงเชยจึงถูกกล่าวหาว่ามีกลิ่นตัวแรง หากใครชอบ พะโล้ แกงมัสมั่น    กะหรี่ปั๊ป เดียวนี้มี “อบเชยผง” สำเร็จรูปเพื่อใช้ปรุงอาหาร ผสมยา ผสมเครื่องสำอาง เพราะอุดมด้วยสารเคมีและน้ำมันหอมระเหยกลิ่นเฉพาะตัว ด้านจุลชีววิทยานำไปใช้ยับยั้งการเจริญของจุลิทรีย์ Streptococcus sp. มีสารออกฤทธิ์และสารประกอบหลายชนิด ทั้งด้านกลิ่นและรสชาติในเครื่องพริกแกงกะหรี่ ผงกะหรี่ รวมทั้งพะโล้และเนื้อตุ๋น สำหรับประเทศตะวันตก มีการนำใส่ของหวาน

ใช้ผงโรยหน้ากาแฟใส่นม ผสมลูกอม ผสมยาสีฟัน สำหรับ ยาหอม ยานัตถุ์ รู้จักและใช้กันเนิ่นนานแล้ว ใช้สูดดมให้สดชื่น เป่าเข้าจมูกโล่ง เรื่องนี้มีเพื่อนลุงเชยเข้าประชุมสภาผู้แทนพกยานัตถุ์เข้าไปนัตถุ์ พ่นทีเดียวจามกันรอบตัว ส่วนที่ใช้เป็นยารับประทานก็ใช้ผสมยาขับลมแก้ท้องอืดเฟ้อ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา จุลินทรีย์แก้บิด ไข้สันนิบาต บำรุงธาตุ แก้ไข้เนื่องจากความอักเสบของสตรีคลอดบุตรใหม่ แต่มีข้อห้ามสำหรับสตรีหญิงมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน

ในการนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องเทศ เครื่องยา จะใช้วิธีขูดเปลือกชั้นนอกออก แล้วลอกเปลือกชั้นในออกจากแก่นลำต้น โดยใช้มีดกรีดตามยาว แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มสลับตากแดด 3-5วัน ขณะตากมือม้วนขอบทั้งสองเข้าหากัน เมื่อเปลือกแห้งจึงมัดรวมกัน เปลือกอบเชยที่ดีควรมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีสนิม ซึ่งผู้ใช้จะนำไปใช้เป็น สะเก็ดแท่งหรือแผ่นเล็กๆ สำหรับอม-เคี้ยว หรือบดเป็นผงโรยผสมตามสะดวก

“เชียด-อบเชย” เป็นไม้โบราณจริงๆ เพราะมีประวัติชื่อนี้อยู่ในมหาชาติคำหลวง สมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ. 1893-2163 แต่ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ในเชิงเศรษฐกิจ อ้อ…! หลานเหลนคงเกิดไม่ทันหรอกนะ

ในอดีตช่างทำครกสีข้าวที่ใช้มือโยกหมุน เขาจะใช้เปลือกต้นเชียดที่มีเมือกหมักกับดินเหนียวตำในครกให้ดินกับเปลือกผสมเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วใช้อัดลงระหว่างร่องฟันของครกสีข้าวเมื่อแห้งแล้ว ดินที่อัดไว้จะแข็งมาก ช่วยยึดให้ฟันของครกสีทนทานไม่โยกคลอน แหม…! แต่ที่โหดร้ายกับเชียดมากคือ พออายุได้ 6-7 ปี ก็ถูกลอกเปลือกออก ทารุณมากไหม? บางต้นตายไปเลย ถ้าเปลี่ยนชื่อเป็น “นางสาวอบเชย” ดูซิว่าใครจะใจร้าย….ทำได้ลงคอ?

 


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354