เกษตรตำบลหนุ่ม ปลูกผักสลัด ภายใต้แบรนด์ “ผักดอยโอเค” สร้างรายได้ตลอดปี

คุณธีรพงษ์ ทาหล้า เจ้าของสวนผักอินทรีย์ สวนผักดอยโอเค ในพื้นที่ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรตำบลผู้มีหัวใจรักและคลั่งไคล้การทำเกษตรมาตั้งแต่วัยเด็ก สานฝันควบคู่กับการทำงานข้าราชการ อีกทั้งยังมองเห็นว่าการทำเกษตรแบบเดิมโดยใช้สารเคมีของครอบครัวนั้น ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคตระยะยาว จึงตั้งใจที่จะเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์ โดยการเรียนต่อปริญญาโทจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำวิชาความรู้ที่ได้รับมานั้น พัฒนาและต่อยอดธุรกิจของครอบครัวและสร้างแบรนด์ผักที่ชื่อว่า “ผักดอยโอเค”

คุณธีรพงษ์ ทาหล้า เจ้าของสวนผักอินทรีย์ สวนผักดอยโอเค
โฮมสเตย์ภายในฟาร์ม

จุดเริ่มต้นของการทำสวนผักอินทรีย์ สวนผักดอยโอเค เริ่มจากที่บ้านมีการทำเกษตรแบบเดิม ใช้สารเคมีเยอะมาก ในการปลูกพริก มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คุณธีรพงษ์จึงเริ่มขออนุญาตใช้พื้นที่ของพ่อและแม่ จำนวน 1-2 งาน ในการที่จะปลูกผักสลัด ระหว่างรอผลผลิตพริก กะหล่ำปลี และมะเขือเทศ ซึ่งกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องใช้เวลานานพอสมควร คุณธีรพงษ์จึงมองเห็นช่องทางการมีรายได้เพิ่ม โดยการปลูกพวกผักใบ ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นในรายสัปดาห์ เพื่อนำมาเป็นค่าแรงของคนงานโดยที่ไม่ต้องรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตหลักที่ปลูกไว้ พ่อและแม่ของคุณธีรพงษ์จึงตอบรับและให้ค่อยๆ ทดลองทำ และเริ่มจับตลาดในตัวเมืองเชียงใหม่ว่าตลาดต้องการผักใบชนิดใดเป็นพิเศษ จึงเริ่มทดลองปลูกผักใบหลากหลายชนิดอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น จากนั้นจึงทำการขอรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อให้ผักมีมาตรฐานรับรอง ง่ายต่อการหาตลาดในการจำหน่าย เพราะคุณธีรพงษ์ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะขายผักที่ได้มาตรฐาน ไม่เต็มไปด้วยสารเคมี จึงสร้างแบรนด์ที่มีชื่อว่า “ผักดอยโอเค”

“ผมจึงเริ่มสร้างแบรนด์ผักเป็นของตัวเอง ก็คือในเมื่อเรามีมาตรฐานอยู่แล้ว และผักของเราก็มีคุณภาพ สร้างแบรนด์ที่ชื่อว่า ผักดอยโอเค ภายใต้ Concept ผักที่ปลูกบนยอดดอย เพราะว่าพื้นที่สูงอยู่ที่ 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล อากาศก็จะเย็นตลอดทั้งปี คำว่า โอเค ใช้แทนลักษณะรสชาติของผัก ที่มีรสชาติดี มีความปลอดภัย จึงเป็นที่มาของผักดอยโอเค เป็นผักที่ปลูกบนดอยมีมาตรฐานรสชาติดี ปลอดภัยจากสารพิษ เข้าสู่ช่วงที่ 2 ในการปรับเปลี่ยนจากวิถีเกษตรเชิงเคมี สู่เกษตรที่มีมาตรฐานรองรับ ทำมาเรื่อยๆ โดยการมุ่งเน้นการปลูกในโรงเรือนเป็นหลัก ในการใช้มาตรฐาน GAP ตรวจจับในกระบวนการผลิต พยายามปลูกผักภายใต้โรงเรือน ขยายโรงเรือนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่ปลูกผักภายใต้โรงเรือนอย่างน้อยๆ ประมาณ 2 งาน ถึง 1 ไร่ ภายใน 1 ปี เพื่อให้ผลิตผักตามความต้องการของตลาด เพราะตลาดต้องการผักใบจำนวนนี้เป็นอย่างมาก ในช่วงของหน้าร้อนและหน้าฝน ส่วนหน้าหนาวนั้นจะมีความต้องการน้อย เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าร้อนและหน้าฝนคือการปลูกภายใต้โรงเรือน”

หลังจากเริ่มทำการปลูกผักได้ประมาณ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2558 คุณธีรพงษ์ต้องเจอกับอุปสรรคและปัญหาในเรื่องของคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผักเป็นที่ต้องการของตลาดน้อยลง รายได้จึงลดน้อยลงตามไปด้วย เพราะผักขายไม่ได้ ถึงแม้จะได้มาตรฐานรับรองแต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้คุณธีรพงษ์รู้สึกว่าอาชีพเกษตรกรนั้น จะสามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่ต้องการ และจะสามารถเลี้ยงครอบครัวและปากท้องของตนเองได้หรือไม่ ทำให้ในช่วงนั้นคุณธีรพงษ์รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในตนเอง จึงหันไปอ่านหนังสือและสอบเข้าสายราชการ พยายามอยู่ประมาณ 1 ปี จนในปี 2558 สอบติดตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จังหวัดแม่ฮ่องสอน

“เราอยากทำการเกษตร อยากจะกลับไปพิสูจน์ว่า เราจะกลับไปทำการเกษตรจริงๆ ได้ไหม หลังจากที่เรียนจบเกษตรมาแล้ว ก็รู้สึกว่าช่วง 4 ปีที่เราได้ทำรู้สึกพอใจและเราก็ได้ทำและได้พิสูจน์แล้วว่าเราก็ทำได้นะ แต่อาจจะยังไม่มีช่องทางมากพอ บวกกับเรามีครอบครัวมีลูกแล้ว จึงอยากหาความมั่นคงให้กับชีวิตมากขึ้นกว่านี้ จนกระทั่งมาสอบได้ของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ในปี 2558 ทำงานที่แรกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โชคดีที่ว่าเรายังทำงานควบคู่ไปกับธุรกิจที่เราทำอยู่ได้ โดยการฝากพ่อและแม่ดูแลในช่วงจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนช่วงเสาร์และอาทิตย์จะกลับมาดูแลเอง และนำผักเข้ามาขายในเมืองเหมือนเดิม โดยธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ พอเรามาเริ่มทำงานในจุดนี้คนก็รู้จักเราเพิ่มมากขึ้น จึงกลายเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าผักที่เราทำใช้หลักวิชาการ เราเป็นนักวิชาการที่ทำสวนเองและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้บุคคลภายนอกเพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ผักดอยโอเค”

ผักสดๆ จากสวน

ส่วนวิธีการดูแล แบ่งออกเป็นส่วนที่หนึ่งในการจัดการเรื่องโรคและแมลง หลักๆ ทางคุณธีรพงษ์พยายามปลูกผักภายใต้โรงเรือน ปรับสภาพแวดล้อมให้สมกับผัก อย่างเช่น หน้าร้อนจะมีการพรางแสง มีการพ่นน้ำด้วยสปริงเกลอร์ หน้าฝนจะมีหลังคาพลาสติก เพื่อป้องกันความชื้นไม่ให้มีมากจนเกินไป เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคและแมลง รวมถึงลดการใช้สารเคมีได้มากกว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์

พื้นที่ภายในฟาร์ม

ซึ่งอาจจะต้องมีการใช้สารเคมีในช่วงเริ่มต้นของการปลูก ในช่วงการระบาดของโรคและช่วงควบคุมระยะของต้นกล้าเพียงแค่นั้น นอกนั้นจะใช้วิธีกลในการจัดการ ทั้งการใช้สารชีวภาพ การปลูกภายใต้สภาวะโรงเรือน มีมุ้งล้อมรอบ มีการใช้กับดักกาวในการดักแมลง กำจัดวัชพืชโดยการเลี้ยงไส้เดือนควบคู่กับการปลูกผักไปด้วย โดยการนำเศษผักไปให้ไส้เดือนกิน ก็จะนำมูลหมุนเวียนนำมาทำปุ๋ยหมักอีกครั้งหนึ่ง โดยทุกอย่างภายในฟาร์มจะมีระบบการจัดการของเสียแบบ zero waste อย่างมีมาตรฐาน

ปัญหาหลักของโรคระบาดที่เจอมักจะเจอหนอน โรคใบจุด ใบไหม้ ป้องกันโดยอาจจะต้องมีการฉีดพ่นสารเคมีให้ถูกกับโรคนั้นๆ บางครั้งอาจจะต้องวิเคราะห์ว่าโรคที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุใด จากเชื้อราหรือแบคทีเรีย เป็นต้น

“ในช่วงของการดำเนินการในระบบ GAP นั้น เราก็ยังคงมีการใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ด้านนอกแต่ว่าหลักการใช้ปุ๋ยเคมีของเรานั้น ก็จะให้ตรงตามหลักของการผลิตพืชช่วงเวลาที่เหมาะสมกับระยะการเติบโตของพืช และจะทำให้เราประหยัดต้นทุนในการใช้ปุ๋ย ชนิดพืชตัวนี้ ช่วงอายุพืชเท่านี้เราควรใช้ปุ๋ยสูตรอะไร ไม่ใช่ว่าอยากใส่อะไรก็ใส่ครับ จะใส่ตรงกับความต้องการของพืชจริงๆ เท่านั้น เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุดรวมถึงมีการทำปุ๋ยหมักควบคู่กันไปกับการใช้ปุ๋ยเคมี หลักๆ จะมีอยู่ 2 สูตร โดยจะแยกเป็นผักใบกับผักผล ผักใบ เริ่มต้นที่สูตร 46-0-0 ในช่วง 10 วันแรกหลังปลูก หลังจากนั้นใช้สูตร 27-5-5 หรือสูตร 29-7-7 ยังคงเน้นตัวหน้า แต่ว่ามีธาตุอื่นเพิ่มเข้ามาด้วย โพแทสเซียมกับฟอสฟอรัสเพิ่มเข้ามา เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตครับ”

ใช้ปุ๋ยหมักในการปลูกผัก

โดยการเตรียมแปลงทุกครั้งทางฟาร์มจะมีการใส่ปุ๋ยหมัก ปูนขาว เพื่อปรับสภาพดินทุกครั้ง ก่อนที่เราจะทำการปลูกผัก และจะเริ่มต้นใช้ปุ๋ยเคมีในช่วงระยะระหว่างทางที่ผักกำลังเติบโตนั่นเอง

ด้านความต้องการของตลาดนั้น ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน เนื่องจากช่วงดังกล่าวโรคและแมลงมีการระบาดจำนวนมาก และโอกาสการสูญเสียของผักมีสูง ปริมาณผักในท้องตลาดมีน้อย สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น แต่หากถึงช่วงฤดูหนาว เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ผักมีจำนวนมาก ราคาถูก ทางฟาร์มจึงจะเลี่ยงและลดอัตราการผลิตผักให้น้อยลง

ระบบการจัดการภายในฟาร์ม

เมื่อถามถึงราคาขาย คุณธีรพงษ์ เล่าว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิต ทางฟาร์มจะตั้งราคาขายเองให้สอดคล้องกับปริมาณผักที่มีอยู่และปริมาณความต้องการของตลาดในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย เริ่มต้นที่ 50-100 บาท ราคาแตกต่างกันตามชนิดของผัก

ผักภายในสวน

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถติดต่อคุณธีรพงษ์ ทาหล้า เจ้าของสวนผักอินทรีย์ สวนผักดอยโอเค ในพื้นที่ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ หรือทางเพจเฟซบุ๊ก “สวนผักอินทรีย์ สวนผักดอยโอเค” หรือทางเบอร์โทรศัพท์ 085-029-7573


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354