เกษตรจังหวัดสระแก้ว ส่งเสริมปลูกไผ่ ดันเป็นพืชสารพัดประโยชน์ สร้างรายได้ยั่งยืน

สระแก้ว เป็นจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร พืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย มะม่วง ชมพู่ พืชผัก และสมุนไพร

ปัญหาที่เกิดกับภาคเกษตรกรรมเป็นประจำซ้ำซากคือ ภัยธรรมชาติน้ำท่วม ฝนแล้ง โรค/แมลงศัตรู และดินขาดความสมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ทางราชการต้องใช้งบประมาณช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาทต่อปี

ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ได้แก่ อำเภอตาพระยา โคกสูง อรัญประเทศ และวัฒนานคร ซึ่งพบว่ามีปัญหาเหมือนกัน ดังนั้น แนวทางแก้ไขควรมุ่งเน้นไปยังพื้นที่เป้าหมาย แล้วยังมีความคิดเห็นร่วมกันอีกว่าควรเน้นมันสำปะหลังเป็นพืชหลัก

คุณประสาน สุขสุทธิ์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว

สำหรับแนวทางที่ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดเสนอความเห็นให้กับเกษตรกรคือ การนำไผ่มาปลูกทดแทนมันสำปะหลัง เพราะปลูกไม่ยาก ลงทุนต่ำ มีความทนทาน แข็งแรง สามารถเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งมีประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลายด้าน ช่วยก่อให้เกิดรายได้ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปยังอุตสาหกรรม

ผลจากการหารือสรุปความต้องการของเกษตรกรแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนจากมันสำปะหลังไปเป็นไผ่ กับกลุ่มที่ต้องการปลูกมันสำปะหลังต่อ โดยกลุ่มแรกทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้วได้จัดทำเป็นโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไผ่เพื่อความยั่งยืน ภายใต้การปลูกไผ่เพื่อลดความเสี่ยงด้านการเกษตร

ส่วนกลุ่มหลังทางเกษตรจังหวัดแนะนำให้ใช้มันสำปะหลังพันธุ์ทนทานโรคใบด่าง รวมถึงให้เลื่อนเวลาปลูกมันสำปะหลัง ให้เริ่มปลูกช่วงปลายฝนเดือนตุลาคม แล้วไปเก็บเกี่ยวช่วงต้นเดือนกันยายนของปีถัดไป ขณะเดียวกัน ต้องพักแปลงเพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังไปในตัวด้วย ซึ่งมีเกษตรกรเริ่มปฏิบัติตามคำแนะนำเพิ่มมากขึ้น

คุณประจักษ์ ประสงค์สุข เกษตรจังหวัดสระแก้ว

สำหรับโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไผ่เพื่อความยั่งยืน ภายใต้การปลูกไผ่เพื่อลดความเสี่ยงด้านการเกษตร คุณประสาน สุขสุทธิ์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า หลังจากทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้วได้วิเคราะห์พบว่า ปลูกมันสำปะหลังมีความเสี่ยงต่อปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงมองหาพืชชนิดอื่นที่จะช่วยลดความเสี่ยงลงให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาการทำเกษตรกรรมปลูกพืชแต่ละชนิดไม่เคยคำนึงถึงปัญหาผลกระทบที่ตามมาในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ควรเปลี่ยนพืชชนิดอื่นที่มีภูมิคุ้มกัน กระทั่งมองว่า “ไผ่” น่าจะเป็นพืชที่ตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

แผนขยายผลพื้นที่ปลูกไผ่

ไผ่นำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่หน่อ กิ่ง ใบ ลำ

พันธุ์ไผ่ที่ส่งเสริมคือ ซางหม่นราชินี เพราะมีคุณสมบัติเหมาะกับพื้นที่คือ มีความทนแล้ง ทนโรค แข็งแรง เจริญเติบโตดี ดูแลไม่ยุ่งยาก มีลำตรงขนาดปานกลางคือ ราว 4-5 นิ้ว เป็นขนาดลำที่ตลาดรับซื้อต้องการ ขณะเดียวกัน พันธุ์นี้ยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า สามารถนำใบไผ่มาสกัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อเป็นวัตถุดิบหลักตั้งต้นในภาคอุตสาหกรรมหลายชนิด สรุปคือการปลูกไผ่นำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่หน่อ ใบ ลำ

“อย่างใบไผ่เริ่มนำมาใช้ประโยชน์ในการทำชาเมื่ออายุต้นประมาณ 6 เดือน ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้วได้เข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมให้ชาวบ้านทำชาใบไผ่ ให้เริ่มต้นใช้ดื่มในครอบครัวก่อน จากนั้นแจกจ่ายญาติ เพื่อน เมื่อรับรู้ถึงประโยชน์เป็นวงกว้างแล้วค่อยวางแผนทำในเชิงพาณิชย์ต่อไป

แผนผลิตหน่อไผ่ซางหม่นราชินี

นอกจากนั้น เมื่อต้นไผ่แตกกิ่งก้านมีขนาดเหมาะสมให้นำไปเผาเป็นถ่านชีวภาพไบโอชาร์ อีกทั้งยังได้น้ำส้มควันไม้ร่วมด้วย โดยได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนเตาเผาถ่านพร้อมชุดดักเก็บน้ำส้มควันไม้จากทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี”

ประโยชน์ของถ่านไบโอชาร์ยังนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยและดินปลูก เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยที่มีราคาแพงมาก ส่วนน้ำส้มควันไม้นำมาใช้กับภาคเกษตรกรรมเพื่อใช้กำจัดแมลงศัตรูและโรคพืช นับเป็นการช่วยลดต้นทุนการซื้อสารป้องกันโรคแมลง แล้วยังเลี่ยงการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ด้วย นอกจากนั้น หากผลิตถ่านและน้ำส้มควันไม้ได้มากเกินความจำเป็นสามารถนำไปขายมีรายได้อีกด้วย

สาธิตการเผาถ่านเตาคู่แฝด

มีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องและหาแหล่งรับซื้อไผ่ทั้งหน่อและลำไม้ไผ่ สำหรับกิ่งและใบไผ่ที่มีอยู่ในสวนไผ่ได้ส่งเสริมทำถ่านชีวภาพไบโอชาร์ และดักเก็บน้ำส้มควันไม้ และนำไปใช้ในไร่นาของเกษตรกรเอง เป็นการลดต้นทุนการผลิตและใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างคุ้มค่าตอบสนองการจัดการวัสดุแบบ Zero Waste ตอบสนองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG ทำให้เกิดการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

ความสมบูรณ์ของไผ่ระหว่างการใส่ถ่านไบโอชาร์กับไม่ใส่

ตั้งธนาคารไผ่ หวังให้เกษตรกรพึ่งตนเอง

คุณประสาน กล่าวว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 600 ราย ใช้พื้นที่ปลูกในช่วงเริ่มต้น จำนวน 874 ไร่ แนวทางการส่งเสริมจะใช้หลักการพึ่งพาตนเองเป็นแนวปฏิบัติ มีการจัดตั้งธนาคารไผ่ขึ้นในทุกชุมชนเพื่อบริหารจัดการให้เกษตรกรกู้ยืมพันธุ์ไผ่ กำหนดให้ทำธุรกรรมโดยไม่ใช้เงิน แต่ให้ใช้พันธุ์ไผ่แทน

ในช่วงเริ่มแรก ทางภาครัฐจะจัดหาพันธุ์ไผ่จ่ายไปตามธนาคารไผ่ในแต่ละชุมชน โดยธนาคารไผ่กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ชาวบ้านที่ต้องการพันธุ์ไผ่จะต้องรวมกัน จำนวน 5 คน เพื่อช่วยค้ำประกันร่วมกันจากธนาคารไผ่ เมื่อปลูกไปแล้วในระยะเวลา 3 ปี ต้องขยายพันธุ์นำมาคืน ในสัดส่วน 1 : 15 คือต้นพันธุ์ที่ยืม 1 ต้น กับดอกเบี้ยเป็นต้นพันธุ์ จำนวน 15 ต้น ทำให้ธนาคารไผ่จะได้รับคืนต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกปี ปีละ 15 เท่า แล้วจัดให้รายอื่นที่สนใจมายืมต่อไปในลักษณะเดียวกัน

ถ่านไบโอชาร์ชนิดผงและก้อน

“ดังนั้น พื้นที่ปลูก 874 ไร่ เมื่อครบ 3 ปีจะเพิ่มจำนวน 15 เท่า อย่างไรก็ตาม ต้นพันธุ์ที่เหลือจากการคืนธนาคารไผ่แล้ว เกษตรกรสามารถนำไปปลูกขยายผลเพิ่มต่อเนื่องหรือขายเพื่อสร้างรายได้อีก พันธุ์ไผ่ที่คืนจะให้เกษตรกรรายอื่นมากู้ยืมขยายพื้นที่ปลูกต่อไปจนกว่าจะครบกับความต้องการของเกษตรกรที่มีความประสงค์อยากปลูกไผ่ของจังหวัดสระแก้ว”

ความสมบูรณ์ของต้นไผ่และกล้วยในหลุมเดียวกัน

นำหน่อกล้วยกับไผ่ ลงปลูกหลุมเดียวกัน สร้างคุณภาพ

หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช กล่าวว่า ระยะเริ่มต้นโครงการจะลองให้ปลูกไผ่ก่อนรายละ 2 ไร่ และไผ่ 1 ต้น ขยายพันธุ์ได้กว่า 50 ต้นต่อปี การเริ่มต้นปลูกเพื่อให้ได้ผลดีควรปลูกไผ่ร่วมกับกล้วย เพราะจุลินทรีย์และความชื้นหน่อกล้วยจะช่วยหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตของไผ่ให้มีคุณภาพ อีกทั้งระหว่างรอต้นไผ่โต ผลกล้วยและอีกหลายส่วนยังนำมาใช้ประโยชน์เอง หรือขายสร้างรายได้อีก

การปลูกไผ่สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องปรับปรุงพื้นที่ก่อน วิธีปลูกให้ขุดหลุม ขนาด 50x 50x 50 เซนติเมตร ใช้ระยะห่างต้น 4×4 เมตร ได้จำนวน 100 ต้นต่อไร่ แล้วนำถ่านไบโอชาร์จำนวนครึ่งกิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม และดินปลูกรองก้นหลุมเพียงครั้งเดียวในปีแรก

ต้นพันธุ์จากธนาคารไผ่

นำหน่อกล้วยกับต้นพันธุ์ไผ่ลงปลูกในหลุมเดียวกัน เหตุผลเพราะต้องการใช้ความชื้นจากหน่อกล้วยทำให้หลุมไม่แห้ง อีกทั้งจุลินทรีย์ในหน่อกล้วยจะช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินเป็นสารอาหารคุณภาพให้กับไผ่ ช่วยทำให้การเจริญเติบโตเร็วและมีความสมบูรณ์ดีมาก ความจริงการปลูกไผ่ไม่จำเป็นต้องวางระบบน้ำ หากฝนทิ้งช่วง บรรทุกน้ำใส่รถเข้าไปในสวนไผ่เพราะมีพื้นที่เพียงพอให้รถเข้าไปได้ โดยรดน้ำ 2 สัปดาห์ครั้งเพียงพอ

ในแต่ละปี ใส่ปุ๋ยคอกต่อต้นตามจำนวนปีที่เพิ่มขึ้น ปลูกไผ่ใช้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ไม่ต้องใส่เคมี เนื่องจากในระยะยาวเกษตรกรจะไปขอใบรับรองแปลงอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งใบรับรองจะส่งผลทางด้านการตลาดเมื่อได้ผลผลิต อย่างเช่น หน่อไม้อินทรีย์

สมาชิกรับต้นพันธุ์ไผ่ไปปลูก

สารพัดประโยชน์ ที่สร้างรายได้ในสวนไผ่

เมื่อต้นไผ่เจริญเติบใหญ่ ภายในสวนไผ่ยังใช้ประโยชน์ต่อยอดปลูกพืชกินสดอย่างเห็ดได้อีก เพราะเป็นแปลงปลูกอินทรีย์อยู่แล้ว จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่ กับเห็ดโคนด้วย โดยเฉพาะเห็ดเยื่อไผ่ที่สามารถเพาะในแปลงไผ่ได้สำเร็จ ฉะนั้นแปลงไผ่ที่เกษตรกรปลูกไว้ นับเป็นแหล่งรายได้จากพืชหลายชนิด

หรือบางรายปลูกป่าไผ่แล้วล้อมรั้วตาข่ายเพื่อเลี้ยงไก่บ้าน นำหน่อไปบริโภคแล้วขาย ใช้ใบไผ่เป็นอาหารไก่ ช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร แล้วยังเป็นไก่และไข่อินทรีย์เพิ่มมูลค่าทางการตลาด นอกจากนั้น ใบไผ่ยังใช้เป็นอาหารของแพะ แกะ มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความปลอดภัยต่อสัตว์และผู้บริโภค

เตรียมหลุมปลูกไผ่และกล้วย

ส่วนโรคและศัตรูที่พบมักเจอในช่วงแรกที่เริ่มปลูก ช่วงแตกหน่อและกิ่งแขนงโคนต้น ควรตัดแต่งกิ่งออกอย่าให้รก เพราะจะทำให้เกิดเพลี้ยหลายชนิด เพลี้ยเหล่านั้นจะกินที่กาบแข็ง เมื่อกาบร่วงเพลี้ยจะเป็นอาหารของมด พอต้นไผ่สูงขึ้นจะเจอหนอนม้วนใบ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะหนอนเจริญเติบโตช้ากว่าไผ่ สรุปว่าเรื่องโรค/แมลงไม่น่าเป็นห่วง

คุณประสานชี้ว่า ตอนนี้แผนที่กำหนดไว้เกินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งพื้นที่ปลูกและจำนวนผู้ปลูก สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรมีความตั้งใจ ให้ความร่วมมือตามแผนที่ทางราชการกำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ในช่วงเวลาเพียง 8 เดือน ชาวบ้านมีความกระตือรือร้นและตั้งใจมาก พวกเขามีความสุขภายหลังฝนตกแล้วเห็นไผ่แตกหน่อรู้สึกว่ายังไงไม่สูญเปล่า หน่อไผ่จะกินเองหรือขายก็ยังพอมีรายได้ มองเห็นความหวังแม้เพิ่งเริ่มต้น ต่างกับการปลูกมันสำปะหลัง พอเจอโรคใบด่างทำให้สูญเสียผลผลิต ขาดรายได้ เพียงได้เงินชดเชยจากรัฐไร่ละ 1,000 บาท”

การเตรียมแปลงปลูกไผ่

ปลูกไผ่ไม่ได้เพียงสร้ายรายได้ แต่ยังช่วยฟื้นสภาพความสมบูรณ์ของดิน

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมปลูกไผ่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว หวังให้เกษตรกรนำไผ่ไปใช้ประโยชน์ในทุกด้านตามกำลังความสามารถเพื่อสร้างรายได้ อาจเริ่มจากครัวเรือนก่อนเพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจในธรรมชาติของพืชชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากหน่อ ใบ ถ่านชีวภาพไบโอชาร์ น้ำส้มควันไม้ แล้วค่อยขยายผลในเชิงพาณิชย์เมื่อทุกอย่างพร้อม

ถ่ายทอดความรู้เรื่องชาใบไผ่

การปลูกไผ่ไม่เพียงสร้างประโยชน์กับผู้ปลูกในแง่รายได้ แต่ยังช่วยให้ดินที่เสื่อมกลับมามีคุณภาพ การปลูกไผ่ไม่ได้ใช้สารเคมี จะเน้นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีส่วนผสมจากถ่านชีวภาพไบโอชาร์ พร้อมกับน้ำส้มควันไม้ที่เกิดขึ้นจากการแปรรูปมาผลิตเป็นสารสกัดแมลงช่วยให้สภาพทางธรรมชาติมีความสมบูรณ์ เมื่อปุ๋ยอินทรีย์เข้าไปแทนที่เป็นเวลานาน ทำให้ดินค่อยปรับฟื้นคุณภาพกลับมามีความสมบูรณ์ คราวนี้หากต่อไปต้องการปลูกพืชไม้ผลชนิดใดก็จะมีคุณภาพทั้งสิ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน

ดูสวนไผ่ของจริง

หวังจัดตั้งไผ่แปลงใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืน

ในอนาคตหากสมาชิกปลูกไผ่ได้ตามเป้าหมายมีคุณภาพมาตรฐาน อาจมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นไผ่แปลงใหญ่เพื่อวางแนวทางการปลูกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดตามความถนัดของสมาชิกแต่ละราย เป็นการวางรากฐานเพื่อปูทางไปสู่การผลิตไผ่เชิงอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้มีกลุ่มธุรกิจจากต่างประเทศหลายแห่งสนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไผ่

ชาไผ่ซางหม่นราชินี จากสวนโป๋ยแจ่ม จังหวัดสระแก้ว

คุณประสาน เสริมในตอนท้ายว่า โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการและอุปกรณ์จากหลายหน่วยงาน รวมถึงสถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยนำงานวิจัยจากสถาบันเหล่านั้นมาใช้ในกิจกรรมไผ่ ตลอดจนชาวบ้านได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ที่หนักใจคือเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะทุกกิจกรรมล้วนมีความจำเป็นต้องใช้เงินทั้งสิ้น ขณะที่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ยังต้องการความรู้และฝึกทักษะ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว โทรศัพท์ 037-258-043

……………………………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354