มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงพื้นที่ชุมชน ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ดูความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำชุมชน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมงาน “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รอดพ้น วิกฤตทรัพยากร และ วิกฤตเศรษฐกิจ ในยุคโควิด” ณ ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมทั้งเยี่ยมชมจุดดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี และบรรยาย “สรุปแนวทาง รอดพ้น วิกฤตทรัพยากร และ วิกฤตเศรษฐกิจ” โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมบรรยายพิเศษหัวข้อ “วิกฤตทรัพยากร และ วิกฤตเศรษฐกิจ ในยุคโควิด” นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บริหารจัดการดิน น้ำป่า สู่ความมั่นคงเศรษฐกิจชุมชน โดย ผู้แทนจากภาคเอกชน เพื่อหารือแนงทางขับเคลื่อนดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อรอดพ้นวิกฤตร่วมกัน

ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 35,189 ไร่  ชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนไม้ผลและปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งเป็นรายได้หลักที่สำคัญของชุมชน โดยอาศัยแหล่งน้ำจากคลองธรรมชาติ คือ คลองเกษียร ที่ไหลผ่านหมูบ้าน ความยาวประมาณ 15 กิโลเมตร ก่อนใหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี แต่การปลูกไม้ดอก ไม้ประดับในพื้นที่ ต้องประสบกับปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลากทุกปี ชุมชนขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยเฉพาะบริเวณถนนสุวรรณศร ทำให้ผลผลิตเสียหาย และยังมีปัญหาขาดแหล่งกักเก็บน้ำ รวมถึงไม่มีการวางแผนการบริหารจัดการที่ดี

หลังจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาสนับสนุน ด้วยการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำชุมชน ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แผนที่ภูมิศาสตร์ ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นนวัตกรรมทางธรรมชาติ และยังประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนจนสามารถจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำในฤดูฝน ก่อนที่จะปล่อยให้น้ำไหลลงแม่น้ำปราจีนบุรี อีกทั้งได้วางระบบส่งน้ำเพื่ออุปโภคในครัวเรือน และใช้ในการเกษตร รวมถึงสอนให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาและพื้นฟูป่าตันน้ำ

ปัจจุบันชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ และสำรองน้ำในพื้นที่ ด้วยสระน้ำประจำไร่นา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เขื่อนใต้ดิน” ทำให้มีน้ำใช้ยามฝนทิ้งช่วง สามารถบริหารจัดการปิดเปิดประตูน้ำ และเชื่อมต่อคลอง เพื่อกระจายน้ำให้ เช้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ 28,850 ไร่ ช่วยลดภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม พร้อมกับปรับเปลี่ยนแนวคิดมาทำตามแนวทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ขยายผลเครือข่าย โดยการร่วมเรียนรู้ ลงมือทำและขับเคลื่อนงานร่วมกัน เกิดเครือข่ายกลุ่มเยาวชน สามารถประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนการทำงานกับคณะกรรมการเครือข่ายจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนได้เป็นอย่างดี