นิคมอุดรฯ จ่อลงทุนศูนย์ดีซี 93 ไร่ “เหมืองโพแทช” ลุ้นครม.

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เตรียมทุ่มงบฯ กว่า 200 ล้าน ตั้งศูนย์กระจายสินค้าบนพื้นที่ 93 ไร่ รองรับการกระจายสินค้าในอาเซียน ขณะที่โครงการเหมืองแร่โพแทช รอ ครม.อนุมัติ พร้อมเดินหน้าลงทุนประทานบัตร 25 ปี ปริมาณแร่โพแทช 270 ล้านตัน แนะใช้โมเดลดึงรัฐ ประชาชน เอกชน มาร่วมบริหารเงินกองทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนในจังหวัดอุดรธานี มี 3 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ 1. โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ของ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ตั้งอยู่ในตำบลโนนสูง และหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี ตั้งเป้าเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกในภาคอีสาน มีพื้นที่ 2,219 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากถนนมิตรภาพ 2 กิโลเมตร อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย แปรรูปสินค้าเกษตร ชิ้นส่วนยานพาหนะและประกอบรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา รางรถไฟ และอีไอเอผ่านการอนุมัติแล้ว

  1. โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center:DC) ในนิคมฯ อุดรธานี และโครงการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า หรือคอนเทนเนอร์ยาร์ดหนองตะไก้ เพื่อเป็นคลังกระจายสินค้ากลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบนเชื่อมต่อ สปป.ลาว เวียดนาม และจีน เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออก พื้นที่ราว 400 ไร่ และมีแผนจะลงทุนรางรถไฟเชื่อมเข้ามาในนิคมฯ และพัฒนาพื้นที่ของศูนย์กระจายสินค้าด้วย

ทั้งนี้ นิคมฯ จะลงทุนก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าเฉพาะเฟสแรก พื้นที่ 93 ไร่ วงเงิน 102.3 ล้านบาท ทางรถไฟภายในนิคมฯ มูลค่า 30.991 ล้านบาท และลานเก็บสินค้า ลานจอดรถบรรทุก อาคารสำนักงาน 57.817 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 191.108 ล้านบาท และจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐอีก 53.640 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างทางรถไฟภายนอกนิคมฯ ระยะทาง 1,950 เมตร (คู่ขนานรางเดิม) วงเงิน 45 ล้านบาท และถนนวงเงิน 640 ล้านบาท

สำหรับโครงการที่ 3 เหมืองแร่โพแทช รัฐบาลถือหุ้น 10% และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 90% มีเนื้อที่คำขอประทานบัตร 26,446 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่บางส่วนของตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ และตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมือง และตำบลนาม่วง ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีปริมาณแร่โพแทช ประมาณ 270 ล้านตัน ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 25 ปี ประกอบด้วย การก่อสร้าง 2 ปี การทำเหมือง 21 ปี การปิดเหมืองและฟื้นฟูสภาพเหมืองอีก 2 ปี

นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เตรียมพื้นที่จำนวน 93 ไร่ สำหรับการพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้า โดยสามารถขยายได้ถึง 400 ไร่ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท และได้เตรียมจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่เพื่อบริหารศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้ โดยจะไปเช่าที่ดินของ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ในส่วนของความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค

ส่วนการชักชวนนักลงทุน ขณะนี้ต้องการให้ทุกอย่างเป็นรูปร่างและให้ทุกอย่างพร้อมจึงจะเปิดกว้างให้นักลงทุนเข้ามา ซึ่งก็มีหลายบริษัทและหลายประเทศที่เข้ามาพูดคุย โครงการนี้หลายฝ่ายก็อยากให้เกิด เพราะตามที่ กนอ.คาดการณ์ไว้หากเกิดจะมีเงินลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี 74,000 ล้านบาท

ด้าน นายวรวุฒิ หิรัญไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเชีย แปซิฟิกโปแตซคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายโดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพิจารณาตรวจสอบเอกสารทั้งหมด เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งบริษัทมีความเป็นห่วงการบริหารเงินกองทุน จึงเสนอให้รัฐเข้ามาร่วมดูแลภายใต้ประชารัฐ คือ รัฐ ประชาชน เอกชน มาร่วมกันทำ ถือว่ามีความก้าวหน้าไปอีกขั้นที่จังหวัดได้มาทำงานเชิงรุก

ทั้งนี้ ได้เสนอให้จังหวัดเป็นพี่เลี้ยงของตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียในการจัดตั้งและวางแนวทางการบริหารกองทุนต่างๆ และการใช้เงินกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และวางแนวทางการบริหารกองทุนช่วยเหลือปุ๋ยถูกให้เกิดประโยชน์

ด้าน นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า โครงการนิคมฯ และเหมืองโพแทชถ้าเกิดขึ้นได้ผลประโยชน์ตอบแทนทั้งเศรษฐกิจและสังคมจะตกอยู่กับเมืองอุดรธานีมากมาย แต่ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีอะไรเสีย เพียงแต่เสียโอกาส แต่ขณะเดียวกันต้องไม่มีปัญหาเรื่องชุมชน สิ่งสำคัญคือต้องมีธรรมาภิบาล ปฏิบัติตาม EIA และเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ออกแบบไว้ก็ไม่มีปัญหา

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ