ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 20

โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 20” โดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิ ธรรมดี นำครูอาจารย์และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ผ่านการคัดเลือก ลงพื้นที่ทำกิจกรรม ในวันที 20-21 สิงหาคม 2565 ณ โครงการศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร โดยให้ความสำคัญกับ การตามรอยเจ้าหญิงนักพัฒนา ศึกษาวิถีการทำเกษตรกรรม การลงพื้นที่เพื่อ “ลงมือทำ” กิจกรรมในโครงการ อาทิ การปลูกพืชผัก การตัดต่อตอนกิ่งพืชผล การแปรรูปผลิตภัณฑ์โคนม การสร้างความเข้าใจในเรื่องการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยพันธุ์พืช และดูแลสังคม ชุมชน และกิจกรรมมอบเป็ดไข่และปลานิลจิตรลดา ให้กับชาวบ้านตำบลเนินมะกอก จำนวน 200 ครอบครัว เป็นการเรียนรู้อย่างครบวงจรเพื่อการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างคน” เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการ “ระเบิดจากข้างใน” เป็นหัวใจสำคัญที่สุด

กิจกรรมปลูกแฝกในแปลง

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน ความสำคัญนั้นอยู่ที่การเริ่มต้นพัฒนา “คน” กระตุ้นให้คนมีจิตสำนึกและพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรม สร้างคนดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีร่วมพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างให้เป็นองค์กรที่ดี เป็นองค์กรคุณธรรม และเป็นพลังร่วมขับเคลื่อนสังคม ต่อเนื่องไปจนถึงการพัฒนาประเทศชาติเพื่อเกิดความยั่งยืน เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน UN SDGs 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ ได้ตามเป้าหมายในปี 2030 ทิพยประกันภัยห่วงใยทุกชีวิตในสังคม กับโครงการ ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด พร้อมร่วมส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความแข็งแรงให้กับสังคม เพื่อสร้าง “สังคมคุณธรรมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ทั้งนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในการพัฒนาทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” เพราะคนเป็นทั้งเป้าหมายและพลังการขับเคลื่อนการพัฒนาทุกด้าน การพัฒนาคนที่สมดุล จะต้องให้คนมีทั้งความดี ความสามารถ และความสุข เพื่อหล่อหลอมขยายเป็นคุณธรรมของครอบครัว ชุมชน และประเทศ ในขณะที่ประชาชนมีความสัมพันธ์กันในระบบองค์กรมากขึ้น ทั้งในสถานที่ทำงานและการเป็นสมาชิกสำคัญในรูปแบบต่างๆ เราต้องรณรงค์ส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ตระหนักในความรับผิดชอบและมีบทบาทในการส่งเสริมคุณธรรมอย่างจริงจัง เพื่อให้องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรคุณธรรม เป็นแหล่งสร้างคนดีเพื่อสังคมดี เป็นพลังสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมที่สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพราะ “คนดีต้องมีพื้นที่ยืน ความดีมีพื้นที่ทางสังคม”

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กับแปลงแฝก

“โดยการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก อาจารย์เกษม นวมครุฑ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบางมูลนาก ซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์คุณธรรมที่ร่วมกันขับเคลื่อนคุณธรรม จนเป็นโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมถอดบทเรียนองค์กรคุณธรรม หัวข้อ ถอดบทเรียนโรงเรียนคุณธรรม : จุดกำเนิดแรงบันดาลใจ เพื่อการนำประสบการณ์ไปพัฒนา โรงเรียน หรือองค์กรของตนให้พร้อมก้าวสู่การเป็นโรงเรียนคุณธรรม หรือองค์กรคุณธรรมต่อไปได้ในอนาคต” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และประธานมูลนิธิธรรมดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลักการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรคุณธรรมได้น้อมนำหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นหลักการ เริ่มต้นจากการระเบิดจากข้างใน ทำแบบองค์รวมคือมีเป้าหมายเดียวกันทั้งองค์กร ดำเนินการตามหลักความจริงมีการศึกษาปัญหาและต้นทุนความดีขององค์กร แก้ไขปัญหาจากจุดเล็ก ศึกษาเรียนรู้และปรับใช้ตามความเหมาะสมกับองค์กร สร้างโอกาสให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมเพราะเป้าหมายสำคัญของการส่งเสริมคุณธรรมคือการทำให้คนมีจิตสำนึกและพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรมมากขึ้น จึงต้องให้ทุกคนเป็นพลังร่วมกันขับเคลื่อน ทำความดีเพื่อความดี ตั้งใจพัฒนาองค์กรคุณธรรมเพื่อสร้างองค์กรที่ดี สร้างคนดีเพื่อสังคมดี

เหล่าผู้บริหารร่วมมอบเป็ดพันธุ์ไข่และปลานิลจิตรลดาให้กับชาวเนินตำบลเนินมะกอก

นอกจากการลงพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว คณะครู อาจารย์ และผู้บริหาร ยังเข้าร่วมการถอดบทเรียนโดย อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากร จัดกิจกรรม Interactive Board Workshop ตามรอยนวัตกรรมศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล และ “The King’s Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครู อาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 20 เตรียมลงพื้นที่ ในโครงการสาธิตการปลูกพืชในพื้นที่ดินเค็ม จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 17-18 กันยายน 2565 นี้ หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com ตามรอยพระราชา – The King’s Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation