วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ปลดแอกฟอสซิล ลดค่าไฟฟ้า

เมื่อเร็วๆ นี้ นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ร่วมกันเปิดตัว “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)” จากการระดมทุนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ โดยใช้เงินในการติดตั้งแห่งละ 400,000 บาท สร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มศักยภาพด้านการใช้พลังงาน และมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า แสงอาทิตย์คือความเป็นธรรมด้านพลังงานที่ให้ความเสมอภาคกับทุกภาคส่วน การเข้าถึงแสงอาทิตย์คือสิทธิของมนุษย์ทุกคน กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน แต่แนวคิดนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มุ่งมั่นผลักดันให้ประชาชนเป็นได้แค่ผู้จ่ายเงินซื้อพลังงานภายใต้การผูกขาดของอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ วิถีชีวิตของผู้คน อย่างที่เราจะเห็นได้จากการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าฟอสซิลในหลายพื้นที่

กองทุนแสงอาทิตย์เริ่มต้นจากการติดโซลาร์รูฟท็อปโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่ง (โรงพยาบาลแสงอาทิตย์ Solar Hospitals) ผลของโครงการชี้ชัดว่า แสงอาทิตย์ใช้ได้ทุกภาคและเกิดผลดีกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยโรงพยาบาลประหยัดค่าใช้จ่ายลงมาก จากนั้น โครงการช่วงถัดมาคือ วิทยาลัย ทั้งการอาชีพ เทคนิคและอาชีวะ เพื่อสร้างการเรียนรู้จากการติดตั้งและการติดตามผลงาน การเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับผู้คนที่สนใจ รวมทั้งการจ้างงานและก้าวสู่ผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์

เมื่อปี 2561 วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ร่วมกับ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 และ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 รวม 17 วิทยาลัย ได้ลงนามสัญญาบริการอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาขนาด 450 กิโลวัตต์ (0.45 กิโลวัตต์) กับการไฟฟ้านครหลวง เพื่อเป็นลดค่าไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และของวิทยาลัย

วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านพลังงานหมุนเวียนโดยจะเห็นได้จากวิทยาลัยฯ เป็นศูนย์สาธิตนวัตกรรมพลังงาน โชว์สถานีอัดประจุไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบขนาด 10 กิโลวัตต์ (kW) และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 15 คัน ซึ่งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรม ด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร

ดร.สิทธิพงศ์ นกแอนหมาน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ กล่าวว่า การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์จากการระดมทุนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อปี หรือในระยะเวลามากกว่า 25 ปี ทางวิทยาลัยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งทางวิทยาลัยฯ สามารถนำเงินค่าไฟฟ้าจำนวนดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนของวิทยาลัยได้เพิ่มมากขึ้น