กรมวิชาการเกษตร เปิด 63 เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภูมิสังคมในโอกาสครบรอบ 30 ปี สวพ.

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาการแบ่งท้องที่ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกเป็นเขต ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 104 วันที่ 30 กันยายน 2535

ปัจจุบันสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1-8 มีอำนาจหน้าที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 88 ก 30 ธันวาคม 2557 ดังต่อไปนี้ (1) วางแผนงานและโครงการวิจัยและพัฒนาพืช (2) ศึกษา วิจัยและพัฒนาพืช รวมทั้งทดสอบเทคโนโลยีการเกษตรแบบมีส่วนร่วมกับเกษตรกรเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร (3) ให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบ และรับรองดิน น้ำ พืช ปุ๋ย สารเคมีการเกษตรผลิตผล ผลิตภัณฑ์พืช และมาตรฐานสินค้าเกษตร (4) ควบคุมและกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายที่กรมรับผิดชอบ (5) เป็นศูนย์บริการข้อมูลด้านวิชาการเกษตรให้แก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร เอกชน และหน่วยงานอื่น ที่เกี่ยวข้อง (6) ให้บริการ วิซาการและเทคโนโลยีแก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร เอกชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง (7) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ในโอกาสครบ รอบ 30 ปี การก่อตั้งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ในปี 2565 จึงได้มีการรวบรวมผลงานวิจัยเด่นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพื่อเผยแพร่เป็นคำแนะนำแก่เกษตรกรและผู้ใช้ประโยชน์ทั่วไป อนึ่ง กรมวิชาการเกษตร ยังคงมุ่งมั่นที่จะให้ สวพ. ที่เป็นหน่วยงานในภูมิภาคทำงานบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของเกษตรกร และเพื่อการพัฒนาการเกษตรของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป โดย 63 เทคโนโลยีที่เหมาะสมมีดังนี้

ภาคเหนือตอนบน โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตในระบบข้าว-ถั่วลิสง จังหวัดลำปาง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระบบข้าว-ถั่วเหลือง จังหวัดเชียงใหม่ การผลิตมันสำปะหลังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตพืชผักอินทรีย์ตระกูล Brassicaceae ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รูปแบบการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ภาคเหนือตอนบน การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตลำไยอินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน การฟื้นฟูสวนส้มเกลี้ยงสภาพเสื่อมโทรมพื้นที่จังหวัดลำปาง

ภาคเหนือตอนล่าง โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก เทคโนโลยีการผลิตถั่วฝักยาวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จังหวัดพิจิตร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ข้าวโพดโดยการใช้ปุ๋ยแบบเกษตรกรมีส่วนร่วมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร การผสมปุ๋ยใช้เองในมะขามหวานเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น เทคโนโลยีแบบผสมผสานเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรู และเพิ่มผลผลิตผักกาดหัวในกลุ่มเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น เทคโนโลยีแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังในกลุ่มเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ การจัดการสวนปาล์มน้ำมันสำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังในระดับชุมชนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน การใช้แบคทีเรีย Bacillus subtilis: Bs DOA-24 ในการควบคุมโรคเหี่ยวเขียวมะเขือเทศในสภาพไร่ จังหวัดนครพนม การจัดการสวนปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มผลผลิตตามศักยภาพพื้นที่จังหวัดอุดรธานี การจัดการสวนปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มผลผลิตตามศักยภาพพื้นที่จังหวัดสกลนคร การตัดแต่งกิ่งร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินกับลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 การผลิตกะหล่ำปลีในโรงเรือน การผลิตผักชีในโรงเรือน การผลิตมันสำปะหลังในไร่เกษตรกรจังหวัดมุกดาหาร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยในพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวในจังหวัดสุรินทร์ การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี ร่วมกับการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในมันสำปะหลังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง การจัดการปุ๋ยและการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวเพื่อการผลิตอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รูปแบบการจัดการดินเพื่อการผลิตพืชอย่างยั่งยืนในระบบเกษตรอินทรีย์กลุ่มดินทรายจังหวัดร้อยเอ็ด การลดต้นทุนการผลิตข้าวโพดฝักสดด้วยปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์1 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง การใช้สายพันธุ์ไรโซเบียมที่มีประสิทธิภาพในการสร้างปม และการควบคุมเสี้ยนดินในมันแกว การตัดแต่งกิ่งน้อยหน่าเพื่อลดโรคเพิ่มผลผลิต

ภาคกลางและตะวันตก โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท เทคโนโลยีการฟื้นฟูส้มโอขาวแตงกวา จังหวัดชัยนาท ที่มีปัญหาผลร่วงจากโรคกรีนนิ่ง การผลิตส้มโอนครชัยศรีในพื้นที่จังหวัดนครปฐม การผลิตสับปะรดผลสดในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี การผลิตกล้วยหอมในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยในพื้นที่นาจังหวัดราชบุรี การผลิตข้าวโพดเทียนพื้นเมืองฝักสดในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี การผลิตถั่วลิสงหลังนาคุณภาพ จังหวัดนครสวรรค์ การป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวในกระชาย

ภาคตะวันออก โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี การพัฒนาและขยายผลเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในมังคุด การผลิตมันสำปะหลังในพื้นที่ภาคตะวันออก การผลิตมะเขือเทศจากการเสียบยอดโดยใช้ต้นตอจากมะเขือพวง การผลิตกล้วยไข่ การขยายผลเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมควบคุมด้วงแรดมะพร้าว

ภาคใต้ตอนบน โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เทคโนโลยีการผลิตลางสาดเกาะสมุย การผลิตส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามคุณภาพ การผลิตทุเรียนสาลิกาในพื้นที่จังหวัดพังงา การผลิตจำปาดะในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน การจัดการสวนของสับปะรดภูเก็ต การป้องกันศัตรูที่สำคัญของพริกแบบผสมผสาน (IPM) เพื่อการผลิตพริกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน การผลิตมังคุดนอกฤดูในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1 การประเมินปริมาณธาตุอาหารจากใบปาล์มน้ำมัน

ภาคใต้ตอนล่าง โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา “DOA โมเดล : การผลิตพืชโดยใช้ศาสตร์พระราชา” เพื่อการพัฒนาการผลิตพืชที่พอเพียงและยั่งยืนของชุมชนเกษตร การผลิตส้มโอหอมควนลัง การนำวัสดุเศษเหลือจากการผลิตแป้งสาคูมาใช้เพาะเห็ดเศรษฐกิจ การผลิตผักพื้นบ้านกินยอดเพื่อเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร พันธุ์ถั่วลิสงที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดสงขลา การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบสำหรับปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง การปลูกและระยะปลูกต้นคล้าที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูก การใส่ปุ๋ยตามลักษณะเนื้อดินสำหรับข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์สงขลา 84-1 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง การผลิตกาแฟโรบัสตาเพื่อเป็นพืชทางเลือกในภาคใต้ตอนล่าง การจัดการสวนมะพร้าวในภาคใต้ตอนล่าง และการพัฒนาสายพันธุ์และเทคโนโลยีการเพาะเห็ดร่างแหสายพันธุ์ไทย

สนใจรายละเอียดสามารถติดต่อได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในแต่ละพื้นที่