3 วิทยาลัยเทคนิค โชว์นวัตกรรม แปรรูปสมุนไพรแบบครบวงจร

ผลงานของเด็กอาชีวะไม่แพ้ชาติใดในโลก ที่ผ่านมาผลงานและนวัตกรรมต่างๆ ของนักศึกษาอาชีวะไปแข่งขันระดับประเทศและระดับนานานชาติจนกวาดรางวัลชนะเลิศมาแล้วมากมาย เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ดร. สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เยี่ยมชมบู๊ธนิทรรศการ

ดร. สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา โดยมีผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาและสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร จำนวน 23 แห่งทั่วประเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ณ เวที Highlight Stage ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

รับรางวัล “ชมเชย Thailand Research Expo 2022 Award”

 

อาชีวะ คว้ารางวัลมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ

ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมออกบู๊ธนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมในงานนี้ด้วย โดยนำเสนอผลงานเรื่อง “การพัฒนาเครื่องจักรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 วิทยาลัยเทคนิคนครนายก วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี และวิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว ในการนำเสนอนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องจักรแปรรูปสมุนไพร ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่ เครื่องหั่นฟ้าทะลายโจร เครื่องหั่นมะระขี้นก เครื่องบดหยาบมะระขี้นก เครื่องหั่นมะระขี้นกแบบแยกเม็ดระบบกึ่งอัตโนมัติ เครื่องอบแห้งระบบลมร้อนด้วยพลังงาน   ไฮบริด และเครื่องบรรจุแคปซูล ส่งมอบให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก

พิธีลงนามความร่วมมือวิจัยและนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา

นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้การวิจัยด้านอาชีวศึกษา เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่วิสาหกิจชุมชน ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน ช่วยลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และเพิ่มศักยภาพการผลิตให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างผล กระทบเชิงบวก สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้ชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับรางวัล “ชมเชย Thailand Research Expo 2022 Award” พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท

 

เครื่องหั่นฟ้าทะลายโจร

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรบ้านคลองหว้าใหม่ ตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ต้องการเครื่องจักรมาช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตฟ้าทะลายโจร วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 และผู้เชี่ยวชาญได้ระดมแนวคิดออกแบบสร้างนวัตกรรมสร้างเครื่องหั่นฟ้าทะลายโจรเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรในขั้นตอนการหั่นฟ้าทะลายโจรให้มีความสะดวก รวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ใช้แรงงานคน 1 คน ทำงานได้ 30 กิโลกรัม แต่เครื่องหั่นฟ้าทะลายโจรช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตได้ 100 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง

เครื่องหั่นฟ้าทะลายโจร มีโครงสร้างเป็นสแตนเลส SUS 304 เหมาะสำหรับผลิตอาหาร ส่วนประกอบมี 3 ชุด คือ ชุดขับทดด้วยสายพาน ชุดใบมีดหั่น และชุมควบคุมการปิด-เปิด การทำงานของระบบไฟฟ้า เครื่องจักรสามารถปรับลดความเร็วได้ตามความเหมาะสม มีความปลอดภัยสูง และทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำ ช่วยให้ชุมชนเข้าถึงสมุนไพรใช้ดูแลตัวเองได้ง่าย และยั่งยืนด้วยสมุนไพรในชุมชน ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิม 25% นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์นี้ช่วยเพิ่มมูลค่าสมุนไพรได้อย่างดี โดยฟ้าทะลายโจรสดขายได้กิโลกรัมละ 10-15 บาท หั่นตากแห้ง ขายได้กิโลกรัมละ 150-500 บาท บดละเอียด ขายได้กิโลกรัมละ 250-600 บาท

เครื่องดื่มชามะระขี้นก ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองสิบสาม

 

เครื่องหั่นมะระขี้นก

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ต้องหั่นมะระขี้นกทุกวัน ตั้งแต่เวลา 02.00 น. โดยหั่นด้วยมือให้เสร็จก่อนเวลา 09.00 น.ของทุกวัน เมื่อหั่นเสร็จต้องนำไปตากแดดให้ทันกับแดด เพื่อไม่ให้สมุนไพรที่หั่นแปรสภาพเป็นสีดำ จึงมีปัญหาเรื่องการหั่นมะระขี้นก โดยแรงงาน 1 คน สามารถหั่นมะระขี้นกและคว้านเม็ดได้ 13 กิโลกรัม ต่อ 8 ชั่วโมง เวลาซึ่งปริมาณการหั่นด้วยมือจะได้ปริมาณที่น้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ชุมชนต้องการสนับสนุนเครื่องจักรจากหน่วยงานภาครัฐ

วิทยาลัยเทคนิคนครนายก จึงออกแบบและสร้างเครื่องหั่นมะระขี้นกแบบแยกเม็ดระบบกึ่งอัตโนมัติ โดยโครงสร้างเครื่องจักรเป็นสแตนเลส SUS 304 เหมาะสำหรับผลิตอาหาร เครื่องหั่นเลือกใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด2 แรงม้า ควบคุมความเร็วด้วยอินเวอร์เตอร์ ใช้ใบมีดหั่นมะระแบบ 3 ใบมีด สามารถหั่นมะระขี้นกได้ 60 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง

เครื่องอบลมร้อน ผลงานของวิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี

 

เครื่องบดหยาบมะระขี้นก

ผลการศึกษาของสภาแพทย์แผนไทย พบว่า สมุนไพรไทยสามารถต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ทำให้วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลวังท่าช้าง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี มียอดสั่งซื้อสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น แต่ชุมชนใช้เครื่องจักรแบบดั้งเดิมทำงานได้น้อย เพียง 13 กิโลกรัม ต่อวัน ชุมชนต้องการเครื่องจักรที่ผลิตได้ 50 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง

วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี จึงได้ออกแบบสร้างเครื่องบดหยาบมะระขี้นกที่มีโครงสร้างเป็น      สแตนเลส SUS 304 เหมาะสำหรับผลิตอาหาร ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 3 แรงม้า ควบคุมความเร็วด้วยอินเวอร์เตอร์หัวบดใช้หลักการเหวี่ยงตีด้วยใบบด จำนวน 24 ใบ สามารถบดหยาบสมุนไพรได้หลายชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร มะระขี้นก ขมิ้นชัน ฯลฯ ในอัตรา 50 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง

ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ใช้นวัตกรรมเครื่องประดิษฐ์ในโครงการนี้

 

เครื่องบรรจุแคปซูล

สมุนไพรไทยมีคุณภาพดี มีสารสำคัญที่สามารถสกัดเป็นยาสมุนไพรที่มีมูลค่าสูง แต่ขาดเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรขั้นสูง วิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปสมุนไพรต้องการเครื่องจักรมาช่วยเพิ่มปริมาณการผลิต วิทยาลัยเทคนิคนครนายก สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 และผู้เชี่ยวชาญจึงได้ระดมแนวคิดออกแบบสร้างนวัตกรรมเครื่องบรรจุแคปซูล เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการผลิต จากเดิมที่ใช้แรงงานทำได้ 2,400 เม็ด ต่อวัน ให้ได้เป็น 3,000 เม็ด ต่อชั่วโมง

โครงสร้างเครื่องบรรจุแคปซูล เป็นสแตนเลส SUS 304 เหมาะสำหรับผลิตอาหาร ส่วนประกอบมี 2 ชุด คือ ชุดเขย่าแคปซูล และชุดกดประกอบแคปซูล เครื่องจักรประมวลผลด้วยบอร์ด Arduino สามารถปรับความเร็วได้ตามความเหมาะสม มีความปลอดภัยสูง และทำงานได้แม่นยำ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์นี้ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนสูงขึ้น 25% จากเดิมที่ขายสมุนไพรบดละเอียด กิโลกรัมละ 250-600 บาท  เมื่อสมุนไพรมาบรรจุแคปซูลขาย กิโลกรัมละ 2,200 เม็ด ได้ในราคา 1,100-2,200 บาท

เครื่องบดหยาบมะระขี้นก ผลงานของวิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี

 

เครื่องอบลมร้อน ด้วยพลังงานไฮบริด

วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ลำไย ตำบลวังท่าช้าง มีผลผลิตลำไยสดประมาณ 4 พันตัน ต่อปี จึงต้องการแปรรูปลำไยสดเป็นลำไยอบแห้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า แต่เครื่องอบแห้งลำไยที่ใช้อยู่ถ่ายเทความร้อนไม่ครอบคลุม อุณหภูมิไม่สม่ำเสมอ ไม่สามารถควบคุมเวลาได้ ทำให้ลำไยเกิดความเสียหาย

ทีมงานนักวิจัยจาก 3 วิทยาลัยเทคนิค
เครื่องหั่นฟ้าทะลายโจร ผลงานของวิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว
เครื่องบรรจุแคปซูล ผลงานของวิทยาลัยเทคนิคนครนายก

วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี จึงได้ออกแบบสร้างเครื่องอบลมร้อนมีโครงสร้างเป็น สแตนเลส SUS 304 เหมาะสำหรับผลิตอาหาร ชุดหัวไฟพ่นแก๊ส เป็นแบบหัวเดียวทำด้วยสแตนเลส กำลังงาน 3,000 BTU โซลินอยด์วาล์ว ทำหน้าที่ควบคุมการตัดต่อแก๊สโดยอัตโนมัติ เครื่องอบลมร้อนสามารถอบลำไยได้ครั้งละ 20 ถาด รวม 40 กิโลกรัม ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า จากเดิมลำไยสดขายได้กิโลกรัมละ 5-35 บาท เมื่อแปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง ขายได้กิโลกรัมละ 250-350 บาท และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้เพิ่มเติม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของชุมชน สร้างรายได้ที่มั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ของชุมชนไปพร้อมๆ กัน


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354