เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ หวั่น “ขบวนการลักลอบนำเข้าหมู” ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วประเทศ

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อสุกรไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัว ต่อวัน โดยปี 2564 มีการนำเข้าซากสุกรที่เชือดแล้วจากพื้นที่อื่นของประเทศ ประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัม ต่อเดือน แต่ปรากฏว่าเดือนมกราคมปีนี้ มีซากสุกรที่เชือดแล้วเข้ามาในพื้นที่มากถึง 8 ล้านกิโลกรัม     ส่งผลกระทบต่อยอดขายสุกรมีชีวิตในฟาร์มเริ่มออกช้าลงประมาณ 30-50% เกษตรกรต้องเลี้ยงสุกรต่อไปทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว

“พบว่าเมื่อ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีร้านจำหน่ายปลีกหมูของโบรกเกอร์รายหนึ่ง โฆษณาขายเนื้อหมูส่วนสะโพกราคากิโลกรัมละ 150 บาท หัวไหล่ 135 บาท เมื่อตรวจที่บรรจุภัณฑ์กลับพบว่าผลิตเมื่อปี 2020 เท่ากับเป็นหมูตกค้าง จึงเกรงว่าจะมีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือที่ร้ายที่สุดคือเป็นหมูจากประเทศที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงได้” นายสุนทราภรณ์ กล่าว

ขณะที่ นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมจัดสัมมนาสัญจรใน 10 จังหวัด ทั้งอีสานเหนือและอีสานใต้ เพื่อให้เกษตรกรที่กำลังจะกลับมาเลี้ยงใหม่ได้รู้วิธีการเลี้ยงอย่างถูกวิธี หากภาครัฐยังปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย ไม่มีแหล่งที่มา และอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมสุกรไทย

ด้าน นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวเสริมว่า จากการตรวจสอบพบว่าเนื้อสุกรที่ลักลอบนำเข้าในช่วงนี้ มีราคาที่ต่ำกว่าราคาเนื้อสุกรไทยมาก แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลกแพงพอๆ กัน ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยที่ยังแพง  ดังนั้น เนื้อสุกรที่ลักลอบหรือที่ตลาดเรียก “หมูกล่อง” มีราคาเสนอขายต่ำมากนั้น มั่นใจว่าเป็นสุกรติดเชื้อ  ASF ทั้งหมด


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354