ทุเรียนสาลิกา ราชาทุเรียนบ้านภาคใต้

จังหวัดพังงา ขับเคลื่อนการพัฒนา “ทุเรียนสาลิกา ราชาทุเรียนบ้านภาคใต้” ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2565

นายประคอง อุสาห์มัน เกษตรจังหวัดพังงา

นายประคอง อุสาห์มัน เกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหน่วยงานในระดับภูมิภาค ภายใต้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาการเกษตร เศรษฐกิจ และสังคมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งมีเรื่องราวแหล่งกำเนิดสินค้า (Story) ที่ทำให้สินค้ามีความแตกต่างจากสินค้าที่ผลิตจากแหล่งอื่นๆ มีความโดดเด่น มีศักยภาพ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างมูลค่า สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิต สามารถพัฒนายกระดับผลผลิตเพื่อเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานหรือขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI : Geographical Indications) ได้ต่อไป

นางสาววิไลวรรณ สีนา หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า จังหวัดพังงาได้คัดเลือกทุเรียนสาลิกา มาขับเคลื่อนภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2565 โดยทุเรียนสาลิกา ถือเป็นไม้ผลอัตลักษณ์ของจังหวัดพังงา ที่มีต้นกำเนิดในพื้นที่อำเภอกะปง จังหวัดพังงา และได้มีการขยายพันธุ์จนมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทุเรียนสาลิกาของแท้ดั้งเดิมนั้น จะมีลักษณะผลค่อนข้างกลม เปลือกบาง เมล็ดลีบ รสชาติหวานมัน เนื้อสีเหลือง เนื้อหนาละเอียด มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญบริเวณกลางแกนผลมีสนิมสีแดงทุกผล จนได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ภายใต้ชื่อ “ทุเรียนสาลิกาพังงา” จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อปี พ.ศ. 2561

 จังหวัดพังงา ขับเคลื่อนการพัฒนา “ทุเรียนสาลิกา ราชาทุเรียนบ้านภาคใต้” ผ่านการสนับสนันกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2565 ดังนี้

Advertisement
ทุเรียนสาลิกา
  1. กิจกรรมจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์พื้นถิ่น ดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอกะปง และสำนักงานเกษตรอำเภอตะกั่วป่า เพื่อพัฒนาความรู้และเพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตทุเรียนสาลิกาให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันทางการตลาดได้ โดยการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องเทคนิคการทำดอกทุเรียน การจัดการสวนทุเรียน โดยเฉพาะการตัดแต่งกิ่งทุเรียน ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอกะปงและอำเภอตะกั่วป่า จำนวน 50 ราย
  2. กิจกรรมจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตไม้ผลที่มีอัตลักษณ์ที่ได้มาตรฐาน ดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอกะปง ได้คัดเลือกแปลงทุเรียนของนายฐิติกร เอี๋ยวสกุล (สวนเย็นจิตกะปง) ในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา เพื่อจัดทำเป็นแปลงเรียนรู้ระบบการให้ปุ๋ยอัตโนมัติ โดยใช้วิธีการจ่ายปุ๋ยไปกับระบบน้ำ และสามารถควบคุมการทำงานเปิด-ปิดระบบด้วยสมาร์ทโฟน ช่วยให้เกษตรกรลดแรงงานในการใส่ปุ๋ย สามารถให้ปุ๋ยและน้ำได้ในเวลาเดียวกัน ประหยัดเวลา และทำให้เกษตรกรดูแลสวนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  3. กิจกรรมพัฒนาสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์สู่กระบวนการรับรองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และตรวจสอบย้อนกลับได้ ดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา โดยสนับสนุนการดำเนินงานตรวจรับรองแปลงของเกษตรกรที่ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้า “ทุเรียนสาลิกาพังงา” ทั้งกรณีขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ครั้งแรก และกรณีขอต่ออายุใช้ตราสัญลักษณ์ GI รวมทั้งสิ้น เกษตรกร 20 ราย พื้นที่ปลูก 21 แปลง ในพื้นที่อำเภอกะปง รวมทั้งจัดทำป้ายห้อยขั้วผลทุเรียน ที่ระบุข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิต เป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้ เพื่อสนับสนุนให้กับเกษตรกรที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสินค้า GI ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานไม้ผลระดับอำเภอ เพื่อนำไปถ่ายทอดและสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนายกระดับมังคุด ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดพังงา ภายใต้ชื่อ “มังคุดทิพย์พังงา” ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์เข้าสู่การรับรองสินค้า GI โดยมีขอบเขตพื้นที่การขอรับรองครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดพังงา ต่อไป
  4. กิจกรรมประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ไทย ดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา โดยจัดงานตัดทุเรียนสาลิกาลูกแรกของภาคใต้ ประจำปี 2565 (Harvesting of the First ‘Salika’ Durian in the South, 2022) ณ สวนเย็นจิตกะปง หมู่ที่ 4 ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นแปลงเรียนรู้การผลิตไม้ผลที่มีอัตลักษณ์ที่ได้มาตรฐาน ประจำปี 2565 ของจังหวัดพังงา พร้อมทั้งจัดทำวีดิทัศน์ชมสวนทุเรียนสาลิกาพังงา ณ สวนเย็นจิตกะปง หมู่ที่ 4 ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา และสวนลุงอำนวย หมู่ที่ 3 ตำบลกะปง อำเภอกะปง จังหวัดพังงา เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ 2 ช่องทาง คือ เพจเฟสบุ๊ค เนสตี้ สไปร์ทซี่ และ ยูทูปช่อง Nesty Spicy Channel เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการบริโภคสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ “ทุเรียนสาลิกาพังงา”
  5. กิจกรรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลไม้อัตลักษณ์ ดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา โดยจัดทำกล่องบรรจุภัณฑ์ทุเรียนหูหิ้วอเนกประสงค์ สนับสนุนให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า อำเภอคุระบุรี อำเภอท้ายเหมือง และอำเภอตะกั่วทุ่ง เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ช่วยให้การเก็บรักษาผลผลิตมีคุณภาพดี สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้า รวมทั้งเพิ่มมูลค่ามากยิ่งขึ้น
  6. กิจกรรมพัฒนาจุดรวบรวมและการจัดชั้นคุณภาพไม้ผลอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรอำเภอตะกั่วป่า โดยคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนบ้านเชิงปราง หมู่ที่ 1 ตำบลตำตัว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงาในการพัฒนาจุดรวบรวมและการจัดชั้นคุณภาพทุเรียนและไม้ผลชนิดอื่นๆ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในแหล่งผลิตสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์ในพื้นที่ เพื่อรวบรวมและคัดคุณภาพผลผลิตของสมาชิกในการจำหน่ายออกนอกแหล่งผลิต โดยสนับสนุนลังใส่ผลไม้พลาสติกและเข่งกลมมีหูจับให้กับวิสาหกิจชุมชนดังกล่าว  นับเป็นผลสำเร็จในการขับเคลื่อนการพัฒนาทุเรียนสาลิกา ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2565 ซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรกรของจังหวัดพังงา มีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น จากการจำหน่ายไม้ผลอัตลักษณ์ สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาช่องทางการตลาด เกิดการพัฒนาความรู้และศักยภาพในการพัฒนาสินค้าไม้ผลตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาที่เหมาะสม ให้มีคุณภาพมาตรฐาน สามารถแข่งขันทางการตลาดได้ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นสู่ผู้บริโภค ให้มีความรู้ความเข้าใจถึงถิ่นกำเนิด เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการรับรองสินค้า GI ภายใต้ชื่อ “ทุเรียนสาลิกาพังงา”

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354

Advertisement