“เทสโก้” ถอยทัพ “ค้าส่ง” เดินหน้าลุย “ค้าปลีก” เต็มรูปแบบ

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นและให้ความสนใจกับข่าวที่ยักษ์อีคอมเมิร์ซอเมซอนเสนอซื้อกิจการเชนซูเปอร์มาร์เก็ตโฮลฟู้ดของสหรัฐอยู่นั้นเชนค้าปลีกอื่นๆในฝั่งยุโรปไม่ว่าจะเป็น “เทสโก้” หรือ “คาร์ฟูร์” ต่างมีความเคลื่อนไหวคึกคักไม่แพ้กัน อาทิ การปิดบริการค้าส่งในประเทศไทยของเทสโก้ หรือการเปลี่ยนตัวซีอีโอของคาร์ฟูร์ เพื่อโฟกัสด้านอีคอมเมิร์ซที่ยังตามหลังคู่แข่ง เป็นต้น

โดย สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า “เทสโก้” เชนค้าปลีกสัญชาติอังกฤษตัดสินใจยุติบริการค้าส่งในประเทศไทยอย่างเงียบ ๆ ส่งผลให้รายได้รวมจากต่างประเทศในไตรมาสแรกของปีงบฯ 2560 (มี.ค.-พ.ค. 2560) ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในเรื่องนี้ “เดฟ ลูอิส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทสโก้ให้เหตุผลว่า ธุรกิจค้าส่งของบริษัทในไทยซึ่งมีรายได้หลักจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ให้กับผู้ค้าปลีกรายย่อยนั้นแม้จะมีสัดส่วน2.7ของรายได้ต่างประเทศแต่ไม่มีโอกาสทำกำไรอีกแล้ว ในทางตรงข้ามกลับเพิ่มความซับซ้อนให้กับธุรกิจค้าปลีกที่เป็นรายได้หลักและเติบโตต่อเนื่อง จึงตัดสินใจถอนตัวเพื่อโฟกัสทรัพยากรไปให้ภาคค้าปลีกได้เต็มที่ แม้ผลของการตัดสินใจนี้จะทำให้รายได้รวมจากต่างประเทศลดลง3%ก็ตาม

อย่างไรก็ตามในภาพรวมบริษัทไตรมาสแรกของปีงบฯ2560 ยอดขายรายไตรมาสของเทสโก้เติบโตสูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์ยกเครดิตให้แผนปรับโครงสร้างและกลยุทธ์ปรับขึ้นราคาสินค้าอาหารช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. ที่สามารถบาลานซ์ระหว่างเรื่องราคาถูกและรายได้ของซัพพลายเออร์

โดยในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่นๆในอังกฤษขึ้นราคาอาหารถึง2.9%ตามสภาวะเงินเฟ้อ แต่เทสโก้กลับขึ้นราคาเฉลี่ยเพียง 1.4% พร้อมลดราคาสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพอย่าง ผัก ผลไม้ และอื่น ๆ รวมกว่า 200 รายการ เพื่อรับเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง อาศัยความร่วมมือใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์เพื่อคุมต้นทุน ช่วยให้สามารถชิงดีมานด์จากคู่แข่ง พร้อมกับสร้างรายได้เสริมจากการขายสินค้าที่เหลือให้กับโรงงานแปรรูปอาหารในราคาถูก แทนการกำจัดทิ้งแบบเดิม

เช่นเดียวกับสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ปรับกลยุทธ์ลดกิจกรรมระยะสั้นในหมวดสินค้าทั่วไป และลดโปรโมชั่นสำหรับของใช้ในบ้านลง หันมาเน้นสไตล์ราคาถูกทุกวัน และชูความคุ้มค่าของการขายสินค้าแพ็กใหญ่แทน

ด้วยกลยุทธ์นี้ส่งผลให้ในอังกฤษ ไตรมาสแรกปริมาณยอดขายอาหารเติบโตขึ้น 1.6% และโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เช่นเดียวกับยอดขายรวมของทั้งบริษัท ซึ่งเติบโต 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบฯที่แล้ว

“ในอดีตบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษมักอาศัยจังหวะเงินเฟ้อขึ้นราคาสินค้าเพื่อเพิ่มรายได้แบบรวดเร็วแต่ด้วยการแข่งขันที่สูงหลังดิสเคานต์สโตร์รายใหญ่จากยุโรปอย่างลินและอัลดิเข้ามาในตลาดทำให้ไม่สามารถใช้กลยุทธ์แบบนี้ได้อีก”

ด้าน “คาร์ฟูร์” เชนไฮเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติฝรั่งเศส พยายามพัฒนากลยุทธ์ออมนิแชนเนลเพื่อรับมือกระแสอีคอมเมิร์ซ โดยดึง “อเล็กซานดรี บอมพาร์ด” มือดีจาก “ฟาแนค ดาร์ตี้” (Fnac Darty) หนึ่งในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซยอดนิยมของแดนน้ำหอมด้วยยอดผู้ชมใกล้เคียงกับอเมซอน มานั่งตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ในวันที่ 18 ก.ค.ที่จะถึงนี้ หวังสร้างการเติบโตให้กับยอดขายออนไลน์ที่ปัจจุบันมีมูลค่า 1,340 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 9% ของตลาดรวม และอยู่ในอันดับ 3

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2543 คาร์ฟูร์พยายามเสริมแกร่งด้านอีคอมเมิร์ซด้วยการเดินหน้าซื้อกิจการค้าปลีกรายย่อยกว่า 50 ครั้งในหลายกลุ่ม ทั้งอาหารออร์แกนิก เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลซ และอื่น ๆ

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงการแข่งขันในสมรภูมิค้าปลีกยุโรปที่ดุเดือดขึ้น ไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ ของโลก ด้วยแรงบีบจากทั้งคู่แข่งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งรุกตลาดด้วยกลยุทธ์ราคาและความสะดวกของอีคอมเมิร์ซ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์