สวทช. ผนึกพันธมิตรยกระดับคุณภาพ-มาตรฐานการปลูกพืชสมุนไพร

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “การยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม: ด้านพืช สมุนไพร” ร่วมกับ 3 จังหวัดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม รวมทั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับการปลูกพืชสมุนไพร นำร่องขิง ไพล ฟ้าทะลายโจร พร้อมเชื่อมโยงบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และบริษัท กุยลิ้มฮึ้ง จำกัด รับซื้อผลผลิตคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการตลาด เปิดช่องทางการตลาดใหม่ สร้างเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากให้ยั่งยืนโดยใช้ฐานทรัพยากรในพื้นที่

ต้นพันธุ์สมุนไพรที่ผ่านเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จาก สวทช.

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยมีสมุนไพรกว่า 10,000 ชนิด โดยร้อยละ 15.5 ของชนิดสมุนไพร นำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยก่อนสถานการณ์โควิดมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยขยายตัวถึง 5.2 หมื่นล้านบาท สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาได้ดำเนินงานด้านสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร ทั้งการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ การพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและระบบไบโอรีแอคเตอร์ (Bioreactor) สำหรับผลิตต้นพันธุ์สมุนไพรปลอดโรค การใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่นแปรรูปสมุนไพร การจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ ตลอดจนการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย

เมล็ดพันธ์ุฟ้าทะลายโจร พันธุ์ RBR ราชบุรี

“โครงการนี้มีขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชสมุนไพรให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้จะนำร่องกับพืชสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ขิง ไพล และฟ้าทะลายโจร โดยเบื้องต้นมีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ให้ความสนใจนำร่องผลิตพืชสมุนไพรจำนวน 497 ราย” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

โครงการการยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม: ด้านพืชสมุนไพร” เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และบริษัท กุ้ยลิ้มฮึ้ง จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เกษตรกร สร้างศักยภาพการผลิตพืช สมุนไพรให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปพืช สมุนไพรเพิ่มมูลค่าโดยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงตลาดรับซื้อสมุนไพร และเพิ่มช่องทางการตลาดในการรับซื้อสมุนไพร ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตพืช สมุนไพร และมีช่องทางการตลาดรับซื้อที่แน่นอน โดยมีพื้นที่ดำเนินงานในจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด มีพืชสมุนไพรนำร่อง ได้แก่ ขิง ไพลและฟ้าทะลายโจร

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354