“มะพร้าวน้ำหอมต้นเตี้ย” พืชเศรษฐกิจ เติมชีวิตหลังเกษียณอย่างยั่งยืน

มะพร้าว ทุ่งโป่ง

“ใจคิดอยากปลูกมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ตนเอง เพราะให้ผลตอบแทนระยะยาว ไม่เหมือนการปลูกอ้อยปลูกมัน ที่ต้องปรับพื้นที่กันตลอดทุกรอบการปลูก” นี่คือความคิดของ พันโทวิรัตน์ วงศ์สถิตย์ ประธานกลุ่มมะพร้าวน้ำหอม ตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ที่ตัดสินใจจะใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณอายุราชการทหารในการเป็นเกษตรกรเต็มตัว และเล็งเห็นว่า ตลาดกลุ่มผู้บริโภคในจังหวัดขอนแก่น มีความต้องการมะพร้าวน้ำหอมค่อนข้างมาก ซึ่งในพื้นที่เกษตรกรไม่นิยมทำสวนมะพร้าวกันนัก ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจังหวัดใกล้เคียงมาขายในพื้นที่ การปลูกมะพร้าวน้ำหอม จึงน่าจะตอบโจทย์อาชีพหลังเกษียณราชการซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ในอนาคต

พันโทวิรัตน์ วงศ์สถิตย์

พันโทวิรัตน์ เล่าถึงอดีตว่า เดิมทีชาวบ้านที่ทุ่งโป่งก็นิยมปลูกมะพร้าวไว้ตามหัวไร่ ปลายนา ส่วนใหญ่ต้นสูง หรือบางต้นยอดด้วน ไม่มีผลผลิต และดินมีสภาพแย่มาก เพราะสมัยก่อนปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง มีการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงอย่างหนักหน่วง แต่ในปี 2561 สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ด้วยความที่สนใจในมะพร้าวน้ำหอมอยู่ก่อนแล้ว จึงได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน เกษตรกร “โครงการปลูกมะพร้าวน้ำหอมต้นเตี้ยเชิงพาณิชย์” ซึ่งปิดทองหลังพระฯ ได้เชื่อมโยงกับ CP ในการนำเกษตรกรอบรม ให้ความรู้ต่างๆ ในการผลิตมะพร้าวน้ำหอม ตั้งแต่วิธีการปลูก การเตรียมดิน วิธีป้องกันโรคและแมลง รวมถึงช่องทางการตลาด และได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มมะพร้าวน้ำหอม ตำบลทุ่งโป่ง” ด้วย

แม้หลายคนจะบอกว่า พันโทวิรัตน์นั้นคิดผิดที่ปลูกมะพร้าว เพราะต้องใช้เวลา นาน 5-6 ปี ถึงจะเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ แต่ด้วยความเอาใจใส่และตั้งใจ บวกกับมีปิดทองหลังพระฯ คอยเป็นพี่เลี้ยงแนะนำวิธีการปลูก ช่วยดูสภาพแวดล้อม รวมไปถึงการจัดหาแหล่งน้ำ ทำให้ระยะเวลาเพียง 20-30 เดือน มะพร้าวน้ำหอม เริ่มมีผลผลิตให้เก็บขายและสร้างรายได้หลักหมื่นบาทต่อเดือน

มะพร้าว ทุ่งโป่ง

แม้พันโทวิรัตน์ จะเริ่มมีรายได้จากการขายมะพร้าวและเริ่มมีความชำนาญในการผลิตมะพร้าวน้ำหอมแล้ว แต่ปิดทองหลังพระฯ ยังคงคอยให้คำปรึกษา และยังช่วยหาตลาดจำหน่ายผลผลิตให้กับกลุ่มมะพร้าวน้ำหอม ตำบลทุ่งโป่งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง มีสมาชิก 89 ราย พื้นที่ปลูก 221 ไร่

มะพร้าว ทุ่งโป่ง

ซึ่งผลจากการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพ สมาชิกได้เรียนรู้การจัดการผลผลิตอย่างมีคุณภาพ ศึกษาการตลาด ให้เกิดความชำนาญ เมื่อผลผลิตของกลุ่มสมาชิกสามารถจำหน่ายได้ จะช่วยลดจุดเสี่ยงการค้าขายที่ขาดทุน รวมกันซื้อ ร่วมช่วยกันขาย มีรายได้ที่ชัดเจน เป็นอีกวิถีหนึ่งที่ปิดทองหลังพระฯ ได้เข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้กับเกษตรได้อย่างยั่งยืน


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354