สศท.1 โชว์ ‘ข้าวเหนียวเขี้ยวงู’ ของดีเมืองเชียงราย

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายในด้านทรัพยากรพันธุกรรมข้าว โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีความแตกต่างไปตามลักษณะของพันธุ์และสภาพพื้นที่ “ข้าวเหนียวเขี้ยวงู” นับเป็นพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์หนึ่งของภาคเหนือและเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงราย โดยศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ได้นำพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู จำนวน 28 สายพันธุ์ มาทำการปลูกศึกษาเพื่อให้ได้สายพันธุ์บริสุทธิ์จนได้สายพันธุ์ “เขี้ยวงู 8974” เป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่มีลักษณะเหมาะสมที่สุดและกรมการข้าวได้รับรองพันธุ์เมื่อปี 2558 ทั้งนี้ ข้าวเหนียวเขี้ยวงูนิยมนํามาทำเป็นข้าวเหนียวมูล สำหรับรับประทานเป็นขนมหวาน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมากจนสร้างชื่อเป็นสินค้าของจังหวัดที่ โดดเด่นอีกชนิดหนึ่ง

ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ทั้งนี้ ข้าวเหนียวเขียวงู เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพดีอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดคลอเลสเตอรอล เมื่อรับประทานเป็นประจำจึงช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ โรคปอด

ภาพรวมของสถานการณ์การผลิตข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงูเชียงราย ปี 2564 (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2564) มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัดรวม 1,853 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 269 ราย จากการลงพื้นที่ของ สศท.1 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต พบว่า มีพื้นที่ปลูกรวม 17 อำเภอ แหล่งปลูกสำคัญ 3 อำเภอแรก ได้แก่ อำเภอเวียงชัย อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอพญาเม็งราย สำหรับคุณสมบัติพิเศษของข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่ไวต่อช่วงแสง เกษตรกรจะปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี โดยปีเพาะปลูก 2564/65 เกษตรกรได้ผลผลิตรวม 741 ตัน คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ยปีละ 400 กิโลกรัม/ไร่

ทั้งนี้ สำหรับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงรายนั้น จังหวัดเชียงรายและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย (GI) โดยมีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เป็นแหล่งเรียนรู้ รวบรวมและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร อาทิ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การแปรรูป และการตลาด

หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิต ต้นทุนและผลตอบแทนของข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย จังหวัดเชียงราย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สศท.1 โทร. 053-121-318-9 หรือ อี-เมล [email protected]


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354