ความสมดุลของโลกเกษตรยุคใหม่

มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน! SUSTAINABILITY EXPO 2022 SX2022 : GOOD BALANCE, BETTER WORLD สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ความสมดุลของโลกเกษตรยุคใหม่” ดำเนินรายการโดย คุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวรายการ 3 มิติ และผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ศ.เกียรติคุณ ดร. ปิยะ ดวงพัตรา อดีตหัวหน้าภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประธานกรรมการมาตรฐานปุ๋ยของ สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม คุณโฮ เรน ฮวา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ดร. นฤมล ศรีสุมะ ที่ปรึกษา Biofuels and Biocatalysts Research Center ภาควิชาพฤกษศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และ คุณธนะชาติ เหล่าศิริพงศ์ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA)

คุณสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตร 150 ล้านไร่ ส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ขณะที่ดินเวียดนาม มีอินทรียวัตถุ 3% ดินญี่ปุ่น มีอินทรียวัตถุ 4% แต่ประเทศไทย ดินมีอินทรียวัตถุต่ำไม่ถึง 1% เนื่องจากไทยมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น มีฝนตกตลอดทั้งปี น้ำฝนชะล้างทำลายหน้าดินทั่วประเทศถึง 78 ล้านไร่ น้ำฝนพัดพาดินตะกอนรวมทั้งแร่ธาตุอาหารลงสู่แม่น้ำลำคลอง เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ แต่ละปีกรมชลประทานต้องใช้งบประมาณขุดลอกตะกอนดินในเขื่อนเกือบ 40,000 ล้านบาท

กรมพัฒนาที่ดิน กำหนดวิสัยทัศน์เป็นองค์การอัจฉริยะทางดิน เพื่อขับเคลื่อนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม 15 ล้านไร่ ภายในปี 2570 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญคือ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินให้เหมาะสมด้วยระบบบริหารจัดการเชิงรุก บริหารจัดการข้อมูลทรัพยากรดิน ส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมตามฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri-Map) ตามโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map)

ปัจจุบัน เกษตรกรไทย ทำนาปลูกข้าวในแหล่งดินที่ไม่เหมาะสมถึง 10 ล้านไร่ มีผลผลิตต่ำไม่ถึง 300 กิโลกรัม ต่อไร่ การใช้ที่ดินของชาวนาไทยยังไม่ตรงกับสมรรถนะของดิน ต้องปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้ถูกต้องตามฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri-Map) กระทรวงเกษตรฯ ต้องการถ่ายทอดข้อมูลเหล่านี้ ให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้วางแผนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดินที่มีอยู่

กรมพัฒนาที่ดิน สำรวจการใช้ที่ดินทั่วประเทศ พบว่า มีที่ดินทำการเกษตร 177 ล้านไร่ แต่มีขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการเพียงแค่ 150 ล้านไร่ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาเกิดจากการ ทำเกษตรในพื้นที่ป่าที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ทำกิน โดบพบการบุกรุกป่าเพื่อปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ภาคอีสานถึง 9 ล้านไร่ ภาคเหนือ 3 ล้านไร่ และภาคกลาง 1 ล้านไร่ พื้นที่ป่าภาคอีสานที่ถูกบุกรุกเพื่อนำมาปลูกพืชพบว่า ในระยะเวลา 7 ปี ดินสูญเสียอินทรียวัตถุมากถึง 80% โอกาสที่จะกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งน้อยมาก

Advertisement

ศ.เกียรติคุณ ดร. ปิยะ ดวงพัตรา อดีตหัวหน้าภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประธานกรรมการมาตรฐานปุ๋ยของ สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่อีสาน มีส่วนทำให้ดินเสื่อมโทรม เนื่องจากมีการจัดการดินที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ มันสำปะหลังมีระยะการเติบโตจนถึงเก็บเกี่ยวมากกว่าพืชไร่ 2-5 เท่า โดยมันสำปะหลังมีระยะการเก็บเกี่ยว 8-12 เดือน มากกว่าข้าวโพด 2 เท่า มากกว่าถั่วเขียว 5 เท่า ในรอบปีเพาะปลูก มีระยะการพักดินแค่ช่วงสั้นๆ การฟื้นฟูสภาพดินจึงมีน้อยกว่าการปลูกพืชอื่น

Advertisement

ปัญหาดินเสื่อมโทรมในไร่มันสำปะหลัง เกิดจากธรรมชาติของมันสำปะหลังเอง หลังปลูกระยะ 3 เดือนแรก มันสำปะหลังเติบโตช้ามาก เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวโพด หากปลูกมันสำปะหลังในเดือนพฤษภาคม ฝนลงหนักๆ ทรงพุ่มต้นมันสำปะหลังแตกไม่ทัน ทำให้เกิดช่องว่าง เมื่อฝนตกลงมา แรงกระแทกของน้ำฝนกัดกร่อนหน้าดิน และมีปัญหาวัชพืชติดตามมา

คุณโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ไทยวา ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และอาหาร ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างยั่งยืน มีการพัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตรในด้านต่างๆ เช่น นวัตกรรมฟาร์มและเทคโนโลยีการเกษตร มีการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมทำเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2573

ดร. นฤมล ศรีสุมะ ที่ปรึกษา Biofuels and Biocatalysts Research Center ภาควิชาพฤกษศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ตามหลักทฤษฎีแล้ว ดินต้องมีอินทรีย์วัตถุในดินอย่างน้อย 5% จึงเรียกว่าดินที่ดี แต่ภาคอีสานมีอินทรีย์วัตถุในดินไม่ถึง 1% เนื่องจากสภาพดินเสื่อมโทรมและมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ต้องฟื้นฟูดินโดยเติมอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

การสูญเสียหน้าดินและดินขาดอินทรียวัตถุ ส่งผลให้ดินอัดตัวแน่น รากพืชไม่สามารถชอนไชหาอาหารหรือปุ๋ยได้อย่างเต็มที่ อินทรียวัตถุ เกิดจากซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ และปุ๋ยหมัก หากดินมีอินทรียวัตถุเพียงพอ จะเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ ช่วยให้ดินร่วนซุยดูดซับธาตุอาหารและปุ๋ยได้มากขึ้นแล้ว ยังซึบซับน้ำฝนลงดินได้ดี ตามหลักทฤษฎีหากมีอินทรียวัตถุ 1% จะเพิ่มการกักเก็บน้ำใต้ดินได้ถึง 190 ลูกบาศก์เมตรบริษัท ไทยวา ให้ความสำคัญกับคู่ค้าที่เป็นกลุ่มเกษตรกรจึงดำเนินโครงการฟื้นฟูดิน โดยพัฒนาสายจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ ช่วยให้ดินร่วนซุย ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

คุณธนะชาติ เหล่าศิริพงศ์ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) กล่าวว่า ฟิล์มคลุมดิน เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถูกใช้แพร่หลายในการเกษตร ช่วงโควิด ยาฆ่าหญ้าปรับราคาขึ้น 3 เท่า เมื่อนำฟิล์มคลุมดิน จะไม่มีแสง หญ้าตายหมด ฟิลม์คลุมดินจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดการใช้ยาฆ่าหญ้าแล้ว ยังช่วยให้ดินมีความชื้นและอุณหภูมิพอเหมาะ ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่รักษ์โลก แต่ส่งเสริมการเติบโตของพืชได้อีกด้วยเพราะฟิล์มคลุมดินช่วยสะท้อนแสงให้โดนใบได้มากขึ้น พืชสามารถเติบโตได้ดีขึ้น และให้ผลผลิตมากขึ้น หลังการทดลองใช้ฟิลม์คลุมดินในไร่มันสำปะหลัง พบว่า มีผลผลิตดีขึ้น 20-30%

บริษัท ไทยวา ได้นำแป้งมันสำปะหลัง และโพลิเมอร์ มาผลิตเป็นถุงพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ เช่น ใช้เป็นฟิลม์คลุมดิน ถุงอนุบาลสำหรับเพาะชำกล้าไม้ ที่สามารถปลูกลงดินได้เลย เพราะถุงเพาะชำสามารถย่อยสลายลงดินได้ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ สามารถกำหนดอายุการย่อยสลายของฟิล์มคลุมดินได้ตั้งแต่ 4-12 เดือน ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ฟิล์มคลุมดินเริ่มใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตเมล่อน มะเขือเทศ บวบ สับปะรด ส่วนมันสำปะหลัง ทดลองใช้แล้วได้ผลดี ไทยวาเตรียมประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวไร่มันสำปะหลังต่อไป

เดือนกันยายนที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมสินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) สินค้าแปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลังแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าสินค้ามันสำปะหลังอย่างยั่งยืน

…………………

#SX2022 #GoodBalance #BetterWorld #BetterMe #BetterLiving #BetterCommunity

#SustainabilityExpo #SustainabilityExpo2022 #Sustainability #พอเพียงยั่งยืนเพื่อโลก

#FrasersProperty #GC #SCG #ThaiBev #ThaiUnion

………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354