ม.มหิดล ประดิษฐ์นวัตกรรม “เครื่องดูดยุงชนิดโค้ง” ฝีมือคนไทย

นายธีรวิทย์ ผ่านภูวงษ์ นักวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนวัตกรผู้คิดค้นและพัฒนา “เครื่องดูดยุงชนิดโค้ง” ร่วมกับ ดร.รวีวรรณ ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับสิทธิบัตรแล้ว ดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ผู้พยายามเอาชนะอุปสรรคในการควบคุมและกำจัด “ยุง” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการเกิดโรคเขตร้อนต่างๆ ของโลก

หนึ่งในวิธีการป้องกันโรคคือ การใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงเพื่อลดความเสี่ยงจากยุงกัด ซึ่งต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพก่อนวางจำหน่าย แต่ปัญหาสำคัญที่มักพบในการทดสอบผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงคือ ข้อจำกัดในการดูดยุงออกจากที่แคบ หลังจากทดสอบผลิตภัณฑ์แล้ว

“เครื่องดูดยุงชนิดโค้ง” ที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นนี้ ประกอบด้วย “ตัวเครื่อง” ที่ทำจากท่อพีวีซีชนิดหนา แต่มีน้ำหนักเบาและ “ท่อดูด” ที่ทำจากอะคริลิกชนิดใส โดยได้ออกแบบให้เป็นรูปทรงกระสวยที่มีส่วนปลายโค้งงอ ด้วยวัสดุต้นทุนต่ำภายในประเทศ เพื่อให้สามารถดูดยุงได้แม้ในที่แคบ รวมทั้งตัดปัญหาเรื่องการดูดขน เกล็ดปีกยุง และสารกำจัดแมลงเข้าสู่ร่างกาย

แม้ปัจจุบัน “เครื่องดูดยุงชนิดโค้ง” จะมีการใช้ประโยชน์เพียงเพื่อการบริการทดสอบผลิตภัณฑ์การศึกษาวิจัยทางกีฏวิทยาการแพทย์ ในการประเมินประสิทธิภาพสารกำจัดแมลงของภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น แต่ในอนาคตจะได้มีการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านต่อไป