หนุ่มออฟฟิศทำฟาร์ม “ชินชิลล่า” ขายออนไลน์ สร้างรายได้เสริม

คุณกฤติพงษ์ วงศ์พานิช หรือ คุณแทน วัย 35 ปี เจ้าของฟาร์ม “ชินชิล่า Chinchilla By Rodentstuff” ในพื้นที่ ถนนติวานนท์ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พนักงานหนุ่มออฟฟิศ ที่นำความชอบจากการเลี้ยงชินชิลล่า เมื่อครั้งเรียนอยู่ ก่อนจะมาเป็นสร้างธุรกิจเล็กๆ จากงานประจำ ด้วยการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ชินชิลล่าแบบครบวงจร ขายผ่านช่องทางออนไลน์ จนสามารถสร้างรายได้เสริมตลอดทั้งปี

คุณกฤติพงษ์ วงศ์พานิช หรือ คุณแทน

คุณแทน เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ชินชิลล่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 11 ปีที่แล้ว ในขณะนั้นที่คุณแทนเรียนอยู่ จึงหาสัตว์มาเลี้ยงเพื่อคลายความเหงา ก่อนจะมาสะดุดตากับเจ้าชินชิลล่า สัตว์เลี้ยงขนนิ่มปุกปุย สุดน่ารัก เมื่อคุณแทนเรียนจบแล้วจึงนำชินชิลล่าตัวดังกล่าวกลับมาเลี้ยงต่อ ก่อนจะมองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจเล็กๆ จากการเพาะพันธุ์ชินชิลล่าขายผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นเวลากว่า 4 ปี ที่คุณแทนได้เรียนรู้ ศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

“การทำฟาร์มชินชิลล่าของผมเริ่มต้นขึ้นจากการเลี้ยงก่อนครับ ตอนนั้นผมเรียนอยู่ครับ จึงเลี้ยงชินชิลล่าไว้ หลังจากนั้นเรียนจบ ผมก็นำเขากลับมาด้วย เพื่อนๆ ที่ไปมาหาสู่กันมาเจอ จึงเกิดไอเดียขึ้นว่าคนยังไม่ค่อยรู้จัก จึงเป็นที่มาของการเพาะพันธุ์ชินชิลล่า ก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนมาทำเป็นฟาร์มครับ”

ตัวอ้วน ขนนิ่มปุกปุย

ชินชิลล่าจะแบ่งการผสมพันธุ์ออกเป็น 3 ฤดูกาล ผู้เลี้ยงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ เนื่องจากการผสมพันธุ์ของชินชิลล่าทั้ง 3 ฤดูกาล ไม่ได้เป็นตัวการันตีได้ว่าจะตั้งท้อง ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องหมั่นสังเกตบริเวณอวัยวะของตัวเมียว่ามีน้ำอสุจิของเพศผู้หรือไม่ หากมีนำอสุจิของผู้ในอวัยวะของตัวเมีย ตัวเมียก็จะทำการขับน้ำอสุจิออกมา ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับกระเพาะปลา ในด้านระยะเวลาการตั้งท้องของชินชิลล่าจะอยู่ที่ 111 วัน ให้ลูกครั้งละ 1-6 ตัว แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะให้ลูกอยู่ที่ 2 ตัว

“การผสมพันธุ์ชินชิลล่าจะไม่เหมือนพวกสุนัขและแมว ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ เขาจะมีฤดูกาลการผสมพันธุ์ของเขาเป็นช่วงๆ ของแต่ละปี เท่าที่สังเกตใน 1 ปี เขาจะแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล แต่เขาจะผสมติดกันฤดูไหนนั้น เราจะตอบไม่ได้ เราจะรู้อีกทีก็ต่อเมื่อเขาตั้งท้องเลย”

อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยง

คำถามยอดฮิตที่มักเจอถามมาตลอด คงหนีไม่พ้นคำถามที่ถามว่า “เลี้ยงยากไหม” คุณแทนบอกว่า การเลี้ยงชินชิลล่านั้น “ไม่ยากและไม่ง่าย” เพราะจะมีเรื่องที่ต้องระมัดระวังอยู่ 2 เรื่อง ซึ่งคุณแทนจะใช้คำว่า “กฎ 2 อ.” ดังนี้

  1. เรื่องอาหาร ก่อนอื่นผู้เลี้ยงต้องทำความเข้าใจว่าชินชิลล่าจะสามารถกินได้เฉพาะอาหารแห้ง ห้ามกินของสดทุกชนิดเด็ดขาด หากกินเข้าไปจะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร จนท้องอืด และเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา เนื่องด้วยระบบการย่อยอาหารของชินชิลล่านั้น จะทำงานไม่เหมือนสัตว์จำพวกกระต่ายหรือหนูแก๊สบี้

ซึ่งอาหารที่ควรมีสำหรับการเลี้ยงชินชิลล่า จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1.1 หญ้า ทิมโมธี อัลฟาฟ่า และออชาต เป็นหญ้าสำหรับเลี้ยงชินชิลล่าโดยเฉพาะ ทางฟาร์มของคุณแทนจะแนะนำให้ผสมกับหญ้าที่เหลืออีก 2 ชนิด ในอัตราส่วน 50 : 50 เช่น อัลฟาฟ่า : ทิมโมธี หรือ อัลฟาฟ่า : ออชาต ซึ่งข้อดีของการกินหญ้านั้น จะช่วยให้ชินชิลล่าได้ลับฟันและสร้างไฟเบอร์ ช่วยในเรื่องระบบการย่อยอาหาร รวมถึงได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีนและแคลเซียมอีกด้วย

1.2 อาหารเม็ด ในปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีอาหารเม็ดของชินชิลล่าเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทุกแบรนด์ที่สร้างขึ้นล้วนแล้วทำเพื่อเสริมสร้างโภชนาการที่ชินชิลล่าควรได้รับ เช่น วิตามินต่างๆ ธาตุเหล็ก ไขมัน เป็นต้น การเลือกอาหารเม็ดที่จะให้ชินชิลล่านั้น ควรพิจารณาจาก ความหาง่ายของสินค้า ชินชิลล่ากินอาหารแล้วน้ำหนักควรอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเป็นหลัก ห้ามนำอาหารของกระต่าย แฮมสเตอร์ และแก๊สบี้ มาให้ชินชิลล่ากินเด็ดขาด เพราะอาจจะส่งผลในเรื่องระบบการย่อยอาหารและได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ

  1. เรื่องอากาศ เนื่องด้วยชินชิลล่ามีถิ่นกำเนิดที่โซนยุโรปบริเวณเทือกเขาสูง สภาพอากาศที่อยู่จึงหนาวและมีความชื้นค่อนข้างน้อย ด้วยมีขนที่หนาและมีจำนวนมาก ทำให้การเลี้ยงดูต้องให้ความสำคัญกับอากาศเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องเลี้ยงในห้องแอร์ เพราะหากความเย็นไม่พอ ชินชิลล่าจะไม่สบายตัว อาจเกิดภาวะความร้อนในร่างกายสะสม หรือฮีตสโตรก และอาจจะเสียชีวิตได้
น้ำหนักมาตรฐาน

ในช่วงหน้าร้อนผู้เลี้ยงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอากาศในประเทศไทยนั้นค่อนข้างร้อนชื้น แต่ชินชิลล่าชอบอากาศที่แห้งและเย็นสบาย หากจะพักแอร์ควรพักในช่วงเย็น สามารถใช้พัดลมช่วยเป่าแทนแอร์ได้ ชินชิลล่าจะค่อยๆ ปรับตัวตามสภาพอากาศที่อยู่ได้ ด้วยการทำขนที่หนาให้บางลง จำนวนรูขุมขนก็จะน้อยลงตามไปด้วย ห้ามใช้พัดลมแทนแอร์ทั้งวันเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้

บรรยากาศด้านในฟาร์ม

“หลักๆ เขาจะมีเรื่องที่ซีเรียสอยู่ 2 อย่าง คืออาหารและอากาศครับ ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่อยู่ตามเทือกเขา ทางยุโรป สภาพอากาศที่เขาอยู่จะแห้งและเย็น แต่อากาศบ้านเราจะเป็นแบบร้อนชื้น การที่จะจำลองสภาพอากาศให้เขาเป็นแบบที่เขาอยู่ อย่างแรกเลยจะต้องมีแอร์ ต้องทำสภาพอากาศให้ใกล้เคียงกับสถานที่ที่เขามาครับ”

ลูกค้ามาซื้อถึงที่ฟาร์ม

เมื่อสอบถามราคาในการขาย คุณแทน บอกว่า สีที่หายากจะเป็นตัวกำหนดราคาของชินชิลล่าในการขาย ราคาการขายจะเป็นออกเป็น 2 แบบ คือ

  1. ชินชิลล่าที่เกิดในประเทศ ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 5,000-50,000 บาท
  2. ชินชิลล่าที่นำเข้า ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 7,000-100,000 บาท

ด้านคำแนะนำสำหรับมือใหม่ที่อยากเลี้ยงชินชิลล่าว่า ผู้เลี้ยงควรศึกษารายละเอียดและข้อจำกัดที่เกี่ยวกับการเลี้ยงชินชิลล่า โดยเฉพาะในเรื่อง “กฎ 2 อ.” คือ เรื่องอาหารและอากาศ

สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อ คุณกฤติพงษ์ วงศ์พานิช หรือ คุณแทน ได้ที่ ถนนติวานนท์ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี หรือ ทางเพจเฟซบุ๊ก “ชินชิลล่า Chinchilla By Rodentstuff” และทางเบอร์โทรศัพท์ 094-287-8944