6 กระทรวงบูรณาการเกษตร จับตา ศก.โลกครึ่งหลังปี’60-61 ฟื้น

รายงานจาก สศก.คาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปีนี้ทุกสาขาสินค้าไปในทิศทางสดใส การผลิตขยายตัว ร้อยละ 2.5-3.5 ด้วยภสาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรยังคงเป็นโจทย์ท้าทายภาครัฐว่า นอกจากจะอัดทุกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรแล้วต้องมีแผนงานอื่นๆ รองรับความเสี่ยงของเกษตรกร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยถึงแผนงานเชิงรุกจาก นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ดังนี้

ภาพรวมทั้งปีเป็นบวก โต 3%

นางสาวจริยา กล่าวว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2560 ขยายตัวอยู่ในช่วง ร้อยละ 2.5-3.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทุกสาขาการผลิตไม่ว่าจะเป็นพืช ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ และบริการทางการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่อยากเห็นคือเกษตรกรนั้นมีศักยภาพมากขึ้น โดยปีนี้เน้น 2 เรื่องใหญ่ คือ ยกระดับองค์ความรู้การผลิตการตลาดครบวงจร และเกษตรกรได้รับโอกาสการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและเงินทุนทางการเกษตรมากขึ้น ทั้งพื้นที่ที่ถูกพัฒนาอยู่ในระบบชลประทาน การจัดการฟาร์มการรวมกลุ่ม ตามนโยบายยกกระดาษ A4 เน้นบูรณาการ 13 เรื่องเชื่อมโยง

สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ระบบแปลงใหญ่ จะเห็นได้ว่าในจำนวน 5.9 ล้านครัวเรือน ล้วนเป็นเกษตรกรรายย่อย 70% เพราะฉะนั้นการที่จะให้ทุกรายเข้าถึงแหล่งเงินทุน เกษตรกรต้องรวมกลุ่มไปขอสินเชื่อ ตามเงื่อนไขให้ไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01%

โดย สศก.ได้ประเมินผลการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ลงในรายละเอียดว่า หากรายย่อยเข้ารับการอบรมตามศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ เรียกว่าสัมฤทธิผล เพราะขณะเดียวกันการยกระดับสหกรณ์ไปสู่การพัฒนาสินค้า GAP ออร์แกนิกอินทรีย์ โดยในแต่ละจังหวัดจะมีทั้งรัฐและเอกชนทำ Business Matching ทำตลาดประชารัฐร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะตอนนี้มี 2,138 แปลง เกษตรกร 2.3 แสนคน พื้นที่ 3.10 ล้านไร่ ในจำนวน 40-50 ชนิดสินค้า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าว ดังนั้น เกษตรแปลงใหญ่นับเป็นต้นทางยกระดับเกษตรสมัยใหม่สู่ 4.0 เพราะฉะนั้น เราจะเอาตัวช่วยกลไกทั้งหมดมาผนวกกัน “ยิ่งมีแปลงใหญ่มากเท่าไร ยิ่งเข้าใกล้ 4.0 เรียกว่าเป็น Smart Farmer” นั่นคือแนวทาง แม้บางพื้นที่อาจจะยังไม่เป็นที่สนใจนัก รัฐเองต้องมีผู้นำสู่ชุมชนเพื่อทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน เราประเมินมาตลอดว่าเกษตรกรมีรายได้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง สศก.เองมีการประเมินทุกไตรมาสและสรุปทุกปี “ในปีที่ผ่านมาเกษตรกรมีรายได้ที่เข้าแปลงใหญ่ได้มากกว่าไม่เข้าแปลงใหญ่ 4,900 ล้านบาท”

ครึ่งหลัง ปี’60-61 ศก.โลกเริ่มฟื้น

ปีนี้หากดูผลผลิตที่จะออกมามากกว่า ปี’58-59 ปัจจัยบวกด้านผลผลิต แสดงว่ารายได้ต้องเพิ่มแน่นอน ครึ่งปีหลังนี้หากมองจากทิศทางเศรษฐกิจโลก 2560-2561-2562 ทิศทางเริ่มเป็นบวกเริ่มฟื้นตัว เราจะเห็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมที่สำคัญ อาทิ G7 G20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการสินค้าเกษตรจะเพิ่มมากขึ้นเพราะประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารก็เพิ่มตาม รวมถึงผู้บริโภคมีความต้องการด้านอาหารที่หลากหลาย ปลอดภัย ออร์แกนิก เพราะคนอายุยืนขึ้น ดังจะเห็นแนวโน้มสินค้าแปรรูปเป็นบวก จากที่เคยเจอภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ปี 2008 ระยะหลังนี้จะเป็นบวกขึ้น ทั้งนี้ยังต้องจับตาความเสี่ยงนโยบายการเมือง ความมั่นคงภัยคุกคามของบางประเทศ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันสินค้าเกษตรของไทย

ผลักดัน NSW สู่ตลาด

นางสาวจริยา ฉายภาพให้เห็นว่า ในแง่ของการยกระดับมาตรฐานสินค้า เราได้รับการรับรองมาตรฐาน มกษ.มากขึ้น และเป็นสินค้า GAP ออร์แกนิกไทยแลนด์ตอบสนองการบริโภค โดยเฉพาะแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ที่ตั้งเป้าพื้นที่ปลูกสินค้าอินทรีย์ 6 แสนไร่ ตอนนี้ก็ 3 แสนไร่แล้ว อย่างไรก็ดี รัฐได้มองภาพใหญ่ผนวกภาคเอกชน โดยผลักดันในเรื่องการอำนวยความสะดวก เช่น นโยบาย NSW (National Single Window) ระบบอำนวยความสะดวกการส่งออกและนำเข้าที่ลดขั้นตอนอนุญาต อนุมัติ ขอส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตร โดยให้กรมศุลกากรเป็นแม่งานหลัก ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาระบบสากล โดยคณะกรรมการนโยบายระบบโลจิสติกส์แห่งชาติ ซึ่งชุดนี้มีคณะทำงาน NSW ศุลกากรไทยเชื่อมโยงระบบศุลกากรของโลก เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า เพราะเรามองแล้วว่าในเมื่อไทยเราอยู่ในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบนี้ จากเมื่อก่อนเอกชนจะเสียเวลาไปยื่นที่ด่าน ระบบนี้จะควบรวมเป็นอิเล็กทรอนิกส์ที่เดียว สำหรับกระทรวงเกษตรฯ มี 5 กรม ที่อยู่ในคณะทำงานเบ็ดเสร็จ 30 กรม ประกอบด้วย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กระประมง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เรามองภาพทั้งหมดว่าจะทำให้เศรษฐกิจการเกษตรตรงนี้จะคล่องตัวและง่ายต่อกภาคธุรกิจเพื่อลดปัญหาการส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ หรือระบบที่ล่าช้าต่างๆ เมื่อมองเห็นโอกาสเส้นทางส่งออกใหม่ ค้าขายแดน นั่นจะส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรไทยด้วย

บูรณาการเชิงรุกร่วม 6 กระทรวง

ภายในแผนปี’60-61 นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับแผนบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตรร่วมกัน 6 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ มหาดไทย วิทยาศาสตร์ฯ สาธารณสุข และสำนักนายกรัฐมนตรี วงเงิน 9,698.07 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในสินค้าข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย สับปะรด ไม้ผล ยางพารา ปศุสัตว์ วงเงิน 4,973.96 ล้านบาท แยกเป็นการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตหรือต้นทาง วงเงิน 4,231.6416 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น การสร้างศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 7 ศูนย์ ผลิตและกระจายเมล็ดข้าว 82,100 ตัน ผลิตพันธุ์พืชคุณภาพดี 10 ชนิด ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงานเกษตร ด้านพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ดำเนินการ ตรวจมาตรฐานแปลงข้าว 5,000 แปลง ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าประมง 32,500 ฟาร์ม เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคสัตว์น้ำ 135,000 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้าปศุสัตว์ 332,880 ตัวอย่าง ตรวจประเมินสถานประกอบการปศุสัตว์ 43,350 แห่ง ตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช 109,300 ฟาร์ม รวมถึงการพัฒนากระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร หรือกลางทาง วงเงิน 246.5323 ล้านบาท เช่น มูลค่าสินค้าข้าว สนับสนุนยุ้งฉาง ลานตาก เครื่องสีข้าว พัฒนาศักยภาพด้านการประกอบธุรกิจข้าวให้เกษตรกรการพัฒนาศักยภาพกระบวนการตลาดสินค้าเกษตรหรือปลายทาง วงเงิน 495.81 ล้านบาท เช่น พัฒนาตลาดเกษตรกรสนับสนุนสหกรณ์ในการจัดตั้งตลาดกลางเกษตรกร จัดตลาดกลางสินค้าเกษตรในระดับพื้นที่ Mini อ.ต.ก. เป็นต้น

ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่สู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วงเงิน 3,266.91 ล้านบาท เช่น ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 3,980 แปลง ปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map 418,500 ไร่ พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการพัฒนาระบบเกษตรกรรม

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ